เราสู้คู่แข่งไม่ได้

15 ก.พ. 2567 | 03:44 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2567 | 04:36 น.

พอเห็นอัตราการขยายทางตัวเศรษฐกิจ (GDP) ต่ำกว่าเพื่อน การส่งออกลดลง ผลผลิตเกษตรตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง สินค้าอุตสาหกรรมในประเทศสู้สินค้านำเข้าไม่ได้ และอื่น ๆ เราก็มักจะโทษสารพัดเรื่องที่เป็นสาเหตุทำให้ผลผลิต

หรือสินค้าของเราแข่งกับชาวบ้านไม่ได้ โทษแต่ดิน ฟ้า อากาศ พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนไป น้ำมันแพง ปุ๋ยแพง วัตถุดิบแพงขึ้น เศรษฐกิจโลกตกต่ำ สงครามและการเมืองระหว่างประเทศ และอื่น ๆ สารพันเรื่อง ทั้ง ๆ ที่สาเหตุสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ ก็คือ เราสู้คู่แข่งไม่ได้   

ตัวอย่างการส่งออกของเราที่ไม่ค่อยดีนักในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่าสาเหตุหนึ่งก็คือเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว จากสงคราม ดอกเบี้ยสูง น้ำมันแพง หรืออื่น ๆ ซึ่งทั้งโลกรวมถึงคู่แข่งเราก็เจอปัญหานี้เหมือนกัน  ดังนั้น เราต้องเอาใจใส่กับปัจจัยที่เกี่ยวกับตัวเราเองครับ ปัจจัยที่เราทำอะไรได้ด้วยตัวเราเอง และผมว่าปัจจัยที่สำคัญเหล่านี้แหละครับที่ทำให้เราแข่งกับชาวบ้านไม่ได้ 

ถ้าวิเคราะห์ง่าย ๆ ปัจจัยภายในที่ทำให้เราส่งออกได้น้อยลงนั้น อาจมีหลายสาเหตุ คืออาจมาจากเราไม่สามารถผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่โลกต้องการได้ ซึ่งมักเป็นสินค้าที่มีความเข้มข้นของนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่ นอกจากนี้ เรายังพึ่งพิงการส่งออกในรายการสินค้าเดิม ๆ แถมยังมีมูลค่าต่อหน่วยลดลงไปอีกด้วย

จะเห็นได้ว่ารายการสินค้าที่เราส่งออกเมื่อ 20 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน มากกว่าครึ่งยังเป็นรายการสินค้าเดิม ๆ เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์เบื้องต้น ฯลฯ และถ้ามองให้ลึกลงไปจะพบว่าส่วนมากยังคงเป็นของต่างชาติ และกระจุกตัวอยู่ในไม่กี่บริษัทใหญ่ ๆ อีกด้วย

นอกจากนี้ เรายังมีปัญหาต้นทุนการผลิตสูงกว่าชาวบ้าน และยิ่งในภาคเกษตร เราจะพบว่าความสามารถในการผลิตของเราเพิ่มขึ้นมาตลอด เพียงแต่เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และช้ากว่าคู่แข่งสำคัญอยู่มาก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็รู้ว่ามาจากสาเหตุสำคัญ อาทิ การทำเกษตรแปลงเล็กเกินไป การรวมกลุ่มไม่ครบตลอดห่วงโซ่ ต้นทุนปัจจัยการผลิตสูง การผลิตไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีคุณภาพ หรือไม่เป็นไปตามมาตรฐาน การใช้นวัตกรรมในอัตราต่ำ การจัดการที่ดินทำกินไม่ชัดเจน ฯลฯ  เรารู้ปัญหาดี และรู้ว่าจะต้องทำอะไร แต่เราก็มักทำแบบเดิม และตั้งความหวังรอว่าปัจจัยภายนอกจะกลับมาดีอีกครั้ง .... ผมว่า

ถึงเวลาที่เราต้องหันกลับมามองตัวเอง แล้วพัฒนาขีดความสามารถของเราอย่างจริงจัง เพียงแค่หยุดหันไปมองรอบด้านและโทษสารพัดรอบตัวแบบที่ผ่านมา แต่กลับมาดูตัวเองเพื่อสร้างสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้นและเติมเต็มในสิ่งที่ขาดให้ครบ นั่นแหละครับที่เราเรียกว่า การพัฒนาผลิตภาพการผลิต หรือ Productivity

Productivity ถ้าแปลง่ายๆ ก็หมายถึง การทำ สร้าง หรือผลิต อะไรสักอย่างหนึ่ง โดยใช้ต้นทุนที่ถูกลง ใช้วัตถุดิบที่น้อยลง ใช้เวลาลดลง มีของเสียลดลง หรือการใช้วัตถุดิบเท่าเดิม เวลาเท่าเดิม แรงงานเท่าเดิม แต่ได้ผลผลิตที่มากขึ้น ดีขึ้น .... อันนี้แปลตามความหมายแคบนะครับ

แต่ถ้ามองกว้างขึ้นในเชิงนโยบายมหภาคแล้ว เจ้าตัวนี้คือตัวกำหนดขอบเขตของความสามารถหรือศักยภาพของระบบเศรษฐกิจ องค์กร หน่วยงาน หรือบุคคล ดังนั้น ถ้าเราต้องการเก่งกว่าเดิม ดีกว่าเดิม ทำงานได้มากกว่าเดิม และเร็วกว่าเดิม เราก็ต้องขยายขอบเขตของศักยภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Potential) ของเราให้สูงขึ้น นั่นก็คือเราก็ต้องทำให้ productivity ของเราสูงกว่าเดิม โดยกิจกรรมนั้น ต้องมองทั้งเรื่องภายในองค์กร ภายนอกองค์กร รวมทั้งปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาเรื่องนั้นๆ 

เรื่องภายในองค์กร เราต้องดูตั้งแต่กระบวนการบริหาร Business model ความสามารถของบุคลากร ความทันสมัยและเหมาะสมของเทคโนโลยีที่ใช้ในการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และการให้บริการ แม้แต่เรื่องระเบียบ และการบริหารจัดการทุกอย่างในองค์กร ตั้งแต่การจัดการโลจิสติกส์ภายในการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) มาใช้ในกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพ รวมทั้ง การเคลื่อนไหวของตัวสินค้าและข้อมูลข่าวสาร 

ส่วนเรื่องภายนอกจะเป็นเรื่องของ Ecosystem ที่จะช่วยทำให้องค์กร หน่วยงาน ธุรกิจ ในระบบเศรษฐกิจนั้น สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยพัฒนา สนับสนุน ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนในด้านการเงิน เวลา และบุคลากรโดยใช่เหตุ หากถอดเรื่องนี้ออกมาเป็นเรื่องนโยบายแล้ว ก็จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับ โครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ระบบกฎหมาย กฎกติกา ซึ่งบางอย่างล่าช้าและการบริการภาครัฐที่ไม่จำเป็นหรือไม่มีประสิทธิภาพบางอย่าง ก็ทำให้เกิดต้นทุนต่อภาคเอกชนโดยไม่จำเป็น 

ซึ่งเราก็พยายามทำ Regulatory Guillotine มานานแล้ว แต่ก็ไปอย่างช้า ๆ เหลือเกิน และที่แก้ไขไปแล้วส่วนมากก็แก้เพื่อให้หน่วยงานกำกับทำงานง่าย แทนที่จะจะเป็นการอำนวยความสะดวกหรือลดภาระผู้ประกอบการหรือประชาชน 

ส่วนเรื่องการเติมเต็มสิ่งที่ขาด และยกระดับคุณภาพของปัจจัยเสริมก็จำเป็นอย่างยิ่ง อาทิ การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน การกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงาน ระบบการศึกษาของสถาบันการศึกษาที่ดี การมีหน่วยวิจัยที่ช่วยพัฒนานวัตกรรม และสนับสนุนการพัฒนาภาคเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถ การสร้างจิตสำนึกและสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชน เพราะการเพิ่มผลิตภาพทำแทนกันไม่ได้ครับ และอื่นๆ อีกค่อนข้างเยอะครับโดยเฉพาะเรื่องของ Big Data ที่จะช่วยให้ ภาคเอกชนนั้นสามารถได้ข้อมูลครบถ้วน ในการตัดสินใจทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ... 

ทั้งหมดนี้ ในการพัฒนา Productivity ตามระบบบริหารบ้านเราก็จะเกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง

หลายหน่วยงานมาก ดังนั้น ผมก็ยังเชื่อว่าจำเป็นต้องมีเจ้าภาพครับ เพราะการพัฒนา productivity ของประเทศนั้น จำเป็นต้องมีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาก็ทำกันกระจัดกระจายยังไม่เคยมีการมัดรวมกันให้เห็นภาพใหญ่ทั้งหมดของประเทศ เนื่องจากหลายเรื่องต้องทำพร้อมๆ กันและทำทั้งหมด และยังสอดคล้อง สนับสนุนกัน ถึงจะมีประสิทธิภาพในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศในภาพรวมได้ 

ส่วนด้านการบริหารนโยบายนั้น เจ้าภาพต้องทำภาพรวมและกำหนดเรื่องที่จะต้องทำทั้งหมดออกมา แล้วส่งต่อไปให้หน่วยงานอื่นๆ เดินต่อตาม function ของเขา และต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง เพราะเรื่องราวเหล่านี้ ไม่ใช่ทำวันสองวัน หรือปีสองปี แต่จะทำอย่างต่อเนื่องหลายๆ ปี อย่างที่คนบอกว่า กรุงโรมที่ยิ่งใหญ่ไม่ได้สร้างในวันเดียว ซึ่งก็เหมือนกันครับ การเจริญเติบโตต่อเนื่องและยั่งยืนนั้น ต้องมาพร้อมๆ กับการสร้างศักยภาพ การเพิ่มประสิทธิภาพ และการพัฒนาขีดความสามารถที่ต่อเนื่องครับ

ผมเชียร์ให้รัฐบาลทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติครับ และมอบหมายให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเป็นเจ้าภาพเป็นผู้ดูแลในภาพรวม แล้วถอดออกมาเป็นแผนปฏิบัติการทั้งหมด จะเป็นกลุ่มแผนงานตามภารกิจหรือสาขาการผลิต เช่น การพัฒนาผลิตภาพการผลิตสาขาอุตสาหกรรม สาขาเกษตร หรือสาขาบริการ หรือจะแยกตามเป้าหมายหลัก อาทิ Productivity for Sustainability 

หรือจะ Green Productivity หรือย่อยลงมานิดนึงก็ไม่ผิดกติกา เช่น Productivities toward Carbon Neutral ซึ่งก็แล้ววิธีการจัดกลุ่มเป้าหมายเพื่อความชัดเจนและความเท่ห์ แต่ที่สำคัญสุดก็คือ เจ้าภาพต้องมีภาพใหญ่ของผลิตภาพการผลิตว่าต้องทำอะไรและวางไว้ให้ครบถ้วน และกำหนดเป้าหมาย พร้อมหน่วยงานรับผิดชอบที่เกี่ยวข้อง และต้องทำตามทิศทางของภาพรวม นอกจากนี้ เจ้าภาพใหญ่ต้องเฝ้าติดตาม และประเมินผลอย่างต่อเนื่องครับ 

ผมเชื่อว่าเรื่องนี้ต้องทำและต้องเริ่มเดี๋ยวนี้ครับ  ไม่เช่นนั้น เราจะได้ยินเสียงบ่นไม่หยุดว่า GDP เราต่ำกว่าชาวบ้าน การส่งออกชะลอตัว การลงทุนเตี้ยกว่าคู่แข่ง โดยหันไปโทษคนอื่น โทษโชคชะตา และหวังแต่รอขอให้ทุกอย่างกลับมาดีต่อตัวเองดั่งเดิม แต่ไม่สนที่จะพัฒนาตนเอง ทำเรื่องนี้ยาก ตรงที่ใช้เวลานาน กว่าจะเห็นผล แต่ทางออกง่ายมากครับ เพียงแค่ต้องการรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์ และความกล้าหาญทางการเมืองที่จะทำเรื่องระยะยาวเพื่อประเทศและคนในอนาคต แค่นั้นจริง ๆ ครับ