ปีนี้แม้ “ท่าอากาศยานชางงี”ของสิงคโปร์ จะถูก”ท่าอากาศยานนานาชาติ โดฮา ฮาหมัด”ของกาตาร์ แซงหน้า คว้าแชมป์สนามบินที่ดีที่สุดในโลก ปี 2024 จากการจัดอันดับของสกายแทร็กซ์ (Skytrax)ไปครอง แต่เชื่อว่าสนามบินชางงี จะพยายามอย่างเต็มที่ เพื่อกลับมาทวงตำแหน่ง และสนามบินแห่งนี้ไม่เคยหยุดพัฒนา ล่าสุดยังมีแผนลงทุนกว่า 3.36 แสนล้านบาท ในการขยายสนามบินอย่างต่อเนื่อง
สนามบินชางงี (Changi) ได้รับการจัดอันดับจากการสำรวจของ สกายแทร็กซ์ (Skytrax) ให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกปี 2566 World Best Airport 2023 ซึ่งสนามบินแห่งนี้เคยครองสนามบินที่ดีที่สุดในโลกถึง 12 ครั้ง
ทั้งยังเป็นอันดับ 1 สนามบินที่มีบริการด้านอาหารดีที่สุด และอันดับ 1 สนามบินที่มีโรงแรมที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566 โดยโรงแรมคราวน์ พลาซ่า ในสนามบินชางงี ได้รับการโหวตเป็นโรงแรมในสนามบินที่ดีที่สุดในโลกถึง 8 ปีซ้อนอีกด้วย
ปัจจุบันสนามบินชางงี เปิดให้บริการอาคารผู้โดยสาร (Terminal) รวม 4 อาคาร พื้นที่ล้านกว่าตารางเมตร เน้นการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อยกระดับประสบการณ์ของผู้โดยสารให้ได้รับบริการระดับโลก ควบคู่ไปกับการเป็นท่าอากาศยานสีเขียวชั้นนำของโลก โดยมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
จำนวนผู้โดยสารของสนามบินชางงี กลับมาฟื้นตัวกว่า 86 % แล้ว เมื่อเทียบกับปีก่อนเกิดโควิด-19 โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้โดยสาร 58.9 ล้านคน มีเที่ยวบินมีทั้งสิ้น 328,000 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ย 6,700 เที่ยวบิน/สัปดาห์ ผู้โดยสารของสนามบินชางงี จะสัมผัสได้ถึงความทันสมัยในการนำเทคโนโลยีมาให้บริการ และไลฟ์สไตล์การเดินทางท่องเที่ยว ที่ถูกเนรมิตอยู่ในสนามบิน
ผู้โดยสารสามารถผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง โดยสแกนหนังสือเดินทาง (Passport) และสแกนใบหน้า รวมถึงสแกนลายนิ้วมือ ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีระบบ Automation 100% ลดการพึ่งพาคน ลดขั้นตอนการตรวจภายในสนามบินแห่งนี้ใช้เวลาไม่ถึง 45 นาที
นอกจากนี้ภายในสนามบินชางงีถูกออกแบบให้มี “Jewel Changi Airport” ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ภายในสนามบิน เชื่อมต่อกับอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 1–2–3 มีร้านค้า แบรนด์เนมหรู ร้านอาหาร โรงหนัง โซนกิจกรรม และสถานที่พักผ่อนมากมาย
ผู้โดยสารในอาคาร Jewel สามารถเช็กอินล่วงหน้าและโหลดกระเป๋าในศูนย์การค้าแห่งนี้ แล้วเดินช้อปปิ้งได้เลย ไฮไลต์ที่เป็นแลนด์มาร์ค คือ น้ำตก JEWEL RAIN VORTEX ซึ่งเป็นน้ำตก Indoor ที่สูงที่สุดในโลกมีความสูงถึง 40 เมตร
รวมไปถึงพื้นที่เชิงธรรมชาติ Forest Valley อื่นๆ อาทิ เส้นทางรถไฟเชื่อมอาคาร Nature Trail การจัดสวนดอกไม้ Flower Garden การจัดสวนผีเสื้อ Butterfly Garden การจัดสนามหญ้าเด็กเล่นในร่ม (Green Field Playpark and Sky net) ไปจนถึงการผสมผสานนวัตธรรมดิจิทัลทางธรรมชาติ เช่น ฝนเทียม Kinetic Rain ต้นไม้โซเชียล Social Tree และ น้ำตกดิจิทัล Woderfall
ล่าสุดรัฐบาลสิงคโปร์ ได้ประกาศแผนสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 สนามบินชางงี ภายใต้การลงทุนกว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.6 แสนล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีก 50 ล้านคนต่อปี จากปัจจุบันที่สนามบินชางงี มีศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารได้ถึง 90 ล้านคนต่อปี จะเริ่มก่อสร้างในปีหน้า คาดว่าจะเปิดให้บริการกลางปี 2573 นั่นหมายถึงในอีก 6 ปีข้างหน้า สนามบินชางงี จะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 140 ล้านคน
นอกจากนี้ก่อนที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 5 จะเปิดให้บริการ สนามบินชางงี ยังมีแผนการลงทุนพัฒนาท่าอากาศยานชางงี วงเงิน 7.65 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ในช่วง 6 ปีข้างหน้าในอาคารผู้โดยสาร 1- 4 เน้นการปรับปรุงบริการต่างๆ เช่น การจัดการสัมภาระ การเช็คอิน การตรวจคนเข้าเมือง และการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าระหว่างอาคารผู้โดยสาร ตลอดจนเปลี่ยนระบบที่หมดอายุการใช้งานเพื่อให้ผู้โดยสารและสายการบินได้รับประสบการณ์ที่ราบรื่นยิ่งขึ้น
ขณะเดียวกันยังมีแผนลงทุนเพิ่มเติมอีก 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาทิ การฟื้นฟูระบบรถไฟฟ้า รวมถึงระบบสัญญาณและการสื่อสาร นอกจากนี้ยังจะอัพเกรดระบบการจัดการสัมภาระของอาคารผู้โดยสาร 3 และระบบขนส่งสัมภาระระหว่างอาคารผู้โดยสาร 1-3 ใหม่ เพิ่มขีดความสามารถได้ถึง 65%
ทั้งยังจะสร้างระบบขนส่งสัมภาระระหว่างอาคารผู้โดยสารบนดาดฟ้าแห่งใหม่ เชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสาร 1 กับอาคารผู้โดยสาร 3 การเพิ่มแถวเช็คอินที่อาคารผู้โดยสาร 4 เพิ่มตู้เช็คอินแบบบริการตนเองและจุดรับกระเป๋าอัตโนมัติ ทำให้เพิ่มความจุในการเช็คอินของอาคารผู้โดยสารได้ราว 15% รองรับผู้โดยสารได้ถึง 2,500 คนต่อชั่วโมง และขยายโถงตรวจคนเข้าเมืองขาเข้าอาคารผู้โดยสาร 1
อีกทั้งยังเสริมความแข็งแกร่งให้กับโครงสร้างพื้นฐานด้านการบิน ซึ่งปัจจุบันสายการบินต่างๆ ทั่วโลกเตรียมนำเครื่องบินโบอิ้ง B779 ใหม่เข้ามาใช้ในฝูงบินสำหรับการบินภายในปี 2569 เครื่องบิน B779 เป็นเครื่องบิน 2 เครื่องยนต์ที่ยาวที่สุดในโลก มีน้ำหนักบรรทุกล้อมาก แม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานของสนามบินชางงีส่วนใหญ่สามารถรองรับความต้องการในการบินของ B779 ได้ แต่ทางขับเครื่องบินบางส่วนยังจำเป็นต้องได้รับการเสริมกำลังและอัพเกรดแท่นจอดเครื่องบิน
โดยมีแผนจะสร้างแท่นจอดเครื่องบินระยะไกลเพิ่มเติมที่สามารถใช้ได้ทั้งสำหรับเครื่องบินโดยสารและเครื่องบินขนส่งสินค้า ซึ่งจะทำให้จำนวนแท่นจอดเครื่องบินทั้งหมดมีมากกว่า 200 แท่น และการบริการลานจอดเครื่องบิน จะนำระบบอัจฉริยะใหม่มาใช้ เพื่อลดความล่าช้าในการหมุนเวียนเครื่องบิน ทำให้สายการบินสามารถปรับการดำเนินงานให้เหมาะสมด้วยความแม่นยำมากขึ้น
ไม่เพียงแต่การให้บริการผู้โดยสารและสายการบินเท่านั้น สนามบินชางงี ยังให้ความสำคัญกับพนักงาน โดยลงทุนในสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับพนักงานเพิ่มเติม รวมถึงห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าเพื่อบรรเทาความเครียดจากความร้อน
การปรับปรุงที่พักพิงสำหรับพนักงานในสภาพอากาศเลวร้าย และการปรับปรุงห้องรับรองและพื้นที่พักผ่อนของพนักงาน และริเริ่มปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน และสร้างโอกาสในการเพิ่มทักษะให้กับพนักงานภาคพื้นดิน
รวมถึงการทดลองใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการตรวจสอบความปลอดภัยและเพิ่มระบบอัตโนมัติ สำหรับการปฏิบัติการจัดการภาคพื้นดินของท่าอากาศยาน เช่น การนำรถยนต์ไร้คนขับมาใช้บนลานจอดมากขึ้น
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ทำไมสนามบินชางงี จะติดอันดับสนามบินที่ดีที่สุดในโลกมาหลายสมัย และมุ่งมั่นที่จะยกระดับบริการระดับโลกอย่างต่อเนื่อง