เผื่อว่าผมพอจะสนับสนุนอะไรได้บ้างจากประสบการณ์และพลังที่พอมีนิด ๆ ของผม แต่การเดินทางมาจังหวัดน่านกับกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง วุฒิสภา ครั้งนี้น้อง ๆ แนะนำว่าต้องมาที่นี่ เผื่อว่าผมจะช่วยถอดความสำเร็จของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ย ของแพว ผ้าฝ้าย แห่งนี้ให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ ได้เรียนรู้บ้าง และการถอดบทเรียนชุมชนแห่งนี้ที่ผมรับรู้ คือ ไม่ใช่แค่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดีเท่านั้นที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จ
แต่เป็นการ “สร้างกลุ่ม” ที่ร้อย “ใจ” ผู้คนเข้าด้วยกัน ด้วยความหวัง ความฝัน อนาคตของผู้คนในชุมชน ผ่านการทำงานในเชิงธุรกิจของการแบ่งปันที่แฟร์ โปร่งใส และชัดเจน แต่เต็มไปด้วยกลยุทธ์ที่มีพลวัตรตามสภาพธุรกิจและลูกค้า รวมทั้งการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ แต่กว่าจะถึงวันนี้พวกเขาผ่านการล้มลุกคลุกคลานนับครั้งไม่ถ้วนบนหยาดเหงื่อ น้ำตา ของ “แพวและพวก”
เรามาลองดูว่าพวกเขาฝ่าฟันมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
จุดเด่นของ “แพว ผ้าฝ้าย” อยู่ที่การนำเอาเอกลักษณ์ของผ้าทอไทลื้อมาต่อยอดเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยการดีไซน์ การออกแบบที่ร่วมสมัย ภายใต้วิสัยทัศน์ที่เฉียบคมของ “แพว เนตรทิพย์” ที่ทิ้งชีวิตสาวโรงงานในเมืองใหญ่ กลับมาบ้านเกิด จับมือกับผู้ร่วมฝันในชุมชนไทลื้อของอำเภอปัว เพื่อสร้าง “แพว ผ้าฝ้าย”
สิ่งที่ผมเรียนรู้เรื่องราวของ “แพว ผ้าฝ้าย” ผ่านคำเล่าของ “น้องอัน” หรือ ดร. อาทิมา ลือยศ ลูกสาวของพี่แพว ผู้แบกปริญญาเอกด้าน Food Science แต่ทุ่มพลังให้กับมรดกวัฒนธรรมของชุมชนไทลื้อของพี่แพว โดยเข้ามาเพื่อสานต่อลมหายใจของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแม่เฮี้ยให้ดำรงคงอยู่กับชุมชน และนำอัตลักษณ์ไทลื้อแห่งนี้ออกมาให้ผู้คนทั่วไปได้ชื่นชมและดำรงอยู่ในรูปแบบตามกาลสมัยต่อไป
ด้วยพื้นฐานความชำนาญและอัตลักษณ์ของบรรพบุรุษ นำวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มายืน ณ จุดนี้ ในวันนี้ แต่สิ่งที่ผมให้ความสนใจ จนอยากแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาให้กับวิสาหกิจชุมชนอื่น ๆ คือ
การจัดการบริหารองค์กรที่ดี ทั้งที่เป็นส่วนการบริหารสมาชิกที่โปร่งใส ยุติธรรม การผลิตที่มีประสิทธิภาพ ผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองจริตของผู้คนร่วมสมัย รวมทั้งการตลาดที่หลากหลาย มีพลวัตรตามลักษณะของตลาดและลูกค้าที่ไม่หยุดนิ่ง ซึ่งทุกอย่างนี้ผมมองว่าหาได้ไม่ง่ายในวิสาหกิจชุมชนที่จะมีครบและดีพร้อม ๆ กันในที่เดียว ผมลองถอดความคิดเห็นผมเป็นข้อ ๆ ตามนี้นะครับ
- การจัดการกระบวนผลิตที่มีประสิทธิภาพ โดยแบ่งเป็นฝ่าย ๆ ในทุกกิจกรรมของกระบวนการผลิต ตั้งแต่การออกแบบที่พี่แพวเป็นคนดูแลเอง การตัดแบบ การตัดผ้า การขึ้นทรง การตัดเย็บ การทอลาย ซึ่งทุกขั้นตอนการผลิตมีการแบ่งงานการทำ (Division of Labor) อย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ติดตามงานได้ง่าย นอกจากนี้ การแบ่งงานกันทำจะช่วยให้เกิดสร้างและฝึกความชำนาญให้กับบุคลากรในด้านนั้น ๆ ได้ดี และยังมีการจัดวางรูปภาพของผลิตภัณฑ์ให้คนผลิตแต่ละส่วนเห็นภาพรวม เพื่อให้แต่ละคนรับรู้ว่างานของเขาที่กำลังทำอยู่นั้นต้องออกมาแบบไหน และอยู่ส่วนไหนของงานทั้งชุดที่ลูกค้าต้องการ
- การควบคุมคุณภาพมีทุกขั้นตอนและฝังไว้ในกระบวนการผลิตอัตโนมัติ โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในแต่ละขั้นตอน เพราะทุกครั้งที่ผลิตภัณฑ์จากขั้นตอนหนึ่งในไลน์การผลิตถูกส่งไปขั้นตอนต่อไปก็จะถูกตรวจสอบโดยผู้ผลิตในขั้นตอนที่รับมาเพื่อผลิตต่อโดยอัตโนมัติ เพราะในทุกขั้นตอนจะมีรูปภาพผลิตภัณฑ์สุดท้าย ทำให้รับรู้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ตนเองรับมาต้องมีรูปแบบอย่างไร จำนวนเท่าไร และตนเองจะต้องเพิ่มอะไรต่อ หากของที่รับมาไม่ถูก ไม่ดี ตรงตามรูปแบบที่ควรจะเป็น จะทำตนเองทำต่อให้ดีตามมาตรฐานได้ยาก ส่งผลทำให้การบริหารไลน์การผลิตมีประสิทธิภาพทั้งคุณภาพ เวลาและปริมาณ
- การสร้างอัตลักษณ์ที่ชัดเจนให้กับผลงานทุกชิ้น โดยใช้ “ลายผ้าหลบไทลื้อ” หรือผ้าปูที่นอนของชาวไทลื้อซึ่งมีสี ลาย ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ที่รับรู้กันแล้ว เด่นชัด ง่ายต่อความสนใจของลูกค้า และที่สำคัญพี่แพวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากผ้าม่าน ปลอกหมอน มาจนปัจจุบันเป็นออกแบบเสื้อผ้าตามสมัยนิยมและแฟชั่น ไม่ใช่ผ้าทอทั้งผืน แต่จะใช้ผ้าทอลายไทลื้อวางเป็นส่วนประกอบของชุดเสื้อผ้า หรือผลิตภัณฑ์ ตามแฟชั่นทันสมัย แต่มีความโดดเด่นของอัตลักษณ์ ที่ใครเห็นก็รู้ว่าเป็นผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่เป็นฝีมือของชุมชนไทลื้อ
- การมองย้อนกลับแบบของห่วงโซ่อุปทาน Reverted Supply Chain โดยจะมองจากความต้องการของลูกค้าเป็นจุดเริ่มต้น ผ่านการพูดคุยกับลูกค้า การสอบถาม การทดสอบตลาด จนแน่ใจว่าผลิตภัณฑ์แบบไหนที่ตลาดต้องการ จึงนำมาออกแบบ และวางแผนการผลิต เรียกว่าเป็น “Demand Driven” จริง ๆ โดยในแต่ละขั้นตอนของการผลิตก็ตรวจสอบกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง จนสามารถปรับสู่ Customization อย่างสมบูรณ์แบบ
ที่วันนี้ “แพว ผ้าทอ” สามารถทำเป็นแบบ Made to order ได้ สร้างมูลค่าสูงกว่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอของวิสาหกิจอื่น ๆ ที่ผมเคยเห็นซึ่งมักเริ่มจากการดูว่าผลิตภัณฑ์ชุมชน หรืออัตลักษณ์ของตนเองเด่นอะไร แล้วจินตนาการดูว่าอะไรน่าจะนำเสนอแบบเพื่อแสดงความเป็นตนเองให้ออกมามากที่สุดตามรูปแบบที่ตนเองคิดว่าใช่ พยายามสร้างเรื่องราวมากมาย แถมยังคิดว่าลูกค้าต้องชอบ แต่สำหรับผม วิธีนี้โอกาสประสบความสำเร็จน้อย และที่สำคัญก็คือประสิทธิภาพที่เกิดจากการออกแบบ สร้าง Pattern ก่อน แล้วส่งไปทอลาย ทำให้เศษผ้าแทบไม่เหลือ ส่งผลต่อการลดต้นทุนการผลิตได้มาก
- รูปแบบการจัดสรรผลประโยชน์มีประสิทธิภาพและผูกกับความสำเร็จขององค์กรและผลงาน ทำให้ทุกคนมีแรงจูงใจและใช้ศักยภาพเต็มที่ ซึ่งวิสาหกิจนี้จะจัดสรรผลตอบแทนให้กับผู้ผลิตตามจำนวนผลงานที่ตนเองทำ และผู้บริหารจะได้รับผลตอบแทนตามเวลาและหน้าที่ที่ทำงาน ผู้ถือหุ้นได้รับการจัดสรรผลตอบแทนประจำปีจากกำไรที่แบ่งออกเป็นส่วน ๆ เช่น แบ่งกำไรตามหุ้น และค่าตอบแทนให้กับผู้บริหารตามหน้าที่ เวลา และความรับผิดชอบ และส่วนหนึ่งจัดสรรเพื่อสาธารณประโยชน์ให้กับชุมชน แต่ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับวิสาหกิจอื่น ๆ ได้ดีก็คือ การแบ่งผลกำไรส่วนหนึ่งไว้เป็นเงินทุนสำหรับการพัฒนาของกลุ่มตัวเอง
- ความผูกพันและเป็นเนื้อเดียวกับวิถีชีวิตชุมชน ไม่ใช่แค่เพียงสร้างแบรนด์ “แพว ผ้าฝ้าย” ให้เป็นที่ยอมรับจากตลาด พี่แพวยังชักชวนพี่ ๆ ป้า ๆ อุ้ยๆ ผู้ที่สะสมความรู้ ความชำนาญ และความรู้การทอผ้าแบบไทลื้อที่บรรพชนได้ถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น รวมตัวกันเป็นกลุ่มทอผ้าบ้านเฮี้ย ให้เป็นวิสาหกิจชุมชนทอผ้าแม่เฮี้ย เพื่อให้การทำงานมีระบบและเป็นรูปแบบธุรกิจมากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อให้ธุรกิจนี้ฝังตัวเข้าเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน และไม่ไปกระทบวิถีชีวิตของชุมชนจากเดิมมาก บางส่วนพี่แพวใช้วิธีการส่งงานไปให้ทอตามบ้านตามแต่ละคนจะสะดวก และนอกจากนี้รูปแบบการแบ่งผลประโยชน์ยังจัดสรรกำไรส่วนหนึ่งเพื่อสาธารณประโยชน์และการกุศลในพื้นที่
- สร้างช่องทางในการติดตามการเปลี่ยนแปลงการตลาดที่ครบ หลากหลาย โดย “น้องอัน” ก็เผยแพร่ช่องทางติดต่อกับลูกค้าผ่านโซเซียลมีเดียทุกรูปแบบ ตั้งแต่ TiKtok, Facebook, Line, You Tube และอื่น ๆ เพื่อเข้าถึงลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ช่องทางการออกตลาดอื่น ๆ เป็นช่องทางในการหาข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงความต้องการของลูกค้า และมีการเก็บข้อมูลเพื่อนำมาพัฒนา ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์ของวิสาหกิจ เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงสภาพธุรกิจและพฤติกรรมของลูกค้า
ความประทับใจที่ผมได้รับจากการมาเยือนครั้งนี้ จากการพูดคุยกับพี่แพวและผู้คนในชุมชน ทำให้ผมทราบถึงความสำคัญของ “แพว ผ้าฝ้าย” ที่สร้างแบรนด์จนเป็นที่รู้จักในวงกว้างและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นหัวจักรเศรษฐกิจชุมชน โดยเชื่อมกับวิสาหกิจชุมชนจนเป็นเนื้อเดียวกัน ผ่านการทำงานอย่างมีระบบทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ
และวันนี้ “แพว ผ้าฝ้าย” ยังเดินต่อและปรับเปลี่ยนตามกระแสสายธารของการเปลี่ยนแปลงรอบด้าน แม้งานจะหนักหนาและท้าทาย แต่เมื่อผมดูจากรอยยิ้ม คำพูด และสายตาที่มุ่งมั่นของพี่แพว น้องอัน ผู้ที่จะรับช่วงต่อ รวมทั้งแม่สมพร ผู้บุกเบิกรุ่นที่สามของวิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านเฮี้ย และบรรดาเพื่อนพ้องแล้ว
ผมรู้ซึ้งแก่ใจครับว่า ผ้าทุกผืน ฝ้ายทุกเส้น เหงื่อทุกหยด และแรงใจทุกวินาที คือ ความภาคภูมิใจของพวกเขาที่ได้ทำหน้าที่เป็นลมหายใจของเศรษฐกิจและความยั่งยืนของวัฒนธรรมไทลื้อแห่งนี้