โลกาภิวัตน์ : ฤ จะแค่คำลวง?

08 ก.ย. 2567 | 23:59 น.

ตั้งแต่โควิดระบาดสงครามทางการค้าที่ลามไปจนถึงสงครามเทคโนโลยีระหว่างขั้วสหรัฐอเมริกากับจีนที่ปะทุและเริ่มรุนแรงมากขึ้นมาตามลำดับ เรียกว่าเปิดหน้าชนกันทุกรูปแบบมาตรการกีดกันทางการค้าถูกงัดออกมาใช้อย่างต่อเนื่องทั้งในและนอกตำรา

แถมบ่อยครั้งก็ชกใต้เข็มขัดกัน เรียกว่าข้ามหัว WTO ไปแล้ว จนเป็นความเสี่ยงที่น่ากลัวที่สุดของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลกหลังโควิด และที่เห็นตอนนี้ดูทีท่าแล้วจะหนักกว่าเดิมขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ของสหรัฐอเมริกาใช้มาตรการกีดกันทางการค้ากับจีนแบบสุดลิ่มมากขึ้น 

ตั้งแต่การขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) จากจีน ภาษีเหล็กและอื่น ๆ เพื่อสร้างผลงานปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ โดยให้เหตุผลการปกป้องความมั่นคงของชาติ (มาตรา 232) มาเป็นข้ออ้าง

นอกจากนี้ ยังเดินหน้าชักชวนแกมบังคับให้สหภาพยุโรป และหลายประเทศ อาทิ แคนาดา ฯลฯ ตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์ เหล็ก และอื่น ๆ จากประเทศจีน รวมทั้งกีดกันไม่ให้ประเทศพันธมิตรของตนเองทำสังฆกรรมใด ๆ กับประเทศจีน เช่น ห้ามเนเธอร์แลนด์ขายเครื่องจักรที่ใช้ผลิตชิปอิเล็กทรอนิกส์ให้กับจีนหรือไต้หวัน และญี่ปุ่น ก็จับมือกันเพื่อจำกัดการส่งออกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับจีน

รวมถึงการห้ามการทำวิจัยร่วมกับจีนของบริษัทและสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ ก็ด้วยเหตุผลเดียวก็คือ ป้องกันไม่ให้จีนกลายเป็นคู่แข่งที่มีกำลังทางเศรษฐกิจและอิทธิพลด้านอื่น ๆ เข้าใกล้ตัวเองมากกว่านี้ 

หากเรามองลงลึกอีกหน่อย เราก็พอมองเห็นว่าสหรัฐอเมริกาก็ใช่ว่าจะรักพันธมิตรของตนเองเหมือนปากว่า เพราะในปี 2564 สหรัฐฯ ก็ใช้มาตรา 232 กับสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมจากสหภาพยุโรปเหมือนกัน ก่อนที่จะเจรจายกเลิกกันไปเป็นการชั่วคราวในปี 2565 - 2566 เฉพาะส่วนที่อยู่ในโควตาที่กำหนด

แต่ส่วนที่เกินกว่าที่กำหนดก็โดนมาตรา 232 เหมือนเดิม และสินค้าประเภทนี้ในรายการอื่น ๆ อีก 54 รายการ เช่น พวกเหล็กแท่งกลม เหล็กไร้รอยต่อ และอลูมิเนียมทั้งขึ้นรูปและไม่ขึ้นรูปก็ยังเจออัตราภาษีนำเข้าที่สูงอยู่ ซึ่งสหรัฐฯ ยืนยันว่าต้องตั้งกำแพงภาษีสูงจากสหภาพยุโรปเพราะป้องกันสินค้าเหล่านี้จากจีน ที่ใช้สหภาพยุโรปเป็นทางผ่าน 

และในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็ใช่ย่อย ขึ้นกำแพงภาษีตอบโต้ในหมวดสินค้าใหญ่ ๆ จากสหรัฐอเมริกา อาทิ เครื่องดื่มวิสกี้ รถจักรยานยนต์ ฯลฯ ซึ่งทั้งสองฝ่ายก็ลดและผ่อนปรนกันมาตลอด เนื่องจากต้องรวมหัวจมท้ายกันในเรื่องยูเครน ดังนั้น จะเห็นว่าขนาดพันธมิตรที่แนบแน่นก็ยังทำกันได้ถึงขนาดนี้ เพราะทุกอย่างว่าด้วยผลประโยชน์ของชาติตนเองมาก่อนอื่นใด  
 

ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอย่างไร ทุกประเทศจะออกมาตรการใด ๆ นั้น จะดูเหตุผลหลักคือการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศของตนเป็นสำคัญ ความเหลื่อมล้ำของโลกไม่สามารถแก้ไขด้วยแนวคิด Comparative Advantages หรือความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ ที่บอกว่าใครเก่งอะไร ก็ให้ผลิตสิ่งนั้น แล้วนำมาแลกเปลี่ยนกัน (อย่างเสรี) ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์กันถ้วนหน้าและมากที่สุดที่จะทำได้

ซึ่งก็เป็นที่มาของแนวคิด “โลกาภิวัตน์” และนโยบายของการสร้าง Global value Chain ก็ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจและอุตสาหกรรมของโลกมากว่า 20 ปี และมีองค์การค้าโลก หรือ WTO ที่คอยกำกับดูแลให้แน่ใจว่าการเคลื่อนย้ายสินค้า วัตถุดิบ ทุน และปัจจัยการผลิตอื่น ๆ สามารถเคลื่อนย้ายอย่างเสรีมากที่สุด ตามแนวคิดของโลกาภิวัตน์ที่เราชื่นชมมาโดยตลอด 

ทำให้นึกถึงข้อคิดเห็นของ ศาสตราจารย์ โจเซฟ สติกลิสซ์ (Joseph Stiglitz) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 2001 และศาสตราจารย์ เอริค มัสกิน (Eric Maskin) เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 2007 ที่ได้ศึกษาและค้นพบคล้าย ๆ กันว่า โลกาภิวัฒน์นั้นไม่ได้ทำให้คนเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ก็ไม่ได้มีมากกว่าที่เข้าใจกัน เนื่องจากความแตกต่างของทักษะแรงงาน ความพร้อมของแต่ละประเทศในแต่ละอุตสาหกรรมนั้นแตกต่างกันมาก 

การเคลื่อนย้ายเสรีจะทำให้คนที่มีความได้เปรียบมาก ก็จะได้เปรียบมากยิ่งขึ้น ใครที่มีความได้เปรียบน้อยก็จะยิ่งแย่ลงไปอีก และยิ่งกติกาที่สามารถบิดเบี้ยวได้ตลอดเวลาจากผู้ที่มีความได้เปรียบมากนั้น ก็ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำยิ่งมากขึ้นไปอีก ทั้งในระดับกลุ่มต่าง ๆ ภายในประเทศ และในระดับระหว่างประเทศ และการสำรวจความเห็นของ Stiglitz 

ยืนยันว่าแม้แต่คนในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 90% ไม่คิดว่าตนเองได้ประโยชน์จากโลกาภิวัตน์ แต่ยังแย่ลงกว่าเดิม ทั้งหมดนี้ ทำให้นักการเมืองที่ชีวิตความรุ่งโรจน์ของพวกเขาที่ขึ้นอยู่กับคะแนนเสียงและความนิยมของคนกลุ่มมากของประเทศตน ทำให้แนวคิดของ Deglobalization และ Decoupling ที่แยกการผูกพันทางการค้าออกจากกลุ่มต่าง ๆ ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ 

และพึ่งพิงตนเองให้มาก ซึ่ง Decoupling นี้ก็เหมือนกับการแยกหรือแตกห่วงโซ่อุปทานของโลกให้อยู่ในประเทศตนเองมากขึ้น ดังนั้น การปกป้อง การโยกการลงทุนกลับมาในประเทศ หรือสร้างความสมบูรณ์ของห่วงโซ่การผลิตให้อยู่ในการควบคุมของเราให้มากที่สุดได้กลายเป็นแนวคิดใหม่ และยิ่งการระบาดของโควิดทำให้แนวคิดของ Global Supply Chain ได้รับคำถามและข้อสงสัยมากขึ้น 

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจว่าต่อไปนี้เราจะเห็นนโยบายการปกป้องอุตสาหกรรมของแต่ละประเทศมีมาก และหนักขึ้นกว่าเดิม กติกาของ WTO จะกลายเป็นไม้เรียวที่ขู่ได้เฉพาะเด็กเล็ก เด็กดี แต่สำหรับจิ๊กโก๋ตัวโต ๆ 

คนถือไม้เรียวก็คงได้แค่มองตาขวาง ๆ แบบหวั่น ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งประเทศไทยกำลังเจอปัญหาการกีดกันการส่งออกสินค้าจากประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งแบบโจ่งแจ้ง หรือแบบอ้างกติกา WTO และเราก็เหนียม ๆ ในการใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ ทำให้ธุรกิจในประเทศไทยต่างก็ออกมาเรียกร้องมาตรการจากภาครัฐในการปกป้องพวกเขาจากสินค้าและธุรกิจจากต่างประเทศที่เข้ามาเต็มบ้านเต็มเมือง อย่างที่เห็น ๆ กัน

ในวันนี้ผมก็แอบเชียร์รัฐบาลชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามา แม้จะถูกค่อนแคะต่าง ๆ นา ๆ และถูกตั้งสารพัดฉายา แต่ผมก็ขอให้มีความกล้าหาญในการตัดสินใจ ไม่ต้องยึดกับกติกาโลกาภิวัฒน์ที่ตะวันตกเอาไว้ใช้หลอกเด็กเลยครับ หวังว่าจะระดมคนเก่งและมองให้ทะลุปรุโปร่งในเชิงกลยุทธ์การพัฒนาประเทศโดยเร็ว เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมและธุรกิจในประเทศให้ทันก่อนที่จะหน้ามืดไปมากกว่านี้ ไม่เช่นนั้น เสียงบ่นที่ว่า “กูว่าแล้ว” ก็จะดังมากขึ้นแน่ ๆ ครับ