หลังจากสปป.ลาว เปิดหวูดรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนอย่างเป็นทางการไปตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว เป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาว-จีน ที่จะเชื่อมการเดินทางระหว่างเมืองคุนหมิง ของจีน กับกรุงเวียงจันทน์ของลาว ระยะทางรวม 414 กม. ใช้เงินลงทุนกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหรือราว 2 แสนล้านบาท สามารถร่นเวลาการเดินทางจากกรุงเวียงจันทร์ไปยังเมืองคุนหมิงในเวลาเพียง 10 ชั่วโมงเท่านั้น
แหล่งข่าวในวงการผู้รับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า ความสำเร็จของการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลไทยในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพราะไม่สามารถจะผลักดันการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนให้สำเร็จลุล่วงได้ ขณะนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในเฟสแรก เส้นทางกรุงเทพ-โคราช ระยะทาง 250 กม.กลับมีความคืบหน้าไปเพียง 2.7% เท่านั้น และไม่รู้จะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปีกว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการ
“มีการพูดกันในกลุ่มผู้รับเหมาและที่ปรึกษาว่า หลังจากที่การรถไฟฯ ได้รับมอบขบวนรถไฟบริจาค จากเจอาร์ฮอกไกโดของญี่ปุ่นแล้ว ในอนาคตเราอาจจะได้รับบริจาคขบวนรถไฟลาว-จีนได้อีก หากการพัฒนาระบบขนส่งทางราง และรถไฟฟ้าไทยย่ำอยู่กับที่แบบนี้ และแทบไม่ต้องไปคาดหวังกับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนที่จะเชื่อมต่อไปยังเวียงจันทน์กันเลยว่า จะต้องใช้เวลาอีกกี่สิบปี เอาแค่การประมูลก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่เปิดประมูลมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ผ่านมาจะครบ 2 ปีเข้าไปแล้ววันนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า หลังจากที่ รฟม.สั่งยกเลิกการประมูลโครงการเดิมไปตั้งแต่ต้นปี 64”
ส่วนโครงการรถไฟฟ้า สายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) วงเงินกว่า 78,000 ล้านบาท ที่แม้ รฟม.จะปลดล็อคเดินหน้าจัดประมูลต่อไปได้ โดยยอมกลับมาใช้เกณฑ์ประมูลด้านราคา ( Price Only ) หลังจากมีความพยายามจะใช้เกณฑ์คัดเลือกด้านราคา+บวกเทคนิค ( Price Performance )ตามโครงการรถไฟฟ้า สายสีส้ม แต่เครือข่ายองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย) ที่เป็นผู้ร่วมสังเกตุการณ์ไม่เล่นด้วย ทำให้ต้องกลับมาดำเนินการประมูลตามปกตินั้น
ล่าสุดสะพัดในวงการรับเหมาว่า แม้ รฟม.จะจัดประมูลโดยใช้เกณฑ์ปกติ แต่ก็ยังมีรายการหมกเม็ด กำหนดคุณสมบัติกลุ่มรับเหมาที่จะเข้าประมูล จะต้องมีผลงานก่อสร้างอุโมงค์กับภาครัฐตามที่กำหนด ซึ่งเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์คุณสมบัติดังกล่าว ทำให้มีกลุ่มทุนรับเหมาในประเทศเพียง 3-4 รายในเมืองไทยเท่านั้น ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประมูล ด้วยเหตุนี้ จึงมีข่าวแพร่สะพัดในวงการรับเหมาว่า โครงการสายสีม่วงใต้ที่แยกเนื้องานประมูลออกเป็น 5 สัญญา(4+1) คงจะมีมหกรรมแบ่งเค้กเนื้องานกันไป โดยคาดว่ากลุ่มทุนรับเหมายักษ์ที่ประกอบด้วย บริษัท อิตาเลียนไทย ฯ กลุ่ม ช.การช่าง กลุ่มยูนิค และ STECON จะแบ่งกันไปคนละสัญญา
ส่วนกรณีที่ รมว.คมนาคมระบุว่า การประมูลรถไฟฟ้า สายสีส้ม อาจจะกลับไปใช้เกณฑ์พิจารณาคัดเลือกโดยอาศัยเกณฑ์ราคา Price Only ตามติคณะรัฐมนตรี(ครม.) นั้น แหล่งข่าวในวงการรับเหมา กล่าวว่าเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่า สิ่งที่ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกดำเนินการมาในช่วง 2 ปีทีผ่านมา เป็นการดำเนินการที่ขัดมติ ครม.หรือไม่ และเท่ากับโยนกลองหรือลอบแพ ฝ่ายบริหาร รฟม.และกรรมการคัดเลือก และหากจะให้ของขวัญปีใหม่แก่ประชาชน ทั้งรมว.คมนาคมและนายกฯควรจะได้ลงมาเร่งรัดการดำเนินโครงการนี้ให้สะเด็ดน้ำเสียที
“สิ่งที่ รฟม.และกรรมการคัดเลือกดำเนินการไปก่อนหน้าคืออะไร เป็นการตีความไปเกินขอบเขตมติ ครม.กระนั้นหรือ แล้วอย่างนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความล่าช้าในการดำเนินโครงการไปเป็นปี จนทำให้ประเทศชาติสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ ประชาชนผู้ใช้บริการสูญเสียโอกาสในการใช้บริการและอาจทำให้ รฟม.เองต้องมีภาระรายจ่ายเพิ่มมากขึ้นในการดูแลระบบรถไฟฟ้า ในส่วนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จก่อนคือรถไฟฟ้า สายสีส้ม ส่วนตะวันออก(ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) สิ่งเหล่านี้จะไม่ต่องมีผู้รับผิดชอบใด ๆ เลยหรือไม่”