คงเป็นที่ทราบกันดีว่าในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 จะมีการเปิดใช้รถไฟลาว-จีนอย่างเป็นทางการ หรือเรียกว่า “Boten-Vientiane Railway” จังหวัดของไทยที่น่าจะมีโอกาสทางธุรกิจกับรถไฟลาว-จีนคือ มี 5 จังหวัดคือ 1.อ.เชียงของ จ.เชียงราย บนเส้นทาง R3A ตรงกับสถานีรถไฟบ่อเต็น 2.ด่านห้วยโก๋น จ.น่าน ติดกับด่านเมืองเงิน แขวงไชยบุรีใกล้กับ 2 สถานีคือ อุดมไชยและหลวงพระบาง 3.ด่านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์ ติดกับด่านผาแก้ว แขวงไชยบุรี ใกล้กับสถานีแขวงหลวงพระบาง 4.ด่าน อ.ท่าลี่ จ.เลย ติดกับด่านเมืองเงิน แขวงไชยบุรี ใกล้สถานีหลวงพระบาง และ 5.ด่านหนองคายตรงกับด่านท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์
สรุปเป็นตัวเลข “5+4” ซึ่ง 5 หมายถึง 5 จังหวัดของไทย (เชียงรายน่าน อุตรดิตถ์ เลย หนองคาย) กับ 4 สถานีรถไฟตามแขวงลาว (หลวงนํ้าทาอุดมไชย หลวงพระบาง เวียงจันทน์) แต่ทั้ง 5 จังหวัด ผมคิดว่าหนองคาย “น่าจะมีโอกาสทางการค้าและการลงทุนมากกว่าจังหวัดอื่น” เพราะอยู่ใกล้กับสถานีรถไฟในแขวงเวียงจันทน์มีมากสุด 9 สถานี (ทั้งขนส่งคนและของ) โอกาสของหนองคายมีมากน้อยแค่ไหนขึ้นกับการผลักดันดังต่อไปนี้
ตามสูตร “3+3+1 (3 สร้าง + 3 ศูนย์ + 1 เมกกะฮับ) ประกอบด้วย 1.สร้างเส้นทางรถไฟคำสะหวาด-สถานีนครหลวงเวียงจันทน์ 10 กม. (ขนส่งคน) ปัจจุบันยังไม่มีเส้นทางรถไฟเส้นนี้ นั้นแสดงว่ายังไม่มีรถไฟเชื่อมจากหนองคายไปเชื่อมต่อสถานีรถไฟลาว- จีนโดยตรง แม้ว่าขณะนี้กำลังก่อสร้างโครงการทางรถไฟไทย-ลาวระยะที่ 2 จากสถานีท่านาแล้งไปยังสถานีบ้านคำสะหวาดก็ตาม แต่เป็นเส้นทางรถไฟเพื่อเชื่อมต่อกับเขตเศรษฐกิจพิเศษบึงธาตุหลวง เส้นทางรถไฟนี้ระยะทาง 9 กม. เงินลงทุน 1,650 ล้านบาทตั้งอยู่ที่บ้านคำสวาด เมืองไชยเชษฐานครหลวงเวียงจันทน์ คาดเปิดบริการในต้นปี 2566
ทั้งนี้เพื่อเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟสถานีหนองคาย -ท่านาแล้ง (เป็นเส้นทางรถไฟระหว่างประเทศไทยกับสปป. ลาว ระยะทาง 5.35 กม.อยู่ฝั่งไทย 1.85 กม. อยู่ฝั่งลาว 3.5 กม.) 2. สร้างเส้นทางรถไฟหนองคาย-สถานีเวียงจันทน์ใต้ 4 กม. (ขนส่งสินค้า) โดยเส้นทางมาจากสะพานแห่งใหม่จากหนองคายเพื่อเชื่อมท่าเรือบก (Dry Port) และสถานีเวียงจันทน์ใต้ การมีเส้นทางรถไฟทั้งสองเส้นนี้จะทำให้จังหวัดหนองคายเป็น “จุดเชื่อมต่อ” รถไฟลาว-จีนโดยปริยาย (ในลาวมีทั้งหมด 32 สถานี ขนส่งสินค้า 22 สถานี และรับส่งผู้โดยสาร 10 สถานีมีสถานีหลัก 5 สถานี คือ เวียงจันทน์วังเวียง หลวงพระบาง นาเตย และบ่อเต็น)
เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จ นักธุรกิจหนองคายและจังหวัดใกล้เคียงจะมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากทั้งการค้าและท่องเที่ยว หาก “เชื่อมเร็ว โอกาสหนองคายยิ่งมาก” 3.การสร้างสะพานหนองคาย-ลาวแห่งที่ 2 ปัจจุบันมีสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 1 เชื่อมหนองคายกับท่าเดื่อ (ลาว) ตัวสะพานมีความยาว 1.20 กิโลเมตร กว้าง 15 เมตร มีช่องสำหรับเดินรถ 2 ช่องทาง ซึ่งตรงช่วงกลางสะพานออกแบบไว้สำหรับสร้างทางรถไฟ เมื่อรถไฟลาว-จีนเปิดบริการเต็มที่ ทั้งคนทั้งของ จะมีการขนส่งมากขึ้น จะทำให้เกินศักยภาพของสะพานแห่งนี้ การมีสะพานแห่งที่ 2 จึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน
4.ศูนย์กลางซื้อขายผลไม้อาเซียน หนองคายจะกลายเป็นตลาดซื้อขายผลไม้ที่ใหญ่ของอาเซียนเพราะมี ใกล้ตลาดจีน รวดเร็วและค่าขนส่งถูก (เวลาเดินทางด้วยรถไฟเส้นทางนี้จากเวียงจันทน์ไปคุนหมิงใช้เวลา 8 ชม. (จากเวียงจันทน์ไปบ่อเต็น 4 ชม. และจากบ่อเตนไปคุนหมิงอีก 4 ชม. จากเดิมเดินทางด้วยรถยนต์ 15 ชม. ด้วยรถบัส 22 ชม.) ราคาตั๋วโดยสารจากเวียงจันทน์ถึงบ่อเต็น 485 บาทต่อคน (140,000 กีบ/คน หรือ 1.2 บาท/กม.) ค่าขนสินค้า 2 บาท/ตัน/กม.
5.ศูนย์ธุรกิจที่ทันสมัย ประกอบด้วยการซื้อขายสินค้าทุกชนิด ผ่านทางออนไลน์ทั่วประเทศ โดยนักธุรกิจจีนหรือพ่อค้าจีนสามารถคุยกับพ่อค้าผลไม้และสินค้าอื่นได้ทันที มีระบบฐานข้อมูลสินค้าไทยทั่วประเทศที่นักธุรกิจจีนสามารถเข้ามาติดต่อพูดคุยเจรจาธุรกิจได้ทันที และการจับคู่ธุรกิจ รวมทั้งโอกาสของ Start Up ไทยกับนักธุรกิจจีน 6.ศูนย์เส้นทางท่องเที่ย วหนองคายจะเป็นประตูรับนักท่องเที่ยวจากรถไฟลาว-จีนด้วยข้อมูลการท่องเที่ยวทั่วประเทศไทย
โดยมีการให้ข้อมูลข่าวสารครบถ้วนทั้งเส้นทาง ที่พัก และสถานทีเที่ยวทั่วประเทศไทย 7. เมกะฮับ (Mega Hub) หนองคายต้องเร่งปรับตัวโดยด่วนเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในฝั่งลาวทั้ง Dry Port และ Vientiane Logistics Park ขนาดใหญ่ได้แก่ ศูนย์สินค้าเกษตร เขตส่งอออกเขตธุรกิจ เขตอุตสาหกรรมเบา ศูนย์ฮาลาลและเกษตรแปรรูป
หันมาดูผลของรถไฟลาว-จีนต่อการค้าชายแดนหนองคาย ปี 2563 มูลค่าการค้าไทย-ลาว 1.9 แสนล้านบาท ไทยได้ดุลการค้า 1.7 หมื่นล้านบาท โดย “ไทยส่งออกไปลาวที่ด่านหนองคายมากที่สุดสัดส่วน 45%” (4.7 หมื่นล้านบาท) ในจำนวน 8 ด่าน(หนองคาย มุกดาหาร น่าน อุบลฯ เลย นครพนม เชียงราย บึงกาฬ) แต่ไทยนำเข้าจากลาวที่ด่านมุกดาหารมากสุดสัดส่วน 25% สำหรับผลกระทบจากรถไฟลาว-จีนต่อการค้าชายแดนหนองคายพบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า (ปี 2568) มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 3.3 เท่าจากปี 2563 โดยเพิ่มขึ้นมากกว่า 200%
ข้อเสนอแนะของผมคือ “ทุกภาคส่วนที่เกี่ยว ข้องกับหนองคายทั้งส่วนกลางและจังหวัดต้องหันมาร่วมพัฒนากันจริงจัง” ไม่อย่างนั้น “โอกาสของหนองคายจะสูญเสียไปอย่างน่าเสียดาย”
หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3723 วันที่ 17-20 ตุลาคม 2564