รถไฟลาว-จีนทิ้งชาวบ้าน โวยทางการท้องถิ่นยังไม่สรุปค่าเวนคืน

04 พ.ค. 2560 | 07:00 น.
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟลาว-จีน ร้องเรียนส.ส. รัฐบาลว่าทางการท้องถิ่นไขสือไม่ยอมประกาศนโยบายจ่ายค่าเวนคืนที่ดินระบุการก่อสร้างเร่งเครื่องอย่างเร็วแต่ยังไม่มีใครได้เงินชดเชยค่าที่ดิน เผยทางการชี้มีการปรับเปลี่ยนลดความกว้างเขตทาง

หนังสือพิมพ์เวียงจันทน์ไทม์ส รายงานว่า นางบัววัน ทำมะวง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของนครเวียงจันทน์ได้แจ้งต่อรัฐบาล ว่าโครงการรถไฟลาว-จีนซึ่งใช้ลงทุนถึง 5,800 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 203,000 ล้านบาท) แต่ยังไม่มีการประกาศนโยบายค่าชดเชยเวนคืนที่ดินและยังไม่มีชาวบ้านได้เงินทั้งที่การก่อสร้างเดินเครี่องไปแล้ว

นางบัววัน อภิปรายระหว่างการประชุมสามัญของรัฐสภาผู้แทนฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าชาวบ้านกำลังรอเงินชดเชย จากโครงการเส้นทางรถไฟที่มีความยาว 417 กิโลเมตรเชื่อมเมืองเวียงจันทน์และจีน ผ่าน 4 แขวงของลาวคือแขวงเวียงจันทน์ แขวงลาวพระบาง แขวงอุดมไชและแขวงหลวงน้ำทา

นอกจากนางบัววัน แล้ว นายไซสะมน คำทาวง ส.ส. จากแขวงหลวงพระบางให้สัมภาษณ์เวียงจันทน์ไทม์ส ว่าชาวบ้านในแขวงหลวงพระบาง กำลังรอให้ทางการประกาศนโยบายการชดเชยค่าเวนคืนและจำนวนเงินที่ชาวบ้านจะได้ นอกจากนี้ยังแล้วชาวบ้านยังไม่รู้ว่าทางการจะให้โยกย้ายไปอยู่ที่ดินหลังจากต้องสูญเสียที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่และที่ทำกินแล้ว

นายไซสะมน อภิปรายว่า ‘ชาวบ้านไม่ได้คัดค้านโครงการสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมลาวจีน แต่อยากได้รับความชัดเจนเรื่องค่าชดเชย’

ต่อเรื่องดังกล่าวนายลัดตะนะมานี คุนนิวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาและขนส่งของลาวและประธานคณะกรรมการบริหารโครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีน ให้สัมภาษณ์เวียงจันทน์ไทม์ส ว่าเรื่องค่าชดเชยนั้น มีหลายแขวงที่ยังไม่ได้ยื่นเรื่องเข้ามาที่คณะกรรมการ ‘โดยระบบการทำงานแล้วจะต้องให้แขวงต่าง ๆ ส่งข้อเสนอเข้ามาที่ส่วนกลางก่อนแล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ จะรวบรวมและทำเป็นนโยบายร่วมก่อนจึงจะทำการจ่ายเงินได้’

นายลัดตะนะมานี กล่าวว่าฝ่ายลาวและจีน ได้ตกลงที่จะลดความกว้างของเขตทางรถไฟจากเดิมข้างละ 50 เมตรจากทางรถไฟเพื่อลดผลกระทบต่อชาวบ้าน โดยเขตทางแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน บางพื้นที่เขตทางอาจจะกว้าง 30 เมตร บางพื้นที่ 20 เมตร บางพื้นที่อาจจะอยู่ 50 เมตรตามแผนเดิน

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาและขนส่งลาว กล่าวว่า ความแตกของเขตทางรถไฟระหว่าง 20 – 50 เมตร ขึ้นอยู่กับระดับความเร็วที่รถไฟวิ่งได้ในแต่ละพื้นที่

เวียงจันทน์ไทม์ส ระบุว่าขบวนรถไฟโดยสารที่จะวิ่งบนเส้นทาง จะมีความเร็ว 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ขณะที่ขบวนรถสินค้าจะมีความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แต่ในเส้นทางระหว่างเมืองวังเวียงไปเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นทางเรียบ ความเร็วของขบวนรถโดยสารจะเพิ่มขึ้นเป็น 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

อย่างไรก็ดีนายจันทะโชน แก้วละคร ผู้ประสานโครงการสร้างทางรถไฟของแขวงหลวงน้ำทา กล่าวว่าปัญหาของแขวงคือการเจรจากับชาวบ้านในเรื่องการเวนคืนทำได้ยากถ้านโยบายการจ่ายชดเชยยังไม่ชัดเจน ‘จะต้องสร้างความมั่นใจ ได้ว่าชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาจะต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นก่อนที่จะมีการโยกย้ายออกจากพื้นที่เวนคืน ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการชดเชยและโยกย้ายถิ่นประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา’

นายจันทะโชน กล่าวว่าตามกฎกระทรวงที่มีผลใช้บังคับแล้ว กระบวนการชดเชยและการโยกย้ายถิ่นประชาชนจะต้องมีการปฏิบัติด้วยความโปร่งใส เปิดกว้างให้ทุกฝ่ายเข้าร่วม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,258 วันที่ 4 - 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2560