วัฏจักรชีวิตของตลาดหุ้นโตเร็ว

07 พ.ค. 2565 | 20:09 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ค. 2565 | 20:55 น.

"ดร.นิเวศน์"ชี้วัฏจักรการเติบโตของตลาดหุ้น สะท้อนจากการเติบโตของเศรษฐกิจ ยกกรณีศึกษาประวัติศาสตร์ดัชนีตลาดหุ้น 3 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น ไทย  และเวียดนาม มาหาคำตอบกันว่า ตลาดหุ้นประเทศไหนเวลานี้ น่าลงทุนที่สุด ด้วยปัจจัยอะไร

                                                         วัฏจักรชีวิตของตลาดหุ้นโตเร็ว

 

นักลงทุน VI ระยะยาวมากเป็น 10 ปีขึ้นไปนั้น  เวลาที่จะลงทุนควรที่จะเลือกตลาดหุ้นที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไปเช่นเดียวกัน  และตลาดหุ้นที่จะมีลักษณะอย่างนั้นได้ก็ควรที่จะอยู่ในประเทศหรือเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตเร็วและจะเติบโตต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 10 ปีเช่นเดียวกัน  เพราะเศรษฐกิจที่โตเร็วและมีขนาดใหญ่พอนั้นจะทำให้มูลค่าของตลาดหุ้นหรือดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามการเติบโตของเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม  เมื่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเติบโตถึงจุดหนึ่งแล้ว  มันก็มักจะเติบโตช้าลงและอาจจะหยุดโตเลย  อย่างไรก็ตาม  บางประเทศนั้นเนื่องจากโตเร็วมาก เมื่อโตถึงจุดหนึ่งคนก็ร่ำรวยและประเทศกลายเป็นประเทศ “พัฒนาแล้ว” แต่บางประเทศก็อาจจะโตไม่เร็วพอจึงเป็นได้แค่ “คนชั้นกลางค่อนข้างดี” แต่ประเทศโตช้าหรือหยุดโตแล้ว  ซึ่งในทางวิชาการเรียกว่าเป็น  “Middle Income Trap” หรือประเทศที่ติด “กับดักรายได้ชั้นกลาง”   

 

ประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ญี่ปุ่น -ไทย - เวียดนาม

 

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ  ระยะเวลาของการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดหุ้นว่ามันจะโตแค่ไหนและยาวแค่ไหน?  มาศึกษาประวัติศาสตร์ดัชนีตลาดหุ้นของประเทศที่โตเร็วหรือเคยโตเร็วกัน 3 ประเทศคือ  ญี่ปุ่น ไทย  และเวียดนาม  ซึ่งผมพบว่ามีรูปแบบคล้ายคลึงกันมากอย่างไม่น่าเชื่อและดูเหมือนว่าประเทศอื่น ๆ  อีกหลายประเทศเช่นเกาหลีหรือไต้หวันก็มีพฤติกรรมใกล้เคียงกัน  มันคงมีเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์อยู่แต่ผมศึกษาไม่ไหว

 

 

การเติบโตของตลาดหุ้นซึ่งสะท้อนจากการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นดูเหมือนว่าจะโตเร็วต่อเนื่องจากวันที่ “เริ่มการพัฒนา” ไปยาวนานถึงประมาณ 40 ปี โดยที่ 20 ปีแรกจะเป็นช่วงโตเร็วมากที่สุด และ 20 ปีหลังจะโตช้าลง  บางทีก็ช้าลงมากแต่บางแห่งก็ช้าลงไม่มากขึ้นอยู่กับศักยภาพของคนและระบบการปกครองของประเทศ  หลังจาก 40 ปีไปแล้ว  เศรษฐกิจและตลาดหุ้นก็จะโตช้าลงมากและบางแห่งก็แทบจะหยุดโตต่อเนื่องไปนาน  ประเทศอาจจะกลายเป็น “สังคมคนแก่” ที่ไม่สามารถกลับมาเติบโตได้อีก

 

ญี่ปุ่น เริ่มต้นการพัฒนาและเริ่มมีตลาดหุ้นในปี 1949 หรือ 4 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงและญี่ปุ่นเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และเริ่มต้นพัฒนาประเทศใหม่  ภายในเวลาประมาณ 22 ปี คือปี 1971 ดัชนีตลาดหุ้นก็เพิ่มขึ้นจาก 100 จุด เป็นประมาณ 2,700 จุด หรือให้ผลตอบแทนปีละ 16.2% แบบทบต้น  ถ้ารวมปันผลก็จะประมาณ 18% และถือว่า “ดีสุดยอด”  นักลงทุนระยะยาวคงรวยกันทั่วหน้า

 

ช่วง 18 ปีต่อมา ดัชนียังเติบโตขึ้นไปถึงประมาณ 37,000 จุด ในปี 1989 ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละ 15.7% หรือน้อยกว่าช่วง 20 ปีแรกแค่ 0.5%  รวมแล้วตลาดหุ้นญี่ปุ่นให้ผลตอบแทนเฉลี่ยแบบทบต้นปีละ 15.9% หรือรวมปันผลคงจะประมาณ 17-18% เป็นเวลาถึง 40 ปี  ญี่ปุ่นในวันนั้นดูเหมือนจะเป็นประเทศ “สุดยอดของโลก” ที่อเมริกา “ตกใจมาก” คล้าย ๆ  กับที่ตกใจกับจีนในตอนนี้

 

หลังจากปีนั้นเป็นเวลาต่อมาอีก 32 ปี  ดัชนีตลาดหุ้นตกลงมาอย่างต่อเนื่องเหลือเพียง 26,847 จุด เมื่อเร็ว ๆ นี้  หรือเป็นการลดลงเฉลี่ยปีละประมาณ 1% แบบทบต้นทุกปี  คนลงทุนไม่ได้อะไรเลย  ปันผลน้อยนิดที่ได้ก็ไม่คุ้มกับราคาหุ้นที่ลดลง  นี่ก็เป็นเพราะเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็แทบจะไม่โตเลยมาน่าจะหลายสิบปีเช่นเดียวกับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมแทบทุกด้านที่ถดถอยลงเรื่อย ๆ  และไม่รู้ว่าจะฟื้นได้อย่างไร  สาเหตุก็คงเป็นเพราะคนแก่ตัวลงมากและน่าจะแก่ที่สุดในโลกในปัจจุบัน

 

ไทย เริ่มมีตลาดหุ้นในปี 2518 และกำลังเริ่มต้นพัฒนาอย่างรวดเร็ว  เศรษฐกิจโตเฉลี่ยปีละประมาณ 7% โดยที่บางปีโตกว่า 10% ภายในเวลา 22 ปี ถึงสิ้นปี 2539  ดัชนีตลาดหุ้นจาก 100 จุดก็กลายเป็นประมาณ 832 จุด หรือโตแบบทบต้นปีละประมาณ 10.11%  ถ้ารวมปันผลก็น่าจะไม่น้อยกว่า 12% ถือว่าให้ผลตอบแทนที่ “ยอดเยี่ยม”  ระดับโลกประเทศหนึ่ง  แต่หลังจากนั้นประเทศก็เข้าสู่วิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศอาจจะไม่ได้แข็งแกร่งหรือมีศักยภาพสูงมากอย่างที่เคยคิดว่าจะเป็น “เสือตัวที่ 5” ของเอเชีย

 

ช่วงเวลาระหว่างสิ้นปี 2539 จนถึงสิ้นปี 2557  เป็นเวลา 18 ปีนั้น  แม้ว่าเศรษฐกิจยังเติบโตอยู่แต่ก็โตช้าลงกว่าเดิมมาก  การเติบโตน่าจะอยู่ในระดับ 5% และก็ค่อย ๆ ลดลงจนเหลือ 3% ต่อปี  พร้อม ๆ กับปัญหามากมายซึ่งรวมถึงเรื่องวิกฤติเศรษฐกิจ  น้ำท่วมใหญ่  และปัญหาทางการเมืองที่เกิดการขัดแย้งกันระหว่างคนในประเทศและการเกิดรัฐประหารหลายครั้ง  นั่นทำให้ดัชนีตลาดหุ้นโตช้าลงมาก  จาก 839 จุดเพิ่มขึ้นเป็นเพียง 1,498 จุด หรือให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 2.82% ต่อปี ในช่วงเวลาถึง 18 ปี  รวมแล้ว ในเวลา 40 ปีนับจากวันเปิดตลาด  ผลตอบแทนทบต้นเท่ากับ 7% ต่อปี  ถ้ารวมปันผลก็ประมาณ  9-10% ไม่เลวเลย

 

หลังจากสิ้นปี 2557 ถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 7 ปีแล้ว  เศรษฐกิจถดถอยลงมากโตไม่ถึงปีละ 3% อานิสงค์จากการที่คนไทยแก่ตัวลงมากและผลจากโควิด-19  ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยกว่าจุดให้ผลตอบแทนทบต้นปีละประมาณ 1.5% และดูเหมือนว่าประเทศไทยกำลังติดกับดักชนชั้นกลางอยู่ด้วย

 

เวียดนาม เพิ่งจะเริ่มต้นพัฒนาและเติบโตอย่างรวดเร็วพร้อมกับการเปิดตลาดหุ้นในปี 2000 หรือ 22 ปีมาแล้ว  ดัชนีตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นจาก 100 เป็นประมาณ 1,367 จุด ให้ผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 12.62% รวมปันผลน่าจะไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี  เหนือกว่าตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเดียวกันมาก

 

และถ้ามองต่อไปอีก 18 ปีข้างหน้า  ดูเหมือนว่าเวียดนามจะแข็งแกร่งขึ้นไปอีก  อานิสงค์จากปัจจัยต่าง ๆ  ที่เอื้ออำนวยโดยเฉพาะการลงทุนเพื่อการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมจากต่างประเทศรวมถึงศักยภาพของคนที่ยังเป็นหนุ่มสาวและมีคุณภาพสูง  ดังนั้น  ผมเองคิดว่าตลาดหุ้นเวียดนามน่าจะเติบโตขึ้นไปอีกมากอย่างมั่นคงและให้ผลตอบแทนได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10% แบบทบต้น