อนาคตของประเทศไทย VS เวียดนาม

13 ส.ค. 2565 | 22:05 น.

อนาคตของประเทศไทย VS เวียดนาม บทความโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า โลกในมุมมองของ Value Investor

ประเทศไทยเคยเป็น “ดาวรุ่ง”  ของโลกโดยเฉพาะในช่วง “สงครามเย็น” ที่เริ่มตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงในปี 1945 ถึงปี 1991 เป็นเวลา 46 ปี  และต่อจากนั้นอีกประมาณ 16 ปี จนถึงปี 2007 ก่อนที่จะเกิดวิกฤติซับไพร์มในอเมริกาในปี 2008

 

การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นและการมี “บทบาทในเวทีโลก” ในช่วงแรกนั้น  ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการที่มหาอำนาจคืออเมริกาต้องต่อสู้ป้องกันการเผยแพร่ของลัทธิคอมมิวนิสต์ที่นำโดยรัสเซียและจีน  โดยที่ไทยเป็นประเทศ “หน้าด่าน” ที่สำคัญในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ที่อเมริกาต้องการชักชวนให้เข้าเป็นพวกซึ่งในกระบวนการนั้น  ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจแก่ประเทศไทยโดยเฉพาะในด้านของสาธารณูปโภคและการใช้จ่ายทางด้านการทหารจำนวนมากของสหรัฐเพื่อต่อสู้กับฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กำลังมีอิทธิพลครอบงำประเทศส่วนใหญ่ที่อยู่รอบไทย

 

หลังจบสงครามเย็นและเริ่มกระบวนการ “Globalization” หรือการที่โลกเน้นการค้าขายระหว่างประเทศ  รวมถึงการลงทุนที่มีการเคลื่อนย้ายไปทั่วโลก นั่น ทำให้ไทยซึ่งมีความพร้อมกว่าประเทศในย่านอาเซียน  สามารถพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วโดยการเป็นศูนย์กลางการลงทุนด้านการผลิต  โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น  

 

และนั่นทำให้ไทยกลายเป็น “เสือเศรษฐกิจ” ประเทศหนึ่งของเอเซีย  และแม้ว่าไทยจะประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจในปี 2540 หรือปี 1997 เราก็ยังสามารถฟื้นขึ้นมาได้และเติบโตเร็วต่อมาอีก 10 ปี จนถึงปีวิกฤติ 2008 ที่เศรษฐกิจตกลงมาอย่างหนักและหลังจากนั้นประเทศก็ยังเกิดปัญหาต่อเนื่องมาตลอดรวมถึงปัญหาทางการเมือง  การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เคยเติบโตสูงต่อเนื่องยาวนานดูเหมือนว่าจะ “ลดลงอย่างถาวร” จนถึงวันนี้เป็นเวลา 13-14 ปีแล้ว

 

การเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าของประเทศไทยที่โดดเด่นในอดีตเองนั้น  ดูเหมือนจะตกต่ำลงมากอานิสงส์จากการที่ประเทศข้างเคียง รวมถึงเวียดนามเริ่ม“เปิดประเทศ” ซึ่งสามารถดึงดูดทุนจากต่างประเทศได้ดีกว่าและมากกว่าไทยที่คนเริ่มขาดแคลนและแรงงานมีราคาแพงขึ้นมากเมื่อเทียบกับศักยภาพ ปัญหาทางการเมืองก็มีส่วนที่ทำให้ความยอมรับของโลกลดต่ำลงเมื่อเทียบกับเวียดนามที่กำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นมาก

 

โดยเฉพาะในสายตาของอเมริกา กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่สำคัญก็ไม่สนใจที่จะทำสนธิสัญญาทางการค้าด้วย ซึ่งก็ส่งผลให้ประเทศไทยไม่ใช่ทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจอีกต่อไปโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับเวียดนามหรืออินโดนีเซียที่ปัจจัยต่าง ๆ  เอื้ออำนวยมากขึ้นมากเมื่อเทียบกับไทยที่ปัจจัยต่าง ๆ  ถดถอยลง

 

ที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งก็คือ ประชากรไทยมีอายุสูงขึ้นมากและอัตราการเกิดต่ำมาก และกำลังเป็น“สังคมคนแก่”ซึ่งจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตนั้นเป็นไปได้ยาก นอกเสียจากว่าจะสามารถ“เพิ่มประสิทธิภาพ”การทำงานขึ้นเรื่อย ๆ  ซึ่งนั่นก็เป็นปัญหาที่แก้ยาก เหตุผลก็เพราะ “คุณภาพ” ของคนค่อนข้างจะจำกัด

 

เพราะระดับการศึกษาของไทยนั้นมีการพัฒนาขึ้นน้อย  เห็นได้จากระดับความก้าวหน้าทางด้านการศึกษาเช่น การวัดและจัดอันดับการทดสอบเช่น PISA Test ของเด็กไทยไม่ได้ดีขึ้นในระยะเวลายาวนาน  เช่นเดียวกับดัชนีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของไทยที่ไม่ดีนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ

 

 

 

คำถามที่สำคัญก็คืออนาคตของประเทศไทยจะไปทางไหน  เปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านที่กำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วกว่ามาก?  และผมเองก็อยากจะตอบคำถาม “ยอดฮิต” ที่ว่า  เวียดนามจะตามทันไทยไหม?  และจะทันเมื่อไร?  และนี่ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของเศรษฐกิจ  แต่เป็นบทบาททางการเมืองและสังคมระหว่างประเทศซึ่งหลายคนบอกว่าควรจะรวมถึงการเป็นผู้นำทางด้านกีฬาโดยเฉพาะฟุตบอลที่เป็นกีฬายอดนิยมของทั้งสองประเทศด้วย

 

ผมจะใช้ข้อมูลผลผลิตมวลรวมประชาชาติหรือ GDP ของ 3 ประเทศหลักในอาเซียนคือไทย ฟิลิปปินส์และเวียดนามเป็นตัววัด  โดยที่ไทยจะเป็นประเทศหลักในฐานะที่เจริญเติบโตมาก่อนและมีขนาดใหญ่ที่สุด  ในปี 2021 ตัวเลขจากธนาคารโลกบอกว่า GDP ของไทยเท่ากับประมาณ 506 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือ 18 ล้าน ๆ บาท ในขณะที่ของฟิลิปปินส์ใหญ่เป็นอันดับ 2 ที่ 394 พันล้านเหรียญหรือประมาณ 78% ของไทย  และเวียดนามเล็กที่สุดที่ 363 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 72% ของไทย  

 

อย่างไรก็ตาม  มองไปในอนาคตระยะยาวจากสถาบันระดับโลกและโดยการปรับตัวเลขที่ผมคิดว่าน่าจะใกล้เคียงนั้นบ่งชี้ว่า เวียดนามจะโตได้ปีละประมาณ 7.2%  ต่อปี  ฟิลิปปินส์โตปีละ 5.3%  และไทยจะโตแค่เพียง 3.6% ต่อปี ดังนั้น  ภายในเวลา 10 ปี หรือปี 2032 เศรษฐกิจเวียดนามก็จะตามทันเศรษฐกิจไทย คือ GDP อยู่ที่ประมาณ 726 พันล้านเหรียญ หรือเศรษฐกิจเวียดนามโตขึ้นเท่าตัว ในขณะที่เศรษฐกิจไทยโตขึ้น 43% นี่ก็เป็นสิ่งที่น่าตกใจมาก  เพราะหลายคนรวมถึงผมเองที่เข้าไปเที่ยวและลงทุนในเวียดนามอาจจะนึกไม่ถึง  แต่ผมเองก็คิดว่ามันมีโอกาสเป็นไปได้สูงเมื่อลองนึกดูว่าครั้งแรกที่ผมไปจีนเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนที่ได้เห็น“ความล้าหลัง” ของจีนอย่างสุดกู่  แต่เวลาผ่านมา  “ไม่นาน” จีนซึ่งเติบโตเร็วมากกลายเป็นอีกโลกหนึ่ง

 

ฟิลิปปินส์เองที่เคยรุ่งเรืองกว่าไทยและแทบทุกประเทศในเอเชียในอดีต  ได้กลายเป็น “คนป่วยแห่งเอเซีย” ในสมัย “เผด็จการมาร์กอส” และก็กลับมารุ่งเรืองใหม่อีกครั้งในช่วง “ประชาธิปไตย” ในระยะหลังนี้  ประกอบกับจำนวนประชากรที่สูงถึง 116 ล้านคน  ก็จะสามารถไล่ตามไทยทันในอีกประมาณ 15 ปีข้างหน้า  โดยที่เศรษฐกิจจะใหญ่เท่ากันที่ 858 พันล้านเหรียญ  ถึงวันนั้นประเทศไทยจะใหญ่เป็นอันดับ 4 ถ้ามาเลเซียไม่แซงไปเสียก่อน

 

คำถามที่น่าสนใจอีกข้อหนึ่งก็คือ  ไทยจะเป็นประเทศร่ำรวยหรือพัฒนาแล้วเมื่อไร?  ถ้าคิดจากตัวเลขรายได้หรือนิยามในปัจจุบันก็คือรายได้ต่อหัวของคนในประเทศจะอยู่ที่ 20,000 เหรียญสหรัฐหรือประมาณ 710,000 บาทต่อปี หรือ 59,200 บาทต่อเดือน ในขณะที่ ปัจจุบันรายได้ของเราอยู่ที่ 7,233 เหรียญต่อปีหรือเดือนละ 21,400 บาท นั่นก็หมายความว่าเราต้องใช้เวลาอีก 30 ปีกว่าที่เราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วถ้าเรายังโตไปเรื่อย ๆ ในอัตราปีละ 3.5%

 

ผมเองคิดว่าโอกาสที่เราจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วอาจจะน้อย  เราคงติดกับ “ประเทศรายได้คนชั้นกลาง” ถ้าไม่เลวร้ายจนกลายเป็น “ประเทศล้มเหลว” เหมือนกับบางประเทศที่เคยรวยมาก่อน  เพราะผมดูแล้ว  การจะเติบโตปีละ 3.5% ติดต่อไปอีก 30 ปีนั้นคงจะยากเมื่อคำนึงถึงว่าจำนวนคนไทยจะเริ่มลดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ไม่ต้องพูดถึงการพัฒนาทางด้านประสิทธิภาพที่จะยากขึ้นมากเมื่อเราแก่ตัวลงเรื่อย ๆ  แต่ถ้าเราอยากจะโตต่อไปเรื่อย ๆ  สิ่งที่จะทำได้คงต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบ  “สิ้นเชิง” และโดยคนรุ่นหนุ่มสาวในปัจจุบันที่ยังมีอายุเหลืออยู่เพียงพอที่จะนำประเทศไปสู่การเป็นประเทศที่ก้าวหน้าและพัฒนาแล้ว