น่าจะประมาณ 20 ปีมาแล้ว คือประมาณปี 2544 หรือ 2545 ผมจำได้ว่ามีการจัดงานสัมมนาใหญ่ทางด้านการเงินเป็น “ครั้งแรก” ที่ไบเท็คบางนา ผมขึ้นพูดในรายการของ “Money Talk” ในหัวข้อเรื่องทำนองว่าจะลงทุนอย่างไรในภาวะ “บาทตก หุ้นเตี้ย ดอกเบี้ยต่ำ” ซึ่งผู้พูดรวมถึงอาจารย์สุนีย์ สินธุเดชะ ปรมาจารย์ด้านการศึกษาและการพูดที่ลูกศิษย์ลูกหารวมถึงคนทั่วไปที่เป็นแฟนคลับติดตามรับฟังและรับชมในยุคนั้น ซึ่งก็เป็นการแสดงให้เห็นว่า คนที่ฟังยังไม่ใช่เป็นนักลงทุนที่เน้นเนื้อหาทางด้านการลงทุนมากนัก จำเป็นต้องมี “แม่เหล็ก” อย่าง “อาจารย์แม่” มาดึงคนให้มาฟัง ซึ่งก็ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม
.
ในเวลานั้น เป็นช่วงหลังปี 2543 หรือปี 2000 ที่เกิดวิกฤติหุ้นไฮเท็คในอเมริกาและดัชนีหุ้นไทยตกลงไปถึง 44% เป็น “วิกฤติตลาดหุ้น” ที่ทำให้หุ้นตกลงไปเหลือเพียงสองร้อยกว่าจุด และนั่นก็เป็นที่มาของคำว่า “หุ้นเตี้ย” ในขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินบาทกับเงินดอลลาร์สหรัฐนั้น เงินบาทกำลังตกลงมาจากประมาณ 40 บาทเป็น 44-45 บาทหรือตกลงมาถึง 10% ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “บาทตก”
.
อย่างไรก็ตาม อัตราดอกเบี้ยในช่วงเวลาดังกล่าวที่น่าจะต้องปรับตัวขึ้นเพื่อป้องกันบาทตกนั้น กลับปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วจากประมาณ 6.5% ต่อปีในช่วงสิ้นปี 2543 เป็น 2.25% ในปี 2544 และเหลือเพียง 1.25% ในปี 2545 เป็นช่วงเวลา “ดอกเบี้ยต่ำ” ที่ทำให้คนฝากเงินเดือดร้อน แต่ทั้งหมดนั้นเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจและตลาดหุ้นเป็นอย่างมาก
ยังจำได้ว่า ผมมีความรู้สึกที่เป็นบวกมาก ส่วนหนึ่งเพราะพอร์ตการลงทุนแบบ “Value Investment” ที่ผมใช้ในการลงทุนและพยายามเผยแพร่แนวคิดซึ่งยังใหม่มากในเวลานั้น มีกำไร ผลตอบแทนยังบวกถึง 22% ในยามที่ดัชนีตกไป 44% แต่ก็ยังจำได้อีกว่าในเวลานั้น คนที่เข้าไปชมงานสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับการเงินครั้งนั้น ต่างก็มีอารมณ์คึกคักในการเข้าชมบูทที่สถาบันการเงินต่างก็มาเปิดเพื่อหาลูกค้า คนหนุ่มสาวที่เป็นคนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามาสนใจการเงินกันมากขึ้น
.
การลงทุนในหุ้นที่แทบจะหายไปอานิสงส์จากวิกฤติปี 2540 เริ่มกลายเป็นอดีตของ “คนรุ่นเก่า” “การเงินยุคใหม่” กำลังมาพร้อมกับคน “รุ่นใหม่” ที่มีความรู้และมีรายได้หรือเงินเดือนสูง การลงทุนในหุ้นกำลังเป็นสิ่งที่ดีและจำเป็นต้องทำสำหรับพวกเขา
.
ตั้งแต่เหตุการณ์วันนั้น ตลาดหุ้นก็เริ่มปรับตัวขึ้นไปเรื่อยๆ ปี 2544 หุ้นขึ้นไป 13% ปี 2545 ขึ้นไป 17% และปี 2546 ขึ้นไปถึง 117% ซึ่งนั่นก็คงมาจากการที่ภาวการณ์ทางเศรษฐกิจและการเงินเอื้ออำนวยเป็นอย่างยิ่ง การเติบโตทางเศรษฐกิจก็เป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากการเติบโตของ GDP ที่ 3.4% ในปี 2544 เป็น 6.1% ในปี 2545 และเป็น 7.2% ในปี 2546 ซึ่งก็ส่งผลให้กำไรของบริษัทจดทะเบียนโตแบบก้าวกระโดดกว่า 50%
.
ในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ที่ดีเยี่ยมยิ่งกว่านั้นก็คือ ค่า PE ของตลาดในปี 2544 อยู่ที่เพียง 4.9 เท่า ปี 2545 อยู่ที่ 7 เท่า และในยามที่ดัชนีตลาดขึ้นเกิน 100% ในปี 2546 ค่า PE ก็อยู่ที่เพียง 18.2 เท่า เท่านั้น
หันกลับมาสู่ปัจจุบัน ภาวะที่ผมอยากจะเรียกเทียบเคียงกับ “บาทตก-หุ้นเตี้ย-ดอกเบี้ยต่ำ” ก็คือ “ เงินเฟ้อสูง- ดอกเบี้ยเพิ่ม- เศรษฐกิจซบ และหุ้นฝืด” และนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นแต่มันเกิดขึ้นแล้วและจะดำเนินต่อไปอีกนานพอสมควร บางเรื่องอาจจะหลายปีหรือเป็นเรื่องของวัฏจักร์ระยะยาว เพราะเหตุที่ทำให้เกิดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่หายไปง่าย
.
ตัวอย่างเช่น เรื่องของเงินเฟ้อที่มาจากเรื่องของสงครามที่มักจะไม่จบลงง่าย เช่นเดียวกับเรื่องของดอกเบี้ยที่มักจะล้อไปกับเงินเฟ้อ และก็เป็นเรื่องของการที่มันถูกกดลงมามากและนานเกินไปอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในด้านของเศรษฐกิจเองนั้น ก็เป็นผลที่มักจะหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะต้องเติบโตลดลงหรืออาจจะติดลบไปเลยในยามที่ภาวะทางด้านการเงินไม่เป็นใจ
.
เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ สภาพคล่องทางการเงินทั้งในด้านของรัฐหรือของบุคคลธรรมดาที่จะต้องลดลง อานิสงส์ส่วนหนึ่งจากการที่มีการก่อหนี้มหาศาลในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงโควิด-19
.
และสุดท้ายก็คือ “หุ้นฝืด” หรือก็คือ หุ้นตกลงมาอย่างหนักและทำให้นักลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนส่วนบุคคลที่เน้นการเล่นหุ้นเก็งกำไรขาดทุนอย่างหนักจนเลิกเล่นหุ้น ส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นซบเซาลงอย่างหนัก โดยเฉพาะในตลาดหุ้นไทยที่ปริมาณการซื้อขายหุ้นต่อวันลดลงมามากและลดลงอย่างต่อเนื่อง และนักลงทุนส่วนบุคคลมีสัดส่วนการซื้อขายลดลงจนเหลือแค่ประมาณ 30% ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลายเป็นประมาณ 50% และปริมาณการซื้อขายต่อวันลดเหลือระดับประมาณแค่ 5-60,000 ล้านบาท เทียบกับระดับเกือบแสนล้านบาทในช่วงเก็งกำไรร้อนแรง 1-2 ปีก่อนหน้านี้
.
ในความคิดของผมต่ออนาคตดัชนีตลาดหุ้นอย่างน้อยประมาณ 6 เดือนข้างหน้านั้น สำหรับตลาดหุ้นระดับโลกซึ่งเน้นที่ตลาดหุ้นอเมริกานั้น ผมคิดว่าหุ้นจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นน่าจะยาก เหตุผลนอกจากปัจจัยดังที่กล่าวแล้วก็คือ ดัชนีตลาดหุ้นของอเมริกาในระยะยาวตั้งแต่ปี 2009 หลังวิกฤติซับไพร์มจนถึงสิ้นปี 2021 เป็นเวลาประมาณ 13 ปี ให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
.
ดังนั้น ตั้งแต่ต้นปี 2022 ที่ตลาดหุ้นตกลงมาเฉลี่ยถึง 20% ภายใน 6 เดือนจึงเป็น “ขาลงระยะยาว” ที่อาจจะต่อเนื่องไปอีกหลายปีที่ตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนเฉลี่ยที่ไม่น่าประทับใจเพื่อที่จะทำให้ “ผลตอบแทนระยะยาวมากของตลาดหุ้นอเมริกา” ไม่สูงเกินความเป็นจริงที่ประมาณไม่เกิน 10% ต่อปีแบบทบต้น พูดง่าย ๆ หุ้นอเมริกาต่อไปนี้คงไม่ดีนัก ถ้าไม่ตกหนักลงไปอีกจนเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติที่เกิดขึ้นแล้ว
.
ในด้านของตลาดหุ้นไทยนั้น ในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ดัชนีตลาดหุ้นเป็น Sideway หรือปรับตัวขึ้นลงไม่มากมาตลอด ดัชนีวันนี้เท่า ๆ กับดัชนีในเดือนมีนาคม 2556 ที่ประมาณ 1,561 จุด และผมก็คิดว่าดัชนีหุ้นไทยก็อาจจะทรงตัวหรือ Sideway ต่อไปโดยที่โอกาสที่จะตกลงมาหนักก็อาจจะไม่มาก
.
เหตุผลเพราะว่า “ผลตอบแทนระยะยาว” โดยเฉพาะในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาก็ไม่สูง หรือพูดง่าย ๆ ว่า “ในเมื่อหุ้นไม่เคยขึ้นเลย ดังนั้นมันก็คงจะไม่ตกลงมามากนัก” ความเชื่อของผมก็คือ หุ้นไทยก็คงจะทรง ๆ ไปจนถึงต้นปีหน้าครบ 10 ปีที่นักลงทุนแทบจะไม่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน เป็น “Lost Decade” หรือ “ทศวรรษที่หายไป” ของตลาดหุ้น
.
แต่ผมเองก็จะยังคงถือหุ้นไทยต่อไปด้วยความเชื่อที่ว่าถ้าเราถือหุ้นดีเป็นหุ้น Value เราก็น่าจะได้ผลตอบแทนดีกว่าตลาดอยู่บ้าง ซึ่งก็น่าจะดีกว่าผลตอบแทนจากทรัพย์สินอย่างอื่นทั้งหมดในประเทศไทยเช่น อสังหาริมทรัพย์หรือหุ้นกู้และพันธบัตร
นอกจากนั้น ผมยังคิดว่า ตลาดหุ้นไทยน่าจะยังมีโอกาสดีดตัวขึ้นแรงได้ ถ้าประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นในหลาย ๆ ด้านหลังจากที่เศรษฐกิจชะลอตัวมานานติดต่อกันหลาย ๆ ปี และดูเหมือนว่ากำลังจะ “ติดกับ”อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางหรือ “Middle Income Trap” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่ว่านั้น
.
ผมเองคิดว่าจะต้องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ค่อนข้างจะ “ล้าหลัง” เมื่อเทียบกับประเทศในระดับการพัฒนาเดียวกัน และนั่นทำให้ผมคิดว่า ภายในต้นปีหน้าที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ จะเป็นวันที่มีความสำคัญมากต่ออนาคตของประเทศไทย-- และตลาดหุ้น