“ในช่วงเวลาแห่งความมืด สิ่งที่เราต้องจดจ่อคือ การหาแสงสว่าง”
ประโยคนี้ ...ไม่เพียงแต่เป็นคำคมของนักปรัชญาที่มีความหมายลึกซึ้ง ซึ่งพบเจอได้ในหนังสือหรือนิยายเท่านั้น เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงแสงสว่างถือว่ามีอิทธิพลกับชีวิตของคนเราอย่างมาก เพราะกิจวัตรประจำวันนับตั้งแต่ตื่นจนกระทั่งเข้านอน ล้วนเกี่ยวข้องหรือต้องอาศัยแสงสว่างแทบทั้งสิ้น
ในสมัยโบราณรุ่นปู่ย่าตาทวด ...นอกจากจะอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์แล้ว ก็ยังพึ่งพาแสงสว่างจากเทียนไข ตะเกียง หรือ การจุดกองไฟ จนกระทั่งปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการ กลายมาเป็นไฟฟ้าให้เราได้ใช้กันอย่างสะดวกสบาย จนแทบนึกภาพไม่ออกเลยว่า ถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้ชีวิตของเราจะเป็นอย่างไร !?
แน่นอนว่า... เมื่อไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตที่ขาดไม่ได้ รัฐบาลจึงต้องเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเรื่องดังกล่าวซึ่งดำเนินการในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ
สำหรับข้อพิพาทที่จะคุยกันในวันนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน โดยบริษัทที่เข้าร่วมประมูลเห็นว่า การดำเนินการของรัฐเอื้อประโยชน์ให้แก่เอกชนบางราย และมีประเด็นน่าสนใจที่ศาลต้องพิจารณาเกี่ยวกับผู้มีสิทธิฟ้องคดีว่า “ผู้ถือหุ้น” จะฟ้องคดีแทนบริษัทได้หรือไม่? ไปดูข้อเท็จจริงของคดีกันเลยครับ…
คดีนี้ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท A (บริษัทมหาชน จำกัด) ซึ่งได้เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก (โครงการนำ ร่อง) โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) ได้ประชุมแล้วมีมติให้เปลี่ยนแปลงโครงการดังกล่าวต่างจากที่เคยมีมติไว้ (เดิมคือผู้ประมูลต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ไม่มีสัญญาผูกพันกับภาครัฐ และห้ามโครงการที่เคยได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเข้าร่วมประมูล)
อีกทั้ง คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ได้ออกระเบียบในการดำเนินโครงการ ดังกล่าว ซึ่งส่งผลให้ บริษัท B (ผู้ชนะการประมูล) ที่ได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐ และเป็นโรงไฟฟ้าที่สร้างแล้วเสร็จโดยมีผลกำไรมาหลายปี สามารถเข้าเสนอราคาโดยเสนอราคาได้ตํ่ากว่าผู้เสนอราคารายอื่นที่ยังสร้างโรงไฟฟ้าไม่แล้วเสร็จ อันถือเป็นการช่วยเหลือเอกชนเฉพาะราย ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการคัดเลือก ซึ่งขัดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542
ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท A จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดห้ามโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ หรือ เงินอุดหนุนอื่น และโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว เข้าร่วมประมูลไว้ในระเบียบของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
คดีมีประเด็นพิจารณาว่า ผู้ฟ้องคดีในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัท A ซึ่งเป็นบริษัทที่เข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่พิพาท จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองแทนบริษัทดังกล่าวได้หรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้ว เห็นว่า โดยที่พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 มาตรา 42 ได้กำหนดให้ บริษัทมีอำนาจกระทำการใดๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของบริษัท และถ้ามิได้มีข้อบังคับกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น อำนาจเช่นว่านี้ให้รวมถึงอำนาจที่จะกระทำการดังต่อไปนี้ด้วย
(1) เป็นโจทก์ ร้องทุกข์ ดำเนินการตามกระบวนพิจารณาใดๆ ในนามของบริษัท... และมาตรา 67 ประกอบกับมาตรา 77 กำหนดให้บริษัทต้องมีกรรมการคณะหนึ่งเพื่อดำเนินกิจการของบริษัท ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ข้อบังคับ และมติของที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยคณะกรรมการอาจมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่ง หรือ หลายคน หรือ บุคคลอื่นใดปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งแทนคณะกรรมการก็ได้เว้นแต่บริษัทจะมีข้อบังคับไม่ให้คณะกรรมการมีอำนาจดังกล่าวโดยระบุไว้ชัดแจ้ง
เมื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท A ซึ่งเป็นนิติบุคคลตั้งแต่วันที่นายทะเบียน รับจดทะเบียน อำนาจกระทำใดๆ ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของบริษัท ซึ่งรวมถึงการฟ้องคดี การร้องทุกข์ หรือการดำเนินการตามกระบวนพิจารณาใดๆ ในนามของ บริษัทนั้น จึงต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการของบริษัท A
เมื่อบริษัท A มีสถานะเป็นนิติ บุคคลแยกต่างหากจากการเป็นบุคคลของผู้ฟ้องคดีแล้ว การฟ้องคดีอันเกิดจากความเดือดร้อน หรือเสียหายในกิจการของบริษัท จึงต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการของบริษัท ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นย่อมไม่มีสิทธิตามกฎหมาย ที่จะฟ้องคดีในนามส่วนตัวในกิจการของบริษัทดังกล่าวได้
กรณีจึงไม่ถือเป็นผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดี ในอันที่จะมีสิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ศาลปกครองสูงสุดจึงยืนตามคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้นที่ไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 314/2565)
คดีดังกล่าว... ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิในการฟ้องคดี กรณีบริษัทมหาชนจำกัดได้รับความเดือดร้อน หรือเสียหายจากการกระทำ หรือ งดเว้นการกระทำของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งผู้ที่จะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลแทนบริษัทได้ก็คือ คณะกรรมการของบริษัทตามกฎหมายบริษัทมหาชน จำกัด หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ ผู้ถือหุ้นไม่มีสิทธิที่จะฟ้องคดีต่อศาลในนามส่วนตัว ในกิจการของบริษัทที่ตนถือหุ้นได้นั่นเองครับ!
(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่... สายด่วนศาลปกครอง 1355)