เงินหลวงตกนํ้าไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ ... คำเปรียบเปรยที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเงินหลวง
และการระมัดระวังในการใช้จ่ายเงินหลวงที่มาจากภาษีของประชาชน ซึ่งมีกฎหมายและระเบียบของทางราชการควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายไว้ หากฝ่าฝืน ... ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามที อาจได้รับโทษทั้งทางอาญาและทางวินัย จะหนักหรือเบาย่อมขึ้นอยู่กับพฤติการณ์ของการกระทำผิดและบทลงโทษที่กำหนด รวมทั้งอาจต้องรับผิดชดใช้เงินในทางแพ่งหรือในทางละเมิดอีกด้วย หากมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ทางราชการอันเนื่องจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง
ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีหน้าที่หรือได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการเงิน การคลัง และการงบประมาณ จึงต้องมีความละเอียดรอบคอบและปฏิบัติงานภายใต้กรอบของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง ประการสำคัญ จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ตั้งด้วย มิเช่นนั้น อาจจะเกิดปัญหาตามมาดังเช่นกรณีพิพาทที่นำมาฝากวันนี้ ซึ่งมีการทำพยานหลักฐานเท็จในการเบิกจ่ายเงินงบประมาณและได้นำเงินหลวงไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวจนถูกลงโทษทางวินัย !!
โดยคดีมีประเด็นชวนคิดว่า ... กรณีเจ้าหน้าที่ผู้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยได้ถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ คำสั่งของผู้มีอำนาจ ทายาทของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษแทนผู้ตายได้หรือไม่? และกรณีหลังจากที่มีการร้องเรียนเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้นำเงินหลวงมาคืนให้แก่ส่วนราชการแล้ว จะมีผลต่อโทษทางวินัยที่ได้ รับหรือไม่?
มาดูรายละเอียดของคดีและคำวินิจฉัยของศาลเพื่อคลายข้อสงสัยทั้งสองประเด็นกันเลยครับ!
มูลเหตุของคดีเกิดขึ้นขณะที่... นางอิ่มดำรงตำแหน่งนักวิชาการชำนาญการพิเศษ ได้ถูกกล่าวหาว่าร่วมกับเจ้าหน้าที่อื่นกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ จำนวน 2 เรื่อง ได้แก่
(1) กรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมกับผู้อื่นทุจริตเบิกจ่ายเงินงบประมาณในโครงการอบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน โดยไม่ได้มีการจัดอบรมจริง และได้นำเอกสารเท็จมาเป็นหลักฐานหักล้างเงินยืมทดรองราชการ
และ (2) กรณีถูกกล่าวหาว่าได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการส่งเสริมศิลปินรุ่นเยาว์ แต่ต่อมาได้เสนออนุมัติเปลี่ยนแปลงเงินรางวัลมาเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการฝึกซ้อมแทน ซึ่งเมื่อได้รับอนุมัติเงินแล้ว ไม่ได้นำเงินส่งมอบให้ครูผู้ควบคุมวงที่ส่งนักเรียนเข้าประกวด แต่เก็บเงินไว้เพื่อประโยชน์ของตนเอง
กระทรวงเจ้าสังกัดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง โดยคณะกรรมการฯ เห็นว่า พฤติการณ์ของนางอิ่มเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริต และฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 สำนักงานปลัดกระทรวง
(ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) จึงมีคำสั่งไล่นางอิ่มออกจากราชการ
นางอิ่มได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม หรือ ก.พ.ค. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) โดยอ้างว่าตนมิได้เป็นผู้กระทำการทุจริต แต่ในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ นางอิ่มได้เสียชีวิตลง ผู้ฟ้องคดี (สามีของนางอิ่ม) จึงมีหนังสือขอเป็นผู้อุทธรณ์แทนที่นางอิ่ม ซึ่งกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ได้พิจารณาแล้วมีมติอนุญาต และต่อมา ก.พ.ค. ได้พิจารณาแล้ววินิจฉัยยกอุทธรณ์ ผู้ฟ้องคดีจึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของ ก.พ.ค. และเพิกถอนคำสั่งลงโทษไล่ออกของสำนักงานปลัดกระทรวง
ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณา คือ ผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองแทนผู้ถูกคำสั่งลงโทษทางวินัยที่เสียชีวิตในระหว่างอุทธรณ์คำสั่งต่อ ก.พ.ค. หรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้ได้รับคำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของ ก.พ.ค. ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายจึงอยู่ในฐานะทายาทที่จะเข้าแทนที่ผู้ตายได้ แม้จะมิใช่ผู้ได้รับคำสั่งลงโทษโดยตรง
เนื่องจากคำสั่งไล่ออกจากราชการทำให้เจ้าหน้าที่ผู้รับคำสั่งเป็นผู้มีมลทินมัวหมองและต้องถูกตัดสิทธิประโยชน์ต่างๆ ซึ่งหากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว ก็จะมีผลให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เสียไปกลับคืนมา ดังนั้น ผู้ฟ้องคดีในฐานะสามีโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นผู้มีสิทธิในการฟ้องคดีนี้ต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนคำสั่งลงโทษภรรยาของตนที่เสียชีวิตแล้วได้
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา คือ คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่?
ศาลปกครองสูงสุดได้วินิจฉัยสรุปความได้ว่า กรณีที่นางอิ่มถูกกล่าวหาทั้งสองกรณีนั้น เมื่อพิจารณาจากพยานหลักฐานต่างๆ และจากพฤติการณ์ของนางอิ่มแล้ว เห็นว่า นางอิ่มได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการทั้งสองโครงการ โดยได้นำใบสำคัญรับเงินค่าใช้จ่ายต่างๆ มาเป็นหลักฐานหักล้างเงินยืมทดรองราชการ โดยที่ไม่ได้มีการจัดอบรมตามโครงการแรกจริง
ส่วนโครงการที่สอง เมื่อได้รับอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงเงินรางวัลการประกวดขับร้องมาเป็นค่าอาหารและเครื่องดื่มสำหรับการฝึกซ้อมของนักเรียน ก็ไม่นำเงินจำนวนดังกล่าวจ่ายให้โรงเรียนผู้รับผิดชอบการฝึกซ้อม การกระทำดังกล่าวจึงเป็นความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ราชการโดยทุจริตตามมาตรา 85 (1) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 และถือเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง
แม้ว่าต่อมานางอิ่มจะได้คืนเงินดังกล่าว โดยมีเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนลงชื่อรับเงินไว้เรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อการจ่ายเงินคืนนี้ เป็น การกระทำภายหลังจากที่มีการร้องเรียนในเรื่องทุจริตแล้ว กรณีจึงไม่มีผลลบล้างการกระทำความผิดของนางอิ่มที่กระทำสำเร็จแล้วได้ ดังนั้น คำสั่งลงโทษไล่ออกจากราชการและคำวินิจฉัยยกอุทธรณ์ของนางอิ่ม จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว พิพากษายกฟ้อง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ ฟบ. 21/2565)
คดีนี้… ศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานกรณีเจ้าหน้าที่ผู้ถูกคำสั่งลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง ซึ่งได้เสียชีวิตระหว่างการอุทธรณ์คำสั่งต่อผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์ ทายาทของผู้ตาย เช่น สามีที่จดทะเบียนสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายมีสิทธิเข้าแทนที่ผู้ตายในการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ หากเห็นว่าคำสั่งลงโทษไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จะมิใช่ผู้ได้รับคำสั่งลงโทษโดยตรงก็ตาม
ทั้งนี้ เพราะหากศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งลงโทษ ย่อมมีผลให้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เสียไปกลับคืนมา ซึ่งคดีดังกล่าวผู้ฟ้องคดีในฐานะทายาทของเจ้าหน้าที่ผู้ตายก็ได้ใช้สิทธิในการขอให้ศาลปกครองตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งลงโทษ
ซึ่งผลก็คือคำสั่งลงโทษนั้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อได้มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นแล้ว แม้ต่อมาเจ้าหน้าที่จะได้นำเงินมาคืนให้แก่ทางราชการจนครบถ้วนดังเดิม ก็ไม่ถือเป็นการลบล้างการกระทำความผิดที่เกิดขึ้น และสำเร็จแล้วได้แต่อย่างใดครับ!
(ปรึกษาการฟ้องคดีปกครองอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ สายด่วนศาลปกครอง 1355 หรือที่ www.admincourt.go.th)