*** บริษัทในกลุ่มธนาคารต่างแจ้งผลการดำเนินงาน 4/65 ออกมา โดยธนาคารที่มีสัดส่วนการทำกำไรดีที่สุดในปีนี้คือ KTB โดยในปี 2565 ทั้งปีมีกำไร 33,697 ล้านบาท โตขึ้น 56.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา รองลงมาคือ TTB มีกำไร 14,195 ล้านบาท โตขึ้นถึง 35.5%
ขณะที่ทางด้านของ KBANK กลายเป็นธนาคารที่สัดส่วนของการทำกำไรน้อยที่สุด นั่นคือ ลดลงถึง -6% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว แต่แม้ว่าจะลดลงก็ยังมีกำไรถึง 35,769 ล้านบาท จะเป็นรองเพียงแค่ SCB ที่มีกำไร 37,546 ล้านบาท โดยมีกำไรเพิ่มขึ้น 5.5% เมื่อเทียบกับปีที่แล้วทั้งปี
ปัญหาหลัก ที่ทำให้กำไรของ KBANK ชะลอตัวลงมากที่สุดในปี 2565 มาจากสินเชื่อรายย่อย และ SME ที่มีคุณภาพอ่อนแอก่อนช่วงโควิดและตัวเลขการตั้งสำรองหนี้ที่สูงมาก
ขณะที่ในส่วนของ KTB ซึ่งกลายเป็นธนาคารที่มีกำไรโตขึ้นมากที่สุดในปี 2565 ส่วนหนึ่งเป็นผลต่อเนื่องมาจากแอป “เป๋าตัง” ซึ่งเป็นตัวผลักดันให้ KTB ก้าวเข้าสู่การเป็นฟินเทคฯ ได้อย่างเต็มตัว ขณะที่ล่าสุดการลงนามใน MOU เพื่อร่วมทุนจัดตั้ง Virtual Bank ร่วมกับ ADVANC ก็จะทำให้ KTB สามารถเข้าถึงกลุ่มข้อมูลที่มีฐานลูกค้ากว่า 45 ล้านราย จากเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ตของ ADVANC อาจจะทำให้กำไรรวมในปี 2566 ของ KTB มีโอกาสที่จะขยับขึ้นไปเป็นเบอร์ 1 และ เบอร์ 2 แทนที่ SCB และ KBANK ซึ่งมีกำไรมากกว่า เพียงแค่ 10% และ 7% ตามลำดับ ได้ไม่ยากเกินไปนัก
บอกเลยว่าในหุ้นกลุ่มธนาคารถือได้ว่า KTB น่าสนใจ..และมองข้ามไม่ได้จริงๆ
***หลังจากที่ DELTA เข้ามาอยู่ในดัชนีคำนวณหลักอย่าง SET50 และ SET100 ทำให้หุ้นที่มีความคลุมเครือจนถูกลากราคาขึ้นมาแรง เพราะความคาดหวังมีความชัดเจน และความชัดเจนที่ว่านี้ ก็ทำให้ราคาหุ้นที่ถูกดันราคาขึ้นไปถึงหุ้นละ 990 บาท ปรับราคาลงมาอยู่ที่ 800 บาทนิดๆ
ล่าสุดราคาหุ้นของ DELTA ถูกดันราคาขึ้นมายืนที่ราคาราว 900 บาท อีกครั้ง ด้วยสตอรี่เรื่องการแตกพาร์ ซึ่งก็เป็นความคลุมเครือว่า จะแตกพาร์ได้หรือไม่ได้แบบเดิมๆ แต่ครั้งนี้ขอบอกไว้ก่อนว่า ถึงแม้ DELTA จะได้แตกพาร์จริง ก็ไม่ได้หมายถึงการที่ราคาหุ้นจะปรับขึ้นไปอีกได้เรื่อยๆ ตามสภาพคล่องที่มีมากขึ้น
ยกตัวอย่าง หุ้นที่แตกพาร์ เช่น PTT หรือแม้แต่ TASCO ซึ่งเห็นแล้วว่า หลังจากแตกพาร์แล้ว ราคาหุ้นมีสภาพอย่างไร ดังนั้น อย่าไปคาดหวังกับการแตกพาร์ เก็บเวลาไปลุ้นรอบ หรือ ลุ้นผลการดำเนินงานกันดีกว่าเจ้าค่ะ
*** หุ้นที่เข้าตลาดฯ ตัวแรกของปี 2566 อย่าง SAF กลายเป็นตำนานโหดบทแรกของปี เนื่องจากราคาเปิดที่ 4.80 บาท จากราคาจองซื้อ 1.93 บาท ก่อนที่จะปิดราคาไปที่ 2.82 บาท มูลค่าซื้อขายทั้งสิ้น 3,226.57 ล้านบาท คิดเป็นปริมาณการซื้อขาย 979.33 ล้านหุ้น หากพิจารณาเนื้อใน จะพบว่า ปริมาณหุ้นที่หมุนเวียนสูงกว่า หุ้นไอพีโอถึง 12.23 เท่า และสูงกว่าจำนวนทุนจดทะเบียนทั้งหมดของบริษัทฯ ซึ่งมีทั้งหมด 300 ล้านหุ้น ถึง 3.26 เท่า
ด้วยช่องว่างที่เปิดให้การซื้อขายในวันแรก สามารถดันราคาหุ้นขึ้นไปได้ถึง 200% โดยที่ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของเงินสด...หรือเครดิต ทำให้การเล่นรอบ และการสร้างราคาหุ้นในวันแรกของการเข้าตลาดฯ กลายเป็นจุดที่ “นักปั่นหุ้น” ใช้หากำไรในระยะสั้น ในแบบที่แทบไม่มีข้อจำกัด
วิธีการทำราคาหุ้นแบบนี้ เจ๊เมาธ์เคยพูดถึงมาตลอด โดยครั้งนี้ วิธีการเหมือนกัน แต่จะแตกต่างไปในส่วนของกลุ่มของกลุ่มคนทำเท่านั้น และหลังจากนี้ก็คงจะมีหุ้นที่ถูกทำราคาในรูปแบบเดียวกัน ตามออกมาอีกหลายตัว ของแบบนี้มันต้องระวังตัวเอง ก็เตือนได้แค่เงินในกระเป๋าเป็นเงินเรา ต้องระวัง...อย่าให้ใครมาล้วงเอาได้ง่ายๆ เพราะถ้าออกไปแล้ว จะดึงเอากลับมาเหมือนเดิม เป็นเรื่องยากมาก
นักลงทุนกำลังเล่นกับไฟ ลุยหุ้นไฟฟ้าขึ้นมาเก็งกำไร พรุ่งนี้ใครได้-ใครผ่าน คุณสมบัติด้านเทคนิค โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เป็นแต้มต่อราคาหุ้น ผู้ประกอบการรายใหญ่เจ้าตลาด (หุ้น) ล้วนยื่นขอกันทั้งสิ้น ทั้ง โซลาร์ฟาร์ม, วินด์ฟาร์ม, โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม มากันพร้อมหน้า ตามไปลุ้นกันวันที่ 25 ม.ค.นี้
*** หุ้นมาสเตอร์สไตล์ (MASTER) รพ.ศัลยกรรม ชื่อดังแถวหน้าของเมืองไทย เจ้าของชื่อ “หมอเส-ระวีวัฒน์ มาสฉมาดล” คนเก่ง มากคอนเน็กชั่น เข้าตลาดหุ้น mai วันที่ 25 ม.ค.นี้ ไม่ต้องพูดถึงความร้อนแรงว่า จะระดับไหน เอาเป็นว่า หุ้นตัวนี้ นักลงทุนรายใหญ่ทั่วฟ้าเมืองไทย ถวิลหากันมั่กกกค่ะ
*** ใกล้เข้ามาทุกที แต่ก็กินเวลาไปไม่น้อยกว่า 2 เดือน นับจากวันที่ 10 พ.ย.2565 ที่มีคำสั่งซื้อ-ขาย หุ้น มอร์ รีเทิร์น (MORE) ที่ผิดปกติ จนบรรดาบริษัทหลักทรัพย์ใช้คำว่านี่คือ การปล้นโบรกเกอร์มโหฬารกว่า 4,300 ล้านบาท โดยอาศัยช่องโหว่จากการเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เปิดไว้โบรกเกอร์หลายที่ ในบัญชีเครดิตบาลานซ์ หรือ บัญชีที่สามารถสั่งซื้อหุ้นได้มากกว่ามูลค่าหลักทรัพย์ค้ำประกันในบัญชี โดยอาศัยการเป็นประวัติลูกค้าดี ไม่เคยมีรายการผิดนัดนัดชำระมาก่อนเป็นเครื่องการันตี...
นับจากนี้ไป เหลือเวลาอีกราว 15 วัน จะครบกำหนด 3 เดือน หรือ 90 วัน ในการตรวจสอบหลักฐาน เพื่อดำเนินการเอาผิดกับรายการซื้อขายผิดปกติที่เกิดขึ้น ท่ามกลางกระแสข่าวลือมากมาย ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ป.ป.ง.ได้เร่งรวบรวมพยานหลักฐานให้แน่นหนา ..ฟาก ก.ล.ต. จะเอาผิดการซื้อขายผิดปกติของหุ้น MORE ได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม นับถอยหลังจากนี้ คดีต้องไม่หายเข้ากลีบเมฆ ????
อย่าให้ความเชื่อมั่นและศรัทธาของสมาคมโบรกเกอร์ ที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม และระบบกำกับดูแลการซื้อขายหุ้น ภายใต้ ก.ล.ต.และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องสูญสิ้นหมดไป เพราะนั่นหมายถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนไทย-ต่างประเทศ ต่อระบบตลาดทุนไทย
หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,856 วันที่ 26 - 28 มกราคม พ.ศ. 2566