ตลาดหุ้นในยุคสงครามเย็น-รอบ 2

04 ก.ย. 2565 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ย. 2565 | 08:54 น.

โลกในมุมมองของ Value Investor บทความ "ตลาดหุ้นในยุคสงครามเย็น-รอบ 2 " โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนเน้นคุณค่า

สงครามเย็น ระหว่างมหาอำนาจเกิดขึ้นแทบจะทันทีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 มันเป็น “การต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นใหญ่” ระหว่างโซเวียตรัสเซียกับสหรัฐอเมริกา  โดยที่ฝ่ายรัสเซียนั้นมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ที่เน้นการควบคุมโดยรัฐ  และอเมริกามีอุดมการณ์ทางด้านทุนนิยมและกลไกของตลาดเสรีทางด้านเศรษฐกิจ  

 

การต่อสู้หรือสงครามเย็นนั้น  สหรัฐและรัสเซียไม่ได้รบหรือทำสงครามกันโดยตรง  เพราะถ้าทำแบบนั้นก็อาจจะเกิดสงครามนิวเคลียร์ที่สามารถทำลายโลกได้  ในช่วงสงครามเย็นจะเป็นการรบโดยใช้ “ตัวแทน” ซึ่งก็จะเป็น “ประเทศในเครือข่าย” ที่เป็นพวกพ้องของตนเข้าไปรบแทน  โดยที่อเมริกาหรือโซเวียตรัสเซียก็จะส่งอาวุธสนับสนุนฝ่ายของตน  ในหลาย ๆ  ครั้งก็อาจจะเข้าไปรบเองด้วยถ้าเห็นว่าฝ่ายของตนกำลังจะพ่ายแพ้

 

ในยุคสงครามเย็นยังพบว่ามี “การแข่งขัน” ระหว่างมหาอำนาจในแทบทุกด้านตั้งแต่ด้านอุดมการณ์ทางการเมืองที่พยายามเผยแพร่ว่าของตนเองดีกว่า  แข่งขันทางด้านเทคโนโลยีว่าใครจะก้าวหน้ากว่ากัน  และทางเศรษฐกิจว่าใครโตเร็วและใหญ่กว่ากัน  ทั้งหมดนั้นเป้าหมายที่สำคัญมากส่วนหนึ่งก็คือ  ต้องการหาพวกให้มากที่สุด  เพราะทั้งสองฝ่ายต่างก็รู้ว่า  การมีพวกมากนั้นได้เปรียบและจะเป็นฝ่าย “ชนะ” ในที่สุด  เพราะสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น เป็นบทเรียนให้รู้ว่า  คนที่มีพันธมิตรมากนั้น  ยังไงก็ชนะเพราะมีทรัพยากรในการต่อสู้ได้ไม่จำกัด
 

สงครามเย็น-ครั้งนั้น  จบลงในปี 1991 พร้อมกับการล่มสลายของสหภาพโซเวียต  ชัยชนะของสหรัฐทำให้อเมริกากลายเป็นอภิมหาอำนาจเพียงรายเดียวและไม่มีประเทศไหนจะท้าทายได้  และโลกก็เปลี่ยนไปเป็นยุคของ “Globalization” คือเน้นไปที่การค้าขายและการพัฒนาทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีโดยเฉพาะที่ไม่เกี่ยวกับการสงครามอย่างที่เคยเป็น

 

โดยที่จีนซึ่งเคยเป็น “เครือข่ายของฝ่ายโซเวียต” เพราะมีระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์   ก็มีการปรับตัวหันมาใช้ระบอบทุนนิยมตลาดเสรีเริ่มโดยเติ้งเสี่ยวผิง  ซึ่งสามารถพัฒนาประเทศก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 30 ปี ที่สามารถ “ท้าทาย” อเมริกาได้ทุกด้านเช่นเดียวกับโซเวียตรัสเซียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และต่อเนื่องถึงประมาณปี 1960 ที่สามารถพัฒนาประเทศจนเกือบ “ตามทัน” สหรัฐในทุกด้านทั้งทางเศรษฐกิจ  เทคโนโลยี และทางทหาร

 

และดังนั้น  “การต่อสู้เพื่อความเป็นใหญ่” จึงดูเหมือนว่ากำลังจะเกิดขึ้นในโลกอีกครั้งหนึ่ง  คราวนี้เป็นจีนกับสหรัฐโดยที่รัสเซียกลายเป็น “ประเทศเครือข่าย” ของฝ่ายจีน  และในครั้งนี้  “อุดมการณ์” ที่ใช้ในการชักชวนให้ประเทศอื่นเข้าเป็นพวกดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปและไม่ใช่คอมมิวนิสต์ที่ล่มสลายไปแล้ว  แต่เป็นเรื่องของ “ความเป็นประชาธิปไตย” กับความเป็น  “เผด็จการ” ที่แบ่งค่ายของแต่ละฝั่ง  และครั้งนี้ก็เช่นเดียวกับสงครามเย็น “ครั้งแรก” ประเทศทั้งหลายต่างก็แทบจะถูกบังคับให้เลือกว่าจะอยู่ฝั่งไหน  

 

การ “เป็นกลาง”  นั้น  ไม่ใช่เรื่องง่าย  และทั้งหมดนั้นก็นำมาสู่เรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดหุ้นซึ่งกลายเป็น Globalization ไปก่อนแล้วว่า  เราจะทำอย่างไรถ้า  “สงครามเย็น”  รอบนี้ดำเนินไปต่อเนื่องยาวนานแบบครั้งก่อน  เฉพาะอย่างยิ่ง ตลาดหุ้นทั่วโลกและในแต่ละประเทศจะเป็นอย่างไร?
  

มองจากประวัติศาสตร์โดยเฉพาะตลาดหุ้นอเมริกาหรือดัชนีดาวโจนส์ที่มีสถิติต่อเนื่องมานานเป็นศตวรรษ  ผมจะแบ่งเป็นช่วงหรือยุคโดยอิงกับเรื่องของสงครามทั้งสงครามร้อนและเย็น  เริ่มแรกก็คือ  ดัชนีดาวโจนส์หลังสงครามโลกในปี 1945 มาจนถึงประมาณปี 1960 หรือประมาณ 15-16 ปี เป็นช่วงของการ “ฟื้นตัว” จากสงคราม  

 

ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวขึ้นจาก 195 จุดในเดือนธันวาคม 1945 เป็น 721 จุดในเดือน สิงหาคม 1961 ทั้ง ๆ  ที่เกิดสงครามเย็นมาตลอด  หรือคิดแล้วดัชนีดาวโจนส์ให้ผลตอบแทนแบบทบต้นถึงปีละ 8.5% ซึ่งถ้ารวมปันผลก็อาจจะประมาณปีละ 10% ซึ่งถือว่าดีมากสอดคล้องกับการเจริญเติบโตที่ดีเยี่ยมของเศรษฐกิจอเมริกาในช่วงนั้น

 

ยุคของสงครามเย็นจริง ๆ  นั้น  ผมกำหนดให้เริ่มต้นในปี 1961 จนถึง 1991 เป็นเวลาประมาณ 30 ปี  โดยที่จุดเริ่มต้นนั้นตรงกับช่วงที่อเมริกากับโซเวียตต่อสู้หรือแข่งขันกัน “รุนแรงที่สุด”  ในด้านของสงครามนั้น  อเมริกาหนุนกลุ่มชาวคิวบาพลัดถิ่นกลับประเทศเพื่อล้มล้างฟิเดลคัสโตรซึ่งประกาศเป็นฝ่ายรัสเซียและเป็นคอมมิวนิสต์ที่อยู่หน้าบ้านอเมริกาแต่ก็พ่ายแพ้  ปีต่อมาโซเวียตก็ขนจรวดติดหัวรบปรมาณูเตรียมมาตั้งที่คิวบาซึ่งทำให้เกิดวิกฤติปรมาณูที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เพราะอเมริกายื่นคำขาดว่าถ้าไม่ถอยก็เกิดสงคราม  ซึ่งทำให้รัสเซียถอยกลับไป

 

ในด้านของเทคโนโลยีเองนั้น  ระดับการพัฒนาของโซเวียตในปี 1961 ดูเหมือนว่าจะใกล้เคียงกับสหรัฐมาก  นอกเหนือจากระเบิดนิวเคลียร์ซึ่งรัสเซียสามารถผลิตได้หลังอเมริกาเพียงไม่กี่ปีแล้ว  ในด้านของการ “พิชิตอวกาศ” โซเวียตกลับเป็นฝ่ายนำ  สามารถส่งจรวดสปุตนิกสู่วงโคจรโลกได้ก่อนอเมริกาเช่นเดียวกับการส่งยูริ กาการิน ขึ้นไปสู่อวกาศเป็นคนแรกในปี 1961 แม้ว่าสหรัฐจะสามารถส่งอาลัน เชพเพิร์ดตามมาในเวลาไม่ถึงเดือน  
ส่วนในด้านของเศรษฐกิจเองนั้น  โซเวียตมีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองและรองจากอเมริกาไม่มาก

 

ยุคของสงครามเย็นยังเกิดเหตุการณ์มากมายรวมถึงสงครามเวียตนามที่อเมริกาต้องเข้าไปรบเต็มตัวร่วมกันฝ่ายเวียตนามใต้ต่อสู้กับเวียตนามเหนือที่มีโซเวียตและจีนสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง  สงครามเวียตนามก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจและเงินเฟื้อรุนแรงส่งผลกระทบกับตลาดหุ้นรุนแรงเป็นวิกฤติในช่วงปี 1973-74  ประเทศไทยเองก็กลายเป็น “มหามิตร” ของสหรัฐ  มีการประกาศ “ปฏิญญากรุงเทพ” ในปี 1967 เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสนธิสัญญาที่ก่อให้เกิด “ASEAN”

 

ดัชนีดาวโจนส์ในช่วง 30 ปี ของยุคสงครามเย็นมีการปรับตัวขึ้นอย่างกระท่อนกระแท่นเพราะปัญหาต่าง ๆ  มากมายอานิสงค์จากสงครามเย็น  จาก 721 จุด ในปี 1961 เพิ่มขึ้นเป็น  3,102 จุด ในปี 1991 ที่สงครามเย็นสงบ หรือเพิ่มขึ้นเพียง 5% ต่อปีแบบทบต้นในช่วงเวลา 30 ปี  ซึ่งก็เห็นได้ชัดว่าสงครามเย็นนั้นน่าจะเป็นสิ่งที่เลวร้ายมากสำหรับตลาดหุ้นในระยะยาว และสิ่งที่ช่วยยืนยันก็คือ  

 

หลังจากสงครามเย็นจบลงและโลกต่างก็มุ่งหน้าค้าขายโดยมีการ “พัฒนาประชาธิปไตย” และการ “เปิดเสรี” ทางด้านเศรษฐกิจทั่วโลก  ดัชนีดาวโจนส์ในช่วง 30 ปีต่อมาจากปี 1991 ถึงสิ้นปี 2021 เพิ่มขึ้นจาก 3,102 จุดเป็น 36,585 จุด หรือเป็นการเพิ่มขึ้นปีละ 8.57% แบบทบต้นและแทบจะเท่ากับช่วงการฟื้นตัวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  และนี่ก็เป็นการยืนยันอีกครั้งหนึ่งว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนในตลาดหุ้นอเมริการะยะยาวในภาวะปกตินั้นอยู่ที่ประมาณ ปีละ 10% แบบทบต้น

 

ประเด็นสำคัญที่จะต้องตระหนักก็คือ  นี่คือช่วงเวลาของการเริ่มต้นสงครามเย็นรอบใหม่ที่จะดำเนินต่อไปยาวนานหรือไม่?  และถ้าใช่  ผลกระทบกับตลาดหุ้นจะเหมือนเดิมไหม?  

 

ถ้าดูเฉพาะเหตุการณ์ในช่วงสั้น ๆ  ที่ผ่านมาก็ดูเหมือนว่ามันกำลังซ้ำรอยสงครามเย็นรอบแรก  โดยที่อเมริกากับโซเวียตมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกันไปคนละขั้ว  คือประชาธิปไตยกับเผด็จการคอมมิวนิสต์  ซึ่งก็เหมือนกับสหรัฐกับจีนเช่นเดียวกัน  พลังอำนาจและศักยภาพทางเศรษฐกิจระหว่างอเมริกากับโซเวียตในช่วงเริ่มต้นสงครามเย็นใกล้เคียงกันมาก  โดยที่โซเวียตไล่กวดสหรัฐมาอย่างรวดเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่ 2   เช่นเดียวกับจีนที่ไล่กวดอเมริกาอย่างรวดเร็วอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในประวัติศาสตร์และภายในไม่กี่ปีก็จะทัน

 

ในด้านของเทคโนโลยีเองนั้น สหรัฐกับโซเวียตแทบจะเสมอกันในช่วงเริ่มต้นสงครามเย็น  บางด้านอเมริกาก็นำ  บางด้านโซเวียตก็นำโดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวกับการทำสงคราม  เช่นเดียวกับจีนที่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีบางอย่างที่นำอเมริกาไปแล้ว แม้ว่าอีกกว่าครึ่งอาจจะตามอยู่  ดังนั้น  นี่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ทำให้สงครามเย็นเกิดขึ้นได้  และว่าที่จริง  เหตุการณ์ในช่วงเร็ว ๆ  นี้ก็บ่งชี้ว่าทั้งสองฝ่ายกำลังทำอยู่  

 

โดยจุดเริ่มต้นอาจจะเป็นเรื่องรัสเซียบุกยูเครนโดยที่จีนสนับสนุน  ในขณะที่อเมริกาและพรรคพวกโดยเฉพาะนาโต้ก็สนับสนุนยูเครนเต็มที่  ต่อมาก็เกิดเหตุการณ์ไต้หวันกับจีน  ซึ่งทั้งสองเรื่องก็ตามมาด้วยการแซงชั่นต่าง ๆ  ทั้งจากฝ่ายอเมริกาและจีนซึ่งในที่สุดก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นได้

 

สุดท้ายก็คือ  ประเทศเครือข่ายของแต่ละฝ่ายที่ถ้าหากสงครามเย็นดำเนินต่อไป  ก็จะกระทบโดยเฉพาะต่อตลาดหุ้นที่เราจะเข้าไปลงทุน  ในสงครามเย็นรอบแรกนั้นชัดเจนว่าเครือข่ายของฝ่าย “โลกเสรี” ซึ่งเป็นฝ่ายชนะนั้น  ได้ประโยชน์ไปเต็ม ๆ  อาทิ  เกาหลี  ไต้หวัน  สิงคโปร์  ฮ่องกง  และไทย  ที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีมาก  รอบนี้เราคงจะต้องดูกันต่อไป  ผมก็ได้แต่หวังว่าในกรณีของไทยเราจะเลือกข้างถูก