ปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และในปี 2583 เราจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และจะมีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป มากถึง 3,500,000 คน โดยประเทศไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงการสร้างให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub หรือ Medical Tourism เพื่อเอื้อต่อชาวต่างชาติในวัยเกษียณ
เนื่องจากชีวิตหลังเกษียณเป็นช่วงชีวิตที่หลายคนไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จึงแสวงหาสถานที่เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงติดอันดับ 9 และเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเซียที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณ จากการสำรวจของ International Living : The World’s Best Places to Retire in 2023 โดยการจัดอันดับดังกล่าว มีหลักเกณฑ์สำคัญๆ ได้แก่ ค่าครองชีพ อาหาร ค่ารักษาพยาบาล ความสะดวกของวีซ่า ภูมิอากาศ ประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น
ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านค่าครองชีพต่ำ สภาพแวดล้อมที่ดี ภูมิอากาศไม่หนาวหรือร้อนเกินไป อาหารการกินมีความหลากหลายและอร่อยติดอันดับโลก อีกทั้งคนไทยมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ตั้งแต่ระดับมาตรฐานไปจนถึงระดับพรีเมียม
มีการบริการด้านการรักษาพยาบาลและทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงและใช้เทคโนโลยีทันสมัยระดับโลกและในปัจจุบัน ประเทศไทยของเราได้กำหนดมาตรการในการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าไทย โดยขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามในบางกลุ่มประเทศ กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลรวม 90 วัน
รวมถึงขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี โดยมีการนำร่องใน 14 ประเทศก่อน ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา
ดังนั้น เรายังคงมีโอกาสอีกมากโดยเฉพาะด้านบริการการแพทย์และการดูแลฟื้นฟูศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ ซึ่งแนวทางในการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองแบบ universal design ก็มีบทบาทสำคัญพอๆ กับการจัดการสภาพแวดล้อมด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ การพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกันนั้น อุปทานแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและวัคซีน เครื่องมือและเวชภัณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาพรวมมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ มีการคาดการณ์จาก The Insight Partner ว่า
ในปี 2570 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า สัดส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดโลกที่ 744.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าไทยเราจะเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลกก็ตาม แต่ด้วยมูลค่าที่น้อย เพราะเป็นสินค้าผันแปรและราคาถูก ทำให้ภาพรวมมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยจึงไม่สูงนัก เป็นต้น
ดังนั้น การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นพลังสำคัญที่จะนำพา Medical Hub ไปสู่การสร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยใช้การสาธารณสุขเป็นตัวนำ และผมยังมีความหวังว่า รัฐบาลสมัยหน้าจะสานต่อ Medical Hub ควบคู่ไปกับการส่งเสริมธุรกิจด้านสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวและพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุคุณภาพอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,866 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2566