สถิติคนไทยป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และไขมันเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่อายุยังน้อย ถือว่ามีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจเสื่อมสภาพเร็วกว่าปกติ ทำให้มีเสี่ยงเป็นโรคต่อเนื่อง โดยเฉพาะโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวาย
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 58,681 คน หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 7 คน พบได้ในทุกช่วงวัย แต่จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดที่พบได้บ่อย คือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คือการที่เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ซึ่งมีทั้งแบบเรื้อรังและเฉียบพลัน หรือที่หลายๆ คนเรียกว่า “หัวใจวาย” เป็นภาวะที่ทำให้เสี่ยงเสียชีวิตแบบกะทันหัน
แพทย์หญิงทรายด้า บูรณสิน อายุรแพทย์โรคหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลเวชธานี กล่าวว่า อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยขณะออกแรง เพลีย นอนราบไม่ได้ เจ็บหน้าอก ทั้งแบบทันทีทันใดหรือเจ็บแบบเป็นๆ หายๆ จุกเสียดลิ้นปี่ หายใจไม่ค่อยออก แน่นหน้าอกคล้ายมีของหนักทับ อาจร้าวไปที่คอ หัวไหล่หรือแขนด้านซ้าย ซึ่งจะมีอาการประมาณ 20-30 นาที นั่งพักแล้วอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น
แต่ในรายที่รุนแรงหรือเป็นแบบเฉียบพลัน อาจหมดสติหรือหัวใจหยุดเต้น มักเกิดในผู้ชายที่อายุมากกว่า 45 ปี ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี หรือวัยหมดประจำเดือน รวมถึงกลุ่มที่สูบบุหรี่เป็นประจำ ขาดการออกกำลังกายทำให้เลือดไหลเวียนไม่สะดวก เผาผลาญพลังงานได้น้อย เกิดไขมันสะสม มีประวัติครอบครัวป่วยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ตลอดจนผู้ป่วยโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งทั้ง 3 โรคนี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
หากสังเกตตัวเองแล้วพบว่ามีอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือเจ็บจุกเหมือนมีอะไรกดทับที่หน้าอก เหนื่อยง่าย หายใจไม่สุด เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม หมดสติหรืออาจรุนแรงถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น อาจบ่งชี้ได้ว่าหลอดเลือดหัวใจมีภาวะตีบมากกว่า 50% ควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย ประกอบด้วย
1. การตรวจหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Coronary CT Angiography) ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อตรวจหาภาวะตีบ ตัน หรือรั่ว
2. การสวนหัวใจหรือฉีดสีดูหลอดเลือดหัวใจ ด้วยการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูทางเดินหลอดเลือดหัวใจ และดูความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของลิ้นหัวใจ
หากประเมินแล้วพบว่าผู้ป่วยมีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบรุนแรง แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการทำบอลลูนหัวใจเพื่อใส่ขดลวดค้ำยัน เพื่อป้องกันภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ซึ่งอาจนำไปสู่การเสียชีวิตกะทันหันได้
“การดูแลสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่เพิ่มไขมันดีและลดไขมันเลว รวมถึงไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ซึ่งเป็นไขมันที่เกิดจากน้ำตาล แป้ง หรืออาหารที่ทำให้อิ่มท้องได้นาน เพราะถ้ามีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงก็จะเพิ่มโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยังควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของหัวใจและลดไขมันในเลือด พักผ่อนให้เพียง นอนให้ได้คุณภาพและหลีกเลี่ยงภาวะเครียดได้”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565