‘ลิ่มเลือดอุดตัน’ รู้เร็ว ลดการตายเฉียบพลัน

24 ต.ค. 2565 | 11:25 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ต.ค. 2565 | 18:29 น.

Tricks for Life

“ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ” หรือ “Venous Thromboembolism” (VTE) เป็นภัยเงียบที่น้อยคนจะรู้จักและเข้าใจถึงอันตราย มีข้อมูลพบว่า 1 ใน 4 ของประชากรทั่วโลกเสียชีวิตจากภาวะหลอดเลือดอุดตัน สถานการณ์ในประเทศไทย อ้างอิงข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการสำรวจผู้ป่วยใน ระหว่างปี 2559 - 2563 พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือ Pulmonary Embolism (PE) เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ขณะที่ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขาเพิ่มขึ้น 1.3 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

              

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ ถือเป็นภัยเงียบที่แฝงอยู่ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง อาทิ ผู้ที่เป็นโรคมะเร็งโรคติดเชื้อ โรคเบาหวาน โรคอ้วน รวมถึงพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์ ชอบกินของทอด ล้วนเป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้เกิดโรคลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำทั้งสิ้น และอาจอันตรายถึงชีวิต

‘ลิ่มเลือดอุดตัน’  รู้เร็ว ลดการตายเฉียบพลัน               

ภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่หลอดเลือดดำมักจะเกิดขึ้นที่ขาและที่ปอด โดยลิ่มเลือดจะเริ่มก่อตัวและทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำลึกของร่างกาย หรือ Deep Vein Thrombosis (DVT) เกิดที่ขาเป็นส่วนใหญ่ และอาจหลุดเข้าไปยังปอด เรียกว่าภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด หรือ Pulmonary Embolism (PE) ทำให้มีอาการหายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ไอเป็นเลือด ซึ่งบางรายอาจถึงขั้นเสียชีวิตเฉียบพลัน

 

โดยผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ มักจะไม่ทราบว่าตนเองเป็น มากถึง 80% ของผู้ป่วยไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยที่แสดงอาการมักจะมีลิ่มเลือดอุดตันขนาดใหญ่แล้ว จึงมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนมาก ดังนั้น การรณรงค์ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง สามารถป้องกันตนเองจากโรคนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก

              

สาเหตุหลักมาจาก

1. เลือดไหลเวียนช้า เช่น การนั่งหรือนอนอยู่เฉยๆ เป็นเวลานาน

2. การบาดเจ็บของหลอดเลือด เช่น กลุ่มนักกีฬาที่ออกกำลังกายหนัก ๆ จนเกิดการบาดเจ็บของหลอดเลือด

3. การแข็งตัวของเลือด หรือภาวะทางพันธุกรรม

              

อาการของภาวะลิ่มเลือดอุดตัน ไม่ได้มีความจำเพาะเจาะจง อาการที่แสดงออกจึงหลากหลาย เช่น ผู้ป่วยภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ขา จะมีอาการปวดขา ขาบวม ผิวหนังที่ขาเปลี่ยนสีไปจากเดิม ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้ ผู้ป่วยควรขอให้มีการตรวจร่างกาย ตรวจวินิจฉัยภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่ขาร่วมด้วย ส่วนในกรณีที่เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำที่ปอด ผู้ป่วยจะมีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก หัวใจเต้นเร็ว หน้ามืดหรืออาจหมดสติ ไอเป็นเลือด

              

การป้องกันในเบื้องต้นสามารถทำได้โดยหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากการมีโรคประจำตัว หมั่นขยับร่างกาย ออกกำลังกาย และไม่ควรอยู่ในท่าเดิม ๆ เป็นเวลานาน ควรเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่เกณฑ์มาตรฐาน และควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี รวมถึงตรวจเช็กความผิดปกติของหัวใจ

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,829 วันที่ 23 - 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565