‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’ ภัยเงียบที่คุณผู้ชาย ไม่ควรมองข้าม

04 ม.ค. 2566 | 00:12 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ม.ค. 2566 | 07:15 น.

Tricks for Life

กรณีนักแสดงชายเสียชีวิตด้วย “โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก” กระตุกให้ชายไทยต้องลุกขึ้นมาสำรวจตัวเอง

 

“โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก” ปัจจุบันพบมากเป็นอันดับ 4 ของมะเร็งที่พบทั้งหมดในเพศชาย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งประเทศไทยโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (Cancer in Thailand Vol.X (2016-2018) สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข) รายงานผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากรายใหม่วันละ 10 ราย หรือ 3,755 รายต่อปี เสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมาก วันละ 5 ราย หรือ 1,654 รายต่อปี

              

“นพ.ศุภวัฒน์ ศิริคุปต์” นายแพทย์ชำนาญการด้านศัลยกรรมมะเร็งระบบทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก ผู้ป่วยมักมาด้วยก้อนเนื้อมะเร็งกดเบียดท่อปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะลำบาก ไม่พุ่ง ต้องเบ่ง ปัสสาวะมีเลือดปน ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะเรื้อรัง แต่ในระยะแรก ๆ นั้น ไม่มีอาการแสดงใดๆ อาจต้องทำการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก ร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างน้อยปีละครั้งในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี

 

สำหรับความรุนแรงของตัวโรคนั้น อาจมีการลุกลามไปต่อมน้ำเหลือง กดเบียดอวัยวะข้างเคียง กดเบียดท่อปัสสาวะทำให้ปัสสาวะเป็นเลือดสดๆ ปัสสาวะไม่ออก มีการลุกลามไปกระดูก ปวดกระดูกรุนแรง มีการหักของกระดูกสันหลัง เกิดเส้นประสาทกดทับจนเดินไม่ได้ และมีการลุกลามไปอวัยวะภายในอื่นๆ ได้

‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’ ภัยเงียบที่คุณผู้ชาย ไม่ควรมองข้าม                              

แนวทางการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก หากตรวจให้พบในระยะแรกนั้น สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัดเอาต่อมลูกหมากและต่อมน้ำเหลืองในอุ้งเชิงกรานออก ปัจจุบันมีความก้าวหน้ามาก สามารถผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (Laparoscopic surgery) หรือใช้หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด (Robotic-assisted surgery)

 

ซึ่งผู้ป่วยฟื้นตัวได้ไวมากขึ้น และเสียเลือดน้อยลง ในบางครั้งหากผู้ป่วยมีความเสี่ยงในการผ่าตัด หรือไม่อยากผ่าตัด อาจเลือกใช้วิธีการฉายแสง (Radiotherapy) ซึ่งในระยะต้นๆ อาจทำให้หายขาดได้เช่นกัน

 

ส่วนรายที่ลุกลามไปกระดูกแล้วก็ยังช่วยลดความเจ็บปวดได้อีกด้วย การรักษาด้วยการลดฮอร์โมนเพศชาย เนื่องจากมะเร็งมีการกระตุ้นและโตขึ้นจากฮอร์โมน Testosterone การฉีดยาลดฮอร์โมน หรือผ่าตัดเอาอัณฑะออก ทำให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ การรักษาด้วยเคมีบำบัดเป็นการให้ยาทางเส้นเลือดเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง มักใช้ในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาที่กล่าวข้างต้นแล้ว หรือมีการกระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ผลข้างเคียงในการรักษาจะมากกว่าวิธีอื่นๆ

              

การป้องกันโรคมะเร็งต่อมลูกหมากก็พอจะมีอยู่บ้าง เช่น จากการศึกษาสารที่พบในมะเขือเทศ โดยเฉพาะสารที่เรียกว่า Lycopene ถ้าทานอย่างน้อย 10-30 มิลลิกรัม/วัน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ และที่สำคัญที่สุดคือ การดูแลสุขภาพและตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากในผู้ป่วยแต่ละคนอาจจะมีความแตกต่างกันได้ขึ้นกับหลายปัจจัย

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,847 วันที่ 25 - 28 ธันวาคม พ.ศ. 2565