‘ข้อไหล่ติด’ปวดเรื้อรัง แก้ได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง

12 มี.ค. 2566 | 07:01 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 14:00 น.

‘ข้อไหล่ติด’ปวดเรื้อรัง แก้ได้ด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง คอลัมน์ Tricks for Life

โรคข้อไหล่ติด กลายเป็นโรคยอดฮิตที่ใครหลายคนกำลังเผชิญ

จากจุดเริ่มต้นของ “อาการปวดไหล่” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ อาทิ กล้ามเนื้ออักเสบ กล้ามเนื้อฉีกขาดจากการยกของหนักหรือยกของผิดท่า การใช้ไหล่ต่อเนื่องเป็นเวลานาน หรือจากออฟฟิศซินโดรม ทั้งนี้หากมีอาการปวดไหล่แล้วใช้งานข้อไหล่หนักซ้ำๆ จนมีอาการปวดไหล่เรื้อรัง ขยับแขนได้น้อยลง จนกระทั่งยกแขนขึ้นได้ไม่สุด อาจเป็นสัญญาณเตือนของ “โรคข้อไหล่ติด”

โรคข้อไหล่ติดมักพบได้ตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบมากในช่วงอายุ 50-60 ปี ผู้หญิงมักจะมีอาการมากกว่าผู้ชาย เป็นอาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อถุงหุ้มข้อไหล่อักเสบหรือผิดปกติ ทำให้มีอาการปวดไหล่และขยับข้อไหล่ลำบากหรือยกแขนได้ไม่สุด อาการเบื้องต้นที่เข้าข่ายว่าเป็นโรคนี้ เช่น ยกแขน 2 ข้างได้ไม่เท่ากัน สวมใส่เสื้อผ้าหรือชุดชั้นในแล้วเกิดความเจ็บปวด เอี้ยวตัวหยิบของด้านหลังไม่ได้ ผลักประตูหนักๆ ไม่ได้ ปวดไหล่เรื้อรังและปวดรุนแรงในช่วงกลางคืน

Tricks for Life

นพ.รัฐภูมิ วัชโรภาส ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ-เวชศาสตร์การกีฬาและโรคข้อไหล่และข้อเข่า โรงพยาบาลเวชธานี ระบุว่า อาการของโรคข้อไหล่ติดจะแบ่งเป็น 3 ระยะคือ ระยะเริ่มแรก คือระยะอักเสบรุนแรง เป็นระยะที่จะทำให้ปวดไหล่มากที่สุดเมื่อขยับหรือเคลื่อนไหว และจะปวดมากในเวลากลางคืน ผู้ป่วยจะปวดไหล่มากในช่วง 3 เดือนแรก

แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปเข้าสู่เดือนที่ 3 - 9 อาการจะเข้าสู่ระยะยึดติด ระยะนี้อาการปวดไหล่จะเริ่มลดลง แต่จะมีอาการข้อติดมากขึ้น และเจ็บตอนเคลื่อนไหว ส่งผลให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมลำบากและสุดท้ายเมื่อเข้าสู่ระยะคลายตัว เป็นระยะที่ร่างกายเริ่มฟื้นตัวได้เอง โดยใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปี หรือบางรายอาจใช้เวลานานกว่า 2 ปี ซึ่งอาการปวดและไหล่ติดจะค่อย ๆ ทุเลาลงอย่างช้าๆ

ส่วนใหญ่อาการปวดโดยรวมจะดีขึ้น แต่ข้อไหล่จะไม่สามารถฟื้นตัวและกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพราะเมื่อไหล่ติดนานๆ โดยไม่ได้ขยับ กล้ามเนื้อจะอ่อนกำลังทำให้แรงในการใช้ข้อไหล่ลดลง ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันในระยะยาว เช่น ติดตะขอเสื้อใน หวีผมไม่ได้ ยกของขึ้นที่สูงไม่ได้จากการอ่อนแรง และทำงานที่ต้องชูแขนเหนือศีรษะไม่ได้

แม้ร่างกายจะฟื้นฟูและรักษาอาการไหล่ติดเองได้แม้จะไม่ใช่โรคร้ายแรงแต่ต้องอาศัยระยะเวลาในการรักษา หากผู้ป่วยมีอาการไม่มากนักจะรักษาด้วยวิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัด คือการใช้ยาแก้ปวดและลดอักเสบ งดการขยับแขนข้างที่ข้อไหล่ติด หากอาการอักเสบบรรเทาลงแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยทำกายภาพบำบัดเพื่อลดอาการบาดเจ็บและฟื้นฟูข้อไหล่ ทำให้สามารถขยับหัวไหล่มากขึ้น

เมื่อรักษาด้วยยาและการทำกายภาพบำบัดแล้วผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น หรือมีข้อไหล่ติดจากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นในข้อไหล่ จะใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อตัดเนื้อเยื่อพังผืด และซ่อมแซมเส้นเอ็น ซึ่งการผ่าตัดในปัจจุบันไม่น่ากลัวเหมือนเมื่อก่อนเพราะมีเทคโนโลยีการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยแผลผ่าตัดจะมีขนาด 1 เซนติเมตรเท่านั้น จึงลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อและผิวหนังช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวและกลับมาทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น

ดังนั้นหากมีอาการปวดไหล่ ทั้งการปวดที่ทราบสาเหตุหรือไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบมาพบแพทย์เฉพาะทางถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้เกิดอาการปวดไหล่เรื้อรัง ข้อไหล่ยึดติด ข้อไหล่หลวม หรือมีโรคบางอย่างแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายมากขึ้นได้ หลาย ๆ ครั้งอาการผิดปกติเช่นนี้อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงบางอย่างได้ เช่น มะเร็งกระดูก หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เอ็นไหล่ฉีกขาดได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,869 วันที่ 12 - 15 มีนาคม พ.ศ. 2566