“บุหรี่ไฟฟ้า” เริ่มได้รับความนิยมสูงขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ ด้วยความเชื่อที่ว่าปลอดภัยกว่าการสูบบุหรี่ทั่วไป ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดโรคต่างๆมากมาย ทั้งโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคระบบทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง วัณโรคปอด มะเร็งปอด ฯลฯ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว “บุหรี่ไฟฟ้า” ปลอดภัยจริงหรือ?
นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ข้อมูลว่า ควันจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เป็นตัวจุดชนวนสร้างสารอนุมูลอิสระ (Free Radical) ซึ่งมีผลต่อสุขภาพ ก่อให้เกิดโรคเรื้อรังได้ หากมีการสะสมในปริมาณสารมากและเป็นระยะเวลานาน จะทำให้ป่วยเป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดหัวใจ
หรือแม้กระทั่งโรคทางเดินหายใจและปอด สารอนุมูลอิสระที่เกิดจากการเผาไหม้ของเหลวในบุหรี่ไฟฟ้าจะดูดซึมเข้าไปกระตุ้นให้หลอดเลือดเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ยืดหยุ่น เปราะบาง อันจะก่อให้เกิดการอักเสบของหลอดเลือด จนเกิดเป็นลิ่มเลือดเข้าไปอุดตันหลอดเลือด และอาจส่งผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบได้
“ภัยของบุหรี่ไฟฟ้า โดยของเหลวอันเป็นสารประกอบต่างๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้านั้น แม้จะยังไม่มีสถิติหรืองานวิจัยระบุว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีพิษร้ายแรงเช่นไร แต่ของเหลวที่ถูกเผาไหม้จากบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา จะสามารถแทรกซึมเข้าไปในปอดส่วนลึกได้และรวดเร็ว เนื่องจากไอระเหยเหล่านั้นมีอนุภาคที่เล็ก จึงง่ายต่อการดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว
“ถ้าต้องการหลีกเลี่ยงโรคหัวใจ ก็ควรงดการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพราะอย่างน้อยก็จะตัดปัจจัยเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ จากสถิติพบว่า1 ใน 3 ของผู้ที่เสียชีวิตจากโรคหัวใจนั้นมาจากบุหรี่”
ปัจจุบันเทคโนโลยีในวงการแพทย์ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากอดีต โดนมีวิวัฒนาการที่ก้าวไปไกลมากขึ้น รวมถึงมีเทคโนโลยีที่แม่นยำ อาทิ การตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจโดยการวิ่งบนสายพาน (Exercise Stress Test) การตรวจสมรรถภาพหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiogram)
หรือการตรวจวัดระดับแคลเซียมบริเวณผนังหลอดเลือดหัวใจ (CT Coronary Calcium Score) การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม การทำงานของไต ระดับไขมันคอเลสเตอรอล ระดับไขมันความหนาแน่นสูง-ต่ำ และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้รู้ว่าความเสี่ยงและแนวโน้ม ที่อาจจะทำให้เกิดโรคหัวใจในอนาคต
ฉะนั้นนอกเหนือจากการงดสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ส่งผลต่อสุขภาพ เช่น ในที่โล่งแจ้ง ฝุ่นละออง ควัน ฝุ่นPM2.5 ฯลฯ เพื่อความปลอดภัยในสุขภาพจึงควรตรวจเช็กหัวใจกับแพทย์เป็นประจำทุกปีด้วย
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566