ดาต้า..กุญแจข้ามพรมแดน ธุรกิจเฮลท์แคร์ (Data-Driven Healthcare)

09 มิ.ย. 2566 | 10:46 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 06:37 น.

ดาต้า..กุญแจข้ามพรมแดน ธุรกิจเฮลท์แคร์ (Data-Driven Healthcare) คอลัมน์ Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในยุคที่การสื่อสารเต็มไปด้วยข้อมูลมากมายผ่านรูปแบบและช่องทางที่หลากหลาย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ข้อมูลบางประเภท เช่น ข้อมูลสุขภาพ หรือข้อมูลพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน จากที่ในอดีตไม่เคยปรากฏหรือไม่เคยจัดเก็บมาก่อน กลายมาเป็นตัวช่วยที่ทำให้แพทย์สามารถนำมาใช้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างรอบด้าน

จนนำไปสู่การพัฒนาระบบการแพทย์สมัยใหม่ นอกจากนี้ ในเวทีระหว่างประเทศก็ยังหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของข้อมูลด้านสุขภาพ (Global Health Governance) มาพูดคุยเพื่อให้เกิดกติกามาตรฐานร่วมกัน ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน

ดาต้า..กุญแจข้ามพรมแดน ธุรกิจเฮลท์แคร์ (Data-Driven Healthcare)

วงการนักวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analyst) มักกล่าวกันว่า “garbage in garbage out” หมายความว่า เมื่อเรานำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือข้อมูลขยะเข้ามาในระบบ แม้ว่าจะมีขั้นตอนในการจัดการหรือประมวลผลที่ดี ผลลัพธ์ที่ออกมาก็เป็นขยะหรืออาจนำไปใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้อยู่ดี

ดังนั้นพื้นฐานสำคัญที่สุดของการวิเคราะห์และนำข้อมูลไปใช้ ก็คือ ต้นทางต้องมีกระบวนการจัดเก็บและแยกแยะข้อมูลอย่างเป็นระบบและถูกวิธี ซึ่งในปัจจุบัน มีหลายบริษัทในประเทศไทยที่ตื่นตัวกับเรื่องนี้ เนื่องจากมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) โดยเฉพาะในธุรกิจสถานพยาบาล

ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติสถานพยาบาลและข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งจะมีวงรอบของการทำลายข้อมูลประวัติการรักษาเก่าด้วย นับเป็นความก้าวหน้าในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลขั้นพื้นฐาน ประกอบกับในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ทำให้การบริหารจัดการด้านการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลมีประสิทธิภาพมากขึ้นและสามารถนำข้อมูลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ได้จริง และนับเป็นความท้าทายสำคัญของธุรกิจเฮลท์แคร์ที่เติบโตมากในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมานี้

ดาต้า..กุญแจข้ามพรมแดน ธุรกิจเฮลท์แคร์ (Data-Driven Healthcare)

ก้าวต่อไปของทั้งธุรกิจเฮลท์แคร์และหน่วยงานสาธารณสุขของไทยในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven) ที่ถูกจัดเก็บและประมวลผลอย่างถูกวิธี นั้น จะสามารถช่วยลดต้นทุนและงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศลงได้ โดยเฉพาะการจัดการรับมือ (Disease Control) กับโรคอุบัติใหม่หรือโรคอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

นอกจากนี้ ข้อมูลด้านสุขภาพยังสามารถนำไปใช้ในการพยากรณ์โรค การพัฒนายาหรือเวชภัณฑ์ในการดูแลป้องกันและรักษาโรคต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงของข้อมูลนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาทางการแพทย์ให้มีความก้าวหน้า รวมไปถึงการดูแลและรักษาผู้ป่วยให้มีความปลอดภัยและแม่นยำมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

แต่สิ่งที่ผมอยากชวนทุกท่านคิดในเรื่องใกล้ตัว ก็คือ ในปัจจุบันนี้ เราทราบหรือไม่ว่าข้อมูลด้านสุขภาพของพวกถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจายอยู่ที่ไหนบ้าง หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยตรงในการรวบรวมและประมวลผลข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในแง่ของการจัดการ

ดาต้า..กุญแจข้ามพรมแดน ธุรกิจเฮลท์แคร์ (Data-Driven Healthcare)

ด้านสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน หรือการต่อยอดสู่นโยบายสาธารณะ มีความสามารถในการดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยขนาดไหน เพื่อตามให้ทันกับยุคการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี นี่คือรถไฟด่วนขบวนสำคัญที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในอนาคต หากเราไม่อยากตกขบวน ก็ต้องเร่งเรียนรู้และนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด เพื่อสุขภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทยในระยะยาว

หน้า 15  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,894 วันที่ 8 - 10 มิถุนายน พ.ศ. 2566