มะเร็งรักษาได้ทุกที่...ที่พร้อม

04 เม.ย. 2566 | 21:56 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 13:00 น.

มะเร็งรักษาได้ทุกที่...ที่พร้อม คอลัมน์ Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

โรคมะเร็งถือเป็นหนึ่งในโรคร้ายที่พบได้ในทุกเพศทุกวัย และแนวโน้มอัตราการเกิดโรคก็สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กระบวนการวินิจฉัยโรคและการเข้าถึงการรักษาอย่างทันท่วงทีจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยในความเป็นจริง ผู้ป่วยจำนวนมากมักมีความสับสนและขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรักษาโรคมะเร็ง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งเต้านม อาจรู้สึกสงสัยว่าทำไมถึงต้องผ่าตัดเต้านม? ให้ยาเคมีบำบัดอย่างเดียวได้หรือไม่? ยังต้องได้รับการฉายรังสีรักษาอีก? ดังนั้น การทำความเข้าใจในหลักการรักษามะเร็งจึงมีความสำคัญมาก และยังเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวางนโยบายสาธารณะเกี่ยวกับการรักษามะเร็งอย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

จากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า ในแต่ละปี ประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ประมาณ 140,000 คน (หรือคิดเป็นประมาณ 400 คนต่อวัน) และในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 84,000 คนต่อปี โรคมะเร็งที่พบมาก5 อันดับแรกในคนไทย ได้แก่ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งรักษาได้ทุกที่...ที่พร้อม

และพบว่า สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง มาจากปัจจัยทางพันธุกรรมเพียง 5-10% นอกนั้นเป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกร่างกาย เช่น พฤติกรรมการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่นการดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนสารก่อมะเร็ง รวมไปถึงการได้รับสารก่อมะเร็งจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น การส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพและการขยายการรักษาโรคมะเร็งอย่างทั่วถึง จึงเป็นส่วนที่ต้องทำควบคู่กันไป

โดยทั่วไป การวินิจฉัยมะเร็ง (Diagnosis) เป็นขั้นตอนก่อนการรักษาเพื่อให้ทราบระยะดำเนินโรค (Staging) และวางเป้าหมายพร้อมกับแผนการรักษา เช่น มะเร็งระยะแรก (Early Stage) หรือมะเร็งอยู่เฉพาะที่ (Localized Disease) จะมุ่งเป้าไปที่การรักษาให้หายขาด ส่วนมะเร็งระยะลุกลามมากและไม่สามารถรักษาด้วยการผ่าตัด (Inoperable) หรือเซลล์มะเร็งกระจายไปยังอวัยวะอื่น (Advanced Stage)

มะเร็งรักษาได้ทุกที่...ที่พร้อม

การรักษาจึงมุ่งเน้นไปที่การควบคุม ยับยั้ง ลดจำนวนเซลล์มะเร็ง และเน้นคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยประเทศไทยในอดีตนั้น พบว่า ผู้ป่วยจำนวนมากต้องรอคิวเพื่อเข้ารับการรักษามะเร็งค่อนข้างนาน ผู้ป่วยบางรายต้องใช้เวลากว่า 2-3 เดือน นับตั้งแต่รอตรวจ รอคิวรักษา จนถึงรอเครื่องมือ ทำให้มะเร็งจากระยะเริ่มต้นขยับขึ้นเป็นระยะลุกลามก็มี รวมไปถึงการเกิดคอขวดในระบบส่งตัวและวินิจฉัย

นอกเหนือไปจากขั้นตอนการวินิจฉัยที่รวดเร็ว การเข้าถึงการรักษาให้ทันก็มีความสำคัญเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของนโยบาย “Cancer Anywhere รักษาได้ทุกที่...ที่พร้อม” ซึ่งเป็นนโยบายที่จัดทำขึ้น เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง ครอบคลุมทุกกระบวนการรักษา เช่น ผ่าตัด เคมีบำบัด รังสีรักษา ฮอร์โมน ฯลฯ

รวมถึงการตรวจติดตามอาการในโรงพยาบาลที่รองรับสิทธิบัตรทองและอยู่ใกล้บ้านได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และสามารถรักษาข้ามเขตหรือข้ามจังหวัดได้ โดยไม่ต้องใช้ใบส่งตัวยืนยันสิทธิ เนื่องจากกรมการแพทย์ได้จัดทำฐานข้อมูลเชื่อมโยงเพื่อให้บริการในโรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมมีเจ้าหน้าที่คอยประสานงานตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ โดยประกาศใช้แล้วตั้งแต่ 1 มกราคม 2564 นับเป็นการอำนวยความสะดวกด้านการให้บริการรักษา

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,874 วันที่ 30 มีนาคม - 1 เมษายน พ.ศ. 2566