Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอนจบ)

30 มิ.ย. 2566 | 07:10 น.
อัปเดตล่าสุด :30 มิ.ย. 2566 | 07:11 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการถกประเด็นเกี่ยวกับภาวะสมองไหลและการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ในภาครัฐ ซึ่งพบว่าปัญหามีความทับซ้อนและซับซ้อนในหลายมิติ แม้จะมีข้อเสนอแนะระดับนโยบายหลายข้อที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อลดจำนวนผู้เจ็บป่วย และทำให้ผู้คนมีสุขภาพดี เพื่อลดภาระงานของแพทย์ ผมจึงอยากชวนทุกท่านลองมองในมิติของการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปพร้อมกัน

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ผมได้พูดถึง “ความยั่งยืน” ว่ามันไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อตอบสนองต่อคนในยุคปัจจุบันเท่านั้น แต่จะต้องส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับคนในรุ่นต่อๆ ไปด้วย เมื่อเราพิจารณาในมิติด้านสาธารณสุขในประเทศไทย จะเห็นได้ว่าโครงข่ายสาธารณสุขใกล้บ้าน เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขและดำเนินการตามหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับคนในสังคมได้

Sustainable Healthcare: เฮลท์แคร์ที่ยั่งยืน (ตอนจบ)

โดยหน่วยบริการขั้นพื้นฐาน ก็คือสถานพยาบาลเครือข่ายปฐมภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือเดิมคือสุขศาลา คลินิกชุมชน/คลินิกบัตรทอง ฯลฯ และขยับขึ้นมาเป็นโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ และโรงพยาบาลระดับตติยภูมิหรือโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคอย่างเฉพาะทาง โดยหน่วยบริการระดับต่างๆ นี้ มีความเชื่อมโยงกับสถานการณ์การขาดแคลนบุคลากรการแพทย์ ทั้งในมิติของจำนวน การกระจายตัว และสาขาที่ขาดแคลนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาชีพแพทย์

อ้างอิงจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขล่าสุด มีแพทย์ในระบบของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 24,649 คน คิดเป็น 48% ของแพทย์ทั้งประเทศ โดยแพทย์ 1 คน ดูแลประชากรถึง 2,000 คน และไม่เพียงอาชีพแพทย์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงบุคลากรสหวิชาชีพด้วย ดังจะเห็นได้จากข้อมูลวิจัยเรื่อง “การจัดเครือข่ายบริการสุขภาพเชิงพื้นที่ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนบุคลากร” (ทีปกร, วารสารวิจัยสาธารณสุข 2563)

โดยดำเนินการเก็บข้อมูลของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) พบว่า มีปัญหาขาดแคลน “พยาบาล” ขั้นรุนแรงในระดับปฐมภูมิและตติยภูมิ แต่ไม่ขาดแคลนในระดับทุติยภูมิ และมีปัญหาขาดแคลน “แพทย์” ขั้นรุนแรงในโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ

นอกจากนี้ งานวิจัยดังกล่าว ยังเสนอแนะให้บริหารจัดการกำลังคนในลักษณะเครือข่ายบริการสาธารณสุขที่อยู่ระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เช่น ควบรวมระดับปฐมภูมิ และทุติยภูมิระดับต้นหรือกลาง ฯลฯ เข้าด้วยกัน จะสามารถช่วยบรรเทาสถานการณ์การขาดแคลนได้ระดับหนึ่ง และยังมีอีกหลายงานวิจัยที่สะท้อนปัญหาในทิศทางที่หลากหลาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว สถานการณ์การขาดแคลนบุคคลากรการแพทย์ เป็นการพิจารณาสภาพปัญหาบนฐานของจำนวนสถานพยาบาล สาขาเฉพาะทางที่ขาดแคลน จำนวนบุคลากรการแพทย์ต่อประชากร

ซึ่งการวิเคราะห์เช่นนี้ ไม่ได้ผิดแต่อย่างใด แต่มาตรวัดดังกล่าว อยู่บนพื้นฐานของการแพทย์ที่มี “โรค” เป็นศูนย์กลาง หรือที่เรียกว่า เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ คือการรักษาที่ได้รับการพิสูจน์โดยการศึกษาวิจัยแล้วว่า มีผลการรักษาเป็นอย่างไร รักษาแบบนี้แล้วมีโอกาสหายมากน้อยแค่ไหน รักษาแบบนี้แล้วเกิดประโยชน์อย่างไร ซึ่งมีความจำเป็นที่จะต้องใช้แพทย์เฉพาะทางหลากหลายสาขา

แต่หากเราลองมองแบบเปลี่ยนมุมเพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน “ตัวของผู้ป่วย” รวมถึงผู้ที่ยังไม่ป่วยหรือผู้มีแนวโน้มจะป่วย คือตัวละครสำคัญ บวกกับการให้น้ำหนักกับการแพทย์แบบองค์รวม (Holistic medicine) โดยปรับบทบาทและเพิ่มศักยภาพในการดูแลตัวเองของประชาชน จากเดิมที่โรงพยาบาล/สถานพยาบาลจะเป็นตัวหลัก เปลี่ยนเป็นการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยมีบ้านเป็นฐาน ควบคู่กับการแก้ปัญหาเรื่องการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เฉพาะในระดับที่มีความทับซ้อนเท่านั้น

ผมขอยกตัวอย่าง ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ ย้อนไปในปี 2014 กับการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขเชิงป้องกันผ่านกลไกภาครัฐ ด้วยการแจกสมาร์ตวอตช์เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเดินออกกำลังกาย พร้อมโปรโมชั่นสุ่มแจกเงินรางวัลเป็นแรงจูงใจ มีภารกิจแชลเลนจ์รวมถึงมีคะแนนสะสมที่เรียกว่า Health points และยังสามารถแลกเป็นเงินได้อีกด้วย และในปัจจุบันยังมีการจัดแคมเปญ National Steps Challenge อย่างต่อเนื่อง

ในการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืนนั้น ผมคิดว่า มุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานสาธารณสุขมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะมุมมองต่อระบบการแพทย์ ที่ไม่มุ่งเน้นไปที่การรักษาโรคเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการป้องกันโรค (Preventive Medicine) ผ่านกลไกนโยบายสาธารณะ กลไกทางภาษี ฯลฯ โดยเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และไม่จำกัดอยู่ในแวดวงของบุคลากรในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้คนทุกระดับในสังคมอีกด้วย เหมือนการต่อจิ๊กซอว์ให้ถูกจุดและจะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไปไม่ได้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,898 วันที่ 22 - 24 มิถุนายน พ.ศ. 2566