มองเห็น จุดดำ เงาดำ หยากไย่ อย่าปล่อยผ่าน

06 ส.ค. 2566 | 08:26 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ส.ค. 2566 | 08:33 น.

มองเห็น จุดดำ เงาดำ หยากไย่ อย่าปล่อยผ่าน : Tricks for Life

หลายคนมีอาการ มองเห็นจุดดำหรือคราบดำๆ เหมือนคราบติดกระจก เห็นจุดดำหรือมีเงาดำลอยไปมา หรือหยากไย่เวลามองท้องฟ้า ผนังพื้นผิวเรียบสว่าง ฝาผนังสีพื้น หรือเห็นฟ้าแลบ หรือไฟแว๊บๆ ขึ้นมาอย่างฉับพลันขณะหลับตาหรืออยู่ในที่มืด ล้วนเป็นอันตรากับสายตาและตัวคุณ

เพราะเมื่ออายุมากขึ้นและเข้าสู่วัยกลางคน อวัยวะดวงตาส่วนที่เรียกว่า น้ำวุ้นลูกตาจะมีการเสื่อมตามอายุวัย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยกลางคนวุ้นลูกตาจะเริ่มเสื่อมจับตัวกันเป็นก้อนเล็กๆ หรือเส้นเล็กๆ เป็นการเสื่อมไปตามธรรมชาติ บางทีจุดลอย เป็นเจลหรือเศษเซลล์ที่จับกันเป็นก้อนเล็กลอยอยู่ในวุ้นลูกตา

โดยมากจุดดำลอยพบได้ในผู้ที่สายตาสั้นหรือเกิดกับผู้ที่ผ่าตัดตาหรือผู้ที่ฉายเลเซอร์ ซึ่งอาจจะรบกวนการมองเห็นหรือเวลาอ่านตัวหนังสือ แต่ไม่เป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม สมองจะทำการปรับให้มองไม่เห็นจุดเงานี้ แม้จุดจะยังอยู่ อาจจะใช้วิธีกลอกตาไปมาจนกว่าจุดลอยจะลอยหลีกการบดบังการมองเห็นได้

มองเห็น จุดดำ เงาดำ หยากไย่ อย่าปล่อยผ่าน

“ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรควุ้นตาเสื่อมมาพบจักษุแพทย์มากขึ้น อาการมองเห็นจุดดำลอยไปมา เหมือนหยากไย่ลอยไปมาเหมือนคราบที่ติดกระจก เห็นชัดเมื่อมองไปยังภาพที่มีสีสว่างมองไปที่พื้นผิวเรียบ ฝาผนังสีพื้น หรือท้องฟ้า หากตรวจพบอาการแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เช่น ประสาทตาฉีกขาด อาการคือ จะมองเห็นแสงแฟลช ไฟแว๊บ ฟ้าแลบในที่มืดไม่ว่าหลับตาหรือลืมตา

โรควุ้นตาเสื่อมนี้จะดึงตัวและทำให้จอประสาทตาฉีกขาด อาจทำให้มีเลือดออกเป็นจุด มองเห็นเป็นจุดลอยบดบังสายตารอยขาดที่จอประสาทตานี้เป็นอันตรายและก่อให้เกิดจอประสาทตาลอกได้ในที่สุด” นายแพทย์อาคม ชัยวีระวัฒนะ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าว

อย่างไรก็ดี “วุ้นตา” เป็นสารใสคล้ายเจลบรรจุอยู่ภายในลูกตาส่วนหลัง ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ให้สารอาหารแก่จอตาและผนังลูกตาชั้นในการมองเห็นจุดดำลอยไปมาหรือหยากไย่ลอยไปมา บ้างเห็นเป็นจุด เป็นเส้นคล้ายใยแมงมุมเคลื่อนไปมาเมื่อกลอกตา

ส่วนใหญ่สาเหตุมักเกิดจากภาวะวุ้นตาเสื่อม ซึ่งเดิมวุ้นตามีลักษณะเหมือนเจลลี่แต่เมื่ออายุมากขึ้นภาวะวุ้นตาจะเป็นลักษณะของเหลวมากขึ้น จึงพบว่าเส้นใยในวุ้นตาเป็นเงากระทบบนจอตาซึ่งทำให้เห็นเป็นเงาจุดดำลอยไปมานั่นเอง ซึ่งความเสี่ยงที่ทำให้เกิดด้วยอายุที่เพิ่มมากขึ้น

ภาวะสายตาสั้น อุบัติเหตุทางตา หรือภายหลังการผ่าตัดตา โรคเบาหวานขึ้นจอตา และภาวะอักเสบในตา ซึ่งสาเหตุจากอายุที่มากขึ้นวุ้นตาเดิมที่มีลักษณะเป็นเจลลี่จะเปลี่ยนเป็นของเหลวมากขึ้น และนำมาซึ่งการลอกตัวหลุดจากชั้นจอตาด้านในเป็นเหตุให้เกิดอาการเห็นจุดดำลอย ภาวะอักเสบในวุ้นตาและจอตาด้านหลัง ซึ่งมีสาเหตุได้จากการติดเชื้อ ภาวะอักเสบอันเกิดจากภูมิคุ้มกันต่อตนเอง

เลือดออกเข้าในวุ้นตา มีสาเหตุได้จากเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เส้นเลือดดำอุดตันภายในตา จอตาฉีกขาด หรือจอตาลอก การผ่าตัดตาหรือการฉีดขาเข้าวุ้นตาก็เป็นอีกสาเหตุซึ่งการฉีดยาเข้าวุ้นตาอาจทำให้มีฟองอากาศซึ่งเป็นสาเหตุเห็นจุดดำลอยไปมา แต่จะหายไปได้เองหรือการผ่าตัดจอตาโดยใส่น้ำมันหรือก๊าซกดทับจอตาจะทำให้เป็นจุดดำลอยไปมาได้

ดังนั้น เมื่อไรที่พบจุดดำลอยไปมาเพิ่มขึ้นทันทีทันใดมากกว่าในภาวะปกติ พบแสงแฟสชในตาข้างที่พบเห็นจุดดำลอยไปมา หรือเห็นม่านดำในส่วนใดส่วนหนึ่งของภาพการมองเห็น ควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,911 วันที่ 6 - 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566