‘สมาธิสั้น’ กระทบอนาคตลูก

13 ก.ค. 2567 | 05:30 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ก.ค. 2567 | 09:34 น.

‘สมาธิสั้น’ กระทบอนาคตลูก : Tricks for Life

อาการซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ลืมง่าย ไม่สามารถตั้งใจทำอะไรต่อเนื่องได้นาน วอกแวกง่าย ถือเป็นพฤติกรรมโดยธรรมชาติของเด็กทั่วไป แต่สำหรับเด็กบางกลุ่มที่มีความบกพร่องของพัฒนาการสมองส่วนหน้า ทำให้ปัญหาเหล่านี้ เป็นมากกว่าความซนปกติทั่วไป และอาจเข้าข่าย “โรคสมาธิสั้น”

โรคสมาธิสั้น หรือ ภาวะสมาธิสั้น (Attention Deficit Hyperactivity Disorder) เป็นโรคที่อาการจะปรากฏให้เห็นตั้งแต่เล็กๆ และมีการดำเนินโรคเรื้อรังเป็นเวลาหลายปี โดยพบว่า สมาธิสั้น 60-85% ยังมีอาการอยู่ในช่วงเข้าวัยรุ่น และ 40-50% ยังมีอาการต่อเนื่องไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ได้ โรคสมาธิสั้นมีอัตราความชุกประมาณ  5-10% โดยพบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง ในอัตราส่วน 3:1

สำหรับโรคสมาธิสั้นเป็นความผิดปกติในการทำงานของสมองส่วนหน้า ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับการควบคุมสมาธิและพฤติกรรมมีการทำงานลดลง ทำให้เด็กไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ดี จึงทำให้เด็กซน อยู่ไม่นิ่ง ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการปรับตัวเข้าสังคม ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และผู้มีส่วนร่วมในการดูแลเด็ก จึงควรมีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคสมาธิสั้นและแนวทางการรักษา โดยวิธีต่างๆ เพื่อนำไปปรับใช้ในการเลี้ยงดูเด็กสมาธิสั้นได้อย่างเหมาะสมต่อไป

  • อาการของโรคสมาธิสั้น  เป็นภาวะบกพร่องในการทำงานของสมองที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใน 3 ด้านหลัก ได้แก่
  • อาการสมาธิสั้น ขาดสมาธิที่ต่อเนื่อง เหม่อลอย จดจ่ออะไรนานๆ ไม่ได้  เบื่อง่าย ไม่ค่อยรอบคอบ ทำงานไม่เสร็จตามเวลา ไม่ชอบทำงานที่ต้องใช้สมาธิ หรือความพยายาม
  • อาการซนมากกว่าปกติหรืออยู่ไม่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา ต้องหาอะไรทำตลอด พูดมาก พูดเก่ง ชอบเล่นหรือทำเสียงดังๆ เล่นกับเพื่อนแรงๆ
  • อาการขาดการยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น ใจร้อน วู่วาม  ขาดความระมัดระวังในการทำสิ่งต่างๆ พูดโพล่ง พูดแทรก รอคอยอะไรไม่ค่อยได้

‘สมาธิสั้น’ กระทบอนาคตลูก

สาเหตุของโรคสมาธิสั้นเกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกันโดยมีปัจจัยหลัก ได้แก่

ปัจจัยทางด้านพันธุกรรม หากพบว่าพ่อแม่หรือพี่น้องมีประวัติเป็นโรคสมาธิสั้น ทำให้ลูกมีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นมากกว่าคนปกติทั่วไปถึง 4-5 เท่า

ปัจจัยทางด้านระบบประสาท กลไกความผิดปกติหลักเกิดจากความผิดปกติในการทำหน้าที่ของสารสื่อประสาทคือ โดพามีน (Dopamine) และ นอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine) ทำให้เกิดความบกพร่องด้านการบริหารจัดการและการควบคุมตนเอง จึงทำให้เด็กมีความบกพร่องในการควบคุมสมาธิการแสดงออกของพฤติกรรมและการจัดลำดับความสำคัญในการทำกิจกรรมต่างๆ

ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม มีการศึกษาพบว่าปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคสมาธิสั้นในเด็ก ได้แก่ การที่มารดามีภาวะแทรกซ้อนของการตั้งครรภ์ หรือการคลอดซึ่งส่งผลต่อพัฒนาการของสมอง เช่น คลอดก่อนกำหนด ได้รับสารตะกั่ว อุบัติเหตุของสมอง และพบว่ามารดาที่สูบบุรี่ ดื่มสุรา หรือใช้สารเสพติดในขณะตั้งครรภ์ มีความเสี่ยงที่ทำให้ลูกเป็นโรคสมาธิสั้นสูงขึ้น

ปัจจัยการเลี้ยงดู ซึ่งทำให้เด็กมีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้นมากขึ้น โดยการเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่ขาดระเบียบวินัย นอนดึก นอนน้อย และมีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และโทรทัศน์เป็นเวลานาน จะทำให้เด็กขาดทักษะสังคมและการสื่อสาร รวมถึงอาจมีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงที่เกิดจากการเลียนแบบสิ่งที่ดูจากสื่ออิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ โรคสมาธิสั้นมักพบร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคการเรียนรู้บกพร่อง หรือ Learning disorder (LD), ปัญหาพฤติกรรมดื้อ ต่อต้าน ไม่ทำตามสั่ง, โรคกล้ามเนื้อ กระตุก (Tics) และโรควิตกกังวล

การรักษาโรคสมาธิสั้นที่ได้ผลดีที่สุด คือการใช้แนวทางรักษาแบบผสมผสานประกอบด้วย การรักษาด้วยยา จะทำให้เด็กมีสมาธิดีขึ้น ซนน้อยลง ดูสงบลง แต่ต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ ซึ่งผู้ปกครองต้องพาเด็กพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ และกินยาตามที่แพทย์สั่ง, การให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครู ในการปรับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม ให้เด็กมีการสร้างสมาธิ เช่น กำหนดตารางเวลากิจวัตรประจำวันให้เป็นระเบียบแบบแผน ให้เด็กมีกิจกรรมที่ต้องออกกำลังกาย หรือใช้แรงในทางสร้างสรรค์ เช่น ช่วยทำงานบ้าน ออกกำลังกาย

ทั้งนี้พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด หากพบว่ามีอาการที่เข้าข่ายโรคสมาธิสั้น ควรรีบมาพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป