ชีวิตประจำที่ต้องวุ่นวายอยู่กับการทำงานและครอบครัว จนบ่อยครั้งที่อาจทำให้ “ลืม" หลายสิ่ง หลายอย่าง รวมถึง “ลืมกินยา” ซึ่งอาจส่งผลให้ประสิทธิภาพการรักษาถูกลดทอนลง ดังนั้น ผู้ป่วยจึงไม่ควรที่จะลืมกินยาบ่อย ๆ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดัน หรือ โรคเบาหวาน เป็นต้น ควรต้องกินต่อเนื่องทุกวันและกินให้ตรงเวลา
โดยเฉพาะในกลุ่ม “ผู้ป่วยโรคจิตเวช” ยิ่งต้องย้ำว่าในการรักษาจิตเวช ห้ามหยุดยาหรือลดขนาดยาเองเด็ดขาด แม้อาการดีขึ้นแล้วก็ตาม เนื่องจากจะทำให้ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร โอกาสหายขาดค่อนข้างต่ำ อีกทั้งบางครั้งอาการอาจจะกลับมากำเริบและรุนแรงขึ้นกว่าเดิม เพราะการกินยาต่อเนื่อง ถือเป็นหัวใจสำคัญในการควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ ควบคุมการทำงานของสารสื่อประสาทในสมองให้เป็นไปอย่างสมดุล ช่วยทำให้ผู้ป่วยมีอาการเป็นปกติสามารถใช้ชีวิตและทำงานได้
“ลืมกินยา” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่ก็ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นจนเป็นปกติ ซึ่งอาจจะใช้เคล็ดลับง่าย ๆ ในการป้องกันการลืมกินยา เช่น ตั้งเวลาเตือนเอาไว้และพกยาติดตัวเอาไว้ทุกที่ หรือเก็บยาเอาไว้ในที่ที่มองหาง่ายและหยิบง่าย เป็นต้น
แต่ถ้าสุดวิสัยเผลอลืมไปจริง ๆ เมื่อรู้ตัวว่าลืมก็ควรรีบกินยาทันทีที่นึกขึ้นได้ ยกเว้นนึกได้เมื่อใกล้เวลาของมื้อถัดไป เกินครึ่งระยะเวลาระหว่างมื้อ ก็ให้งดยามื้อที่ลืมไปเลย และกินยามื้อถัดไป โดยที่ห้ามกินควบ 2 โดสในมื้อเดียวกันอย่างเด็ดขาด เพราะอาจเกิดผลข้างเคียงได้
ยกตัวอย่างเช่น ยาที่ต้องกินวันละครั้ง หากลืมกินยาแล้วนึกได้ภายในไม่เกิน 12 ชั่วโมง สามารถกินมื้อที่ลืมได้เลย เพราะยาส่วนใหญ่ไม่ต้องกินพร้อมอาหารก็ได้ แต่หากกลัวจะเกิดอาการข้างเคียง เช่น คลื่นไส้ อาจกินอะไรรองท้องไปก่อน แต่หากลืมกินยาเกิน 12 ชั่วโมง ก็ให้งดยามื้อที่ลืม แล้วกินมื้อถัดไปได้เลย
การกินยาจิตเวชต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ หลายคนอาจมีความกังวลใจ และกลายเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยบางคนกลัวจนหยุดกินยาไปเอง หรือบางคนก็กินบ้างไม่กินบ้าง สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ คือ
ไม่ต้องกังวล! ผู้ป่วยจิตเวชที่กินยารักษาอาการป่วยไม่มีโอกาสติดยาแน่นอน เพราะมีเพียงยาจิตเวชบางชนิดเท่านั้นที่อาจเกิดอาการพึ่งพิงยาได้ ยาจิตเวชส่วนใหญ่จึงสามารถกินได้เป็นระยะเวลานาน ภายใต้การดูแลของแพทย์ ซึ่งยาจิตเวชมีทั้งชนิดเม็ด ชนิดน้ำ ชนิดฉีดที่มีฤทธิ์สั้น และชนิดฉีดที่มีฤทธิ์นาน สามารถควบคุมอาการได้เป็นเดือน โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาการเลือกใช้ยาให้เหมาะกับอาการของผู้ป่วย
หากกินยาจิตเวชแล้ว มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น ไม่ต้องตกใจ โดยอาการที่เจอได้ค่อนข้างบ่อย เช่น ง่วง ซึม คลื่นไส้อาเจียน เวียนศีรษะ นอกจากนี้ ยาบางตัวอาจมีเรื่องที่ต้องระวังการกินร่วมกับอาหาร โดยส่วนใหญ่อาการข้างเคียงจะมีแค่ 1-2 สัปดาห์เท่านั้น หลังจากร่างกายเราปรับได้แล้ว อาการข้างเคียงเหล่านี้ก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ แต่หากอาการไม่ดีขึ้นแนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์
ผู้ป่วยโรคจิตเวชไม่ได้น่ากลัวอย่างที่บางคนเข้าใจ หากครอบครัวไหนมีสมาชิกป่วยเป็นโรคทางจิตเวช สิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยาจะช่วยทำให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ และลดภาระการดูแลของญาติ โดยในการรักษาจะต้องกินยาต่อเนื่อง อย่าคิดไปเองว่าหายแล้ว
เพราะอาการที่ดีขึ้นอาจไม่ได้แปลว่าหายขาด ต้องพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง ไม่ใช้สารเสพติดทุกชนิด ยิ่งผู้ป่วยที่เป็นครั้งแรกหากไม่มีปัญหาเรื่องอาการกำเริบ จะมีโอกาสหายสูงและไม่เรื้อรัง ไม่ต้องพึ่งยาตลอดชีวิต
ขอบคุณ : โรงพยาบาล BMHH Bangkok Mental Health Hospital