ไวรัส RSV วายร้ายตัวจิ๋วของ “เด็กเล็ก”

28 ก.ค. 2567 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ก.ค. 2567 | 10:11 น.

ไวรัส RSV วายร้ายตัวจิ๋วของ “เด็กเล็ก” : Tricks for Life

ปลายฝนต้นหนาวของทุกปี “เชื้อไวรัส RSV” จะกลับมาระบาดในกลุ่มเด็กเล็ก โดยมีอาการคล้ายไข้หวัด แต่ในบางรายอาจรุนแรงถึงขั้นปอดอักเสบ ส่งผลต่อสุขภาพและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โรคนี้ไม่มีวิธีรักษาโดยตรง ต้องรักษาตามอาการเท่านั้น

RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากมักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เชื้อไวรัสนี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นานหลายชั่วโมง และอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที

อาการของเชื้อไวรัส RSV มีลักษณะคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่เมื่ออาการลุกลาม อาจทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดอักเสบ โดยจะมีอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราดในลำคอ และมีเสมหะมากกว่าไข้หวัดธรรมดา เด็กเล็กไม่สามารถเอาน้ำมูกหรือเสมหะออกเองได้ ทำให้หายใจลำบาก 

การติดเชื้อไวรัส RSV เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อผ่านทางการไอ จาม ไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว

การวินิจฉัยเชื้อไวรัส RSV แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติ ตรวจร่างกาย และอาจตรวจหาเชื้อโดยใช้เสมหะจากโพรงจมูก ในบางรายที่มีอาการรุนแรงแพทย์อาจตรวจเอ็กซเรย์ปอดเพื่อประกอบการวางแผนรักษา

ไวรัส RSV วายร้ายตัวจิ๋วของ “เด็กเล็ก”

ปัจจุบันมีวัคซีนที่สามารถป้องกันเชื้อ RSV ได้ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีภาวะปอดเรื้อรัง โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด หรือเด็กที่คลอดก่อนกำหนด วัคซีนนี้ใช้ในการลดความรุนแรงของโรค โดยการฉีดวัคซีนแบบโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Palivizumab) ซึ่งให้ผลป้องกันได้ดี แต่ต้องฉีดซ้ำทุกเดือนในช่วงที่มีการระบาด

การรักษาเชื้อไวรัส RSV เป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดไข้ แก้ไอ ละลายเสมหะ สำหรับเด็กที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องพ่นยาขยายหลอดลม หรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอดและดูดเสมหะออก การให้ยาปฏิชีวนะไม่มีความจำเป็นหากไม่มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

เชื้อไวรัส RSV สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ การป้องกันคือการล้างมือให้สะอาด ใส่หน้ากากอนามัย ทำความสะอาดของเล่นเด็กบ่อยๆ หากมีคนในบ้านป่วยควรแยกและงดใช้ของส่วนตัวร่วมกัน หลีกเลี่ยงสัมผัสเด็กที่สงสัยว่าเป็นหวัด และไม่พาเด็กไปในที่ชุมชน สำหรับเด็กที่เข้าเนิร์สเซอร์รี่หรือโรงเรียน ควรหยุดเรียนทันทีเมื่อป่วยจนกว่าอาการจะหายเป็นปกติ

 

ขอบคุณ : แพทย์หญิงรติ ดิวิทยา กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเวชธานี