นอนไม่หลับ จากความเครียดไม่รู้ตัว!

31 ส.ค. 2567 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ส.ค. 2567 | 09:53 น.

นอนไม่หลับ จากความเครียดไม่รู้ตัว! : Tricks for Life

คนไทยกว่า40%กำลังเผชิญวิกฤตที่เรียกว่า “ภาวะนอนไม่หลับ” สมองไม่หยุดคิด จนทำให้ไม่สามารถข่มตาลงได้

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ “นาฬิกาชีวิต” พัง คือ ความเครียดที่สะสมโดยไม่รู้ตัว คนส่วนใหญ่ในวัยทำงานต่างกำลังเผชิญกับอาการนอนไม่หลับ เพราะสมองไม่หยุดคิดกันอย่างถ้วนหน้า ถือเป็นสัญญาณสุขภาพที่เกิดจากภาวะเครียดสะสม

อาการนอนไม่หลับ คือสภาวะร่างกายที่ไม่ปกติ ครอบคลุมตั้งแต่ความยากในการข่มตานอน ไปจนถึงอาการหลับไม่สนิท ซึ่งส่งผลให้รู้สึกถึงความเหนื่อยล้าในเวลากลางวัน การทำงานด้านการรับรู้บกพร่อง อารมณ์แปรปรวน และคุณภาพชีวิตโดยรวมลดลง ซึ่งวิธีการรับมือก็แตกต่างกันออกไป

“อาการนอนไม่หลับ”

แบ่งออกได้2 ประเภทคือ

• อาการนอนหลับยากกลุ่มอาการที่ต้องใช้เวลาและความพยายามในการนอนมากกว่าปกติ

• ตื่นบ่อยในช่วงกลางดึกกลุ่มอาการหลับไม่สนิท รู้สึกตัวอยู่ตลอดทั้งคืน

นอนไม่หลับ จากความเครียดไม่รู้ตัว!

สาเหตุของอาการนอนไม่หลับ

• สาเหตุทางกายภาพมีอาการไม่สบาย เจ็บป่วย หรือเป็นอาการข้างเคียงของโรคบางชนิด เช่น ปวดหัวไมเกรน ปวดฟัน โรคบริเวณหู คอ จมูกต่าง ๆ ตลอดจนระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงในช่วงวัยทอง ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสาเหตุที่ส่งผลต่อสุขภาพการนอนด้วยกันทั้งสิ้น

• สาเหตุทางจิตใจอาการนอนไม่หลับบางครั้งก็เป็นเพราะความเครียด สมองไม่หยุดคิดจากสภาวะวิตกกังวล ทั้งจากการใช้ชีวิต การทำงาน การเล่นโทรศัพท์ รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่บีบคั้นให้เกิดความรู้สึกตกค้างในจิตใจ ส่งผลให้ร่างกายต่อต้านและแสดงอาการออกมาในสภาวะที่ไม่ยอมพักผ่อน จนทำให้นอนไม่หลับนั่นเอง

 

ระดับความรุนแรงของโรคนอนไม่หลับได้แก่

• ระดับชั่วคราว (Transient Insomnia)เป็นอาการเริ่มต้นที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม อาจเกิดขึ้นเมื่อต้องเปลี่ยนที่นอน หรือเดินทางข้ามไทม์โซน เมื่อร่างกายปรับตัวไม่ได้ก็จะเกิดอาการนอนไม่หลับนั่นเอง

• ระดับกลาง (Short-term Insomnia)อาการนอนไม่หลับระยะสั้น เป็นสภาวะที่สอดคล้องกับความเครียด โดยจะเกิดขึ้นเพียงหลักวันหรือสัปดาห์ และจะหายไป

• ระดับเรื้อรัง (Long-term or Chronic Insomnia)อาการเรื้อรังที่กินเวลานาน หลักเดือนหรือหลักปีขึ้นไป โดยเกิดได้จากหลากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นอาการนอนไม่หลับเพราะสมองไม่หยุดคิด วิตกกังวล ความเครียด ตลอดจนการใช้ยารักษาบางประเภท ซึ่งนี่ถือเป็นความผิดปกติขั้นรุนแรงที่สุดของอาการดังกล่าว และควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม

วิธีทำลายวงจรความเครียด

ให้นอนหลับง่ายขึ้น

• การฝึกหายใจลึก ๆ หากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลายความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นในใจ

• ปรับกระบวนความคิดใหม่ จัดลำดับความสำคัญ และให้เวลากับตัวเองมากขึ้น

• การทำสมาธิ และสติ เพื่อใช้จินตภาพในการนำทางให้เราหลุดพ้นจากปัญหาในใจ

• ผ่อนคลายความเครียด เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เป็นการพาตัวเองออกมาจากเรื่องเครียดสักระยะ

• ออกกำลังกาย ยืดเส้น ยืดสายเป็นประจำ จะช่วยทำให้อาการนอนไม่หลับดีขึ้น ลดความเครียดได้ด้วย

 

ขอบคุณ :ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี)

 

หน้า 15 ฉบับที่ 4,023 วันที่ 1 - 4 กันยายน พ.ศ. 2567