เมื่อก้าวสู่ “สังคมก้มหน้า” สิ่งที่ตามมา ซึ่งหลายคนไม่ได้คาดคิดคือ “กระดูกคอเสื่อม” สาเหตุสำคัญมาจากเมื่อต้องก้ม ทำให้ต้องแบกน้ำหนักศีรษะเพิ่มขึ้น โดยปกติแล้วน้ำหนักศีรษะจะหนักประมาณ 5 กิโลกรัม แต่เชื่อหรือไม่ เมื่อก้มศีรษะไปข้างหน้า เราจะต้องแบกน้ำหนักเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวเลยทีเดียว
“เพ็ญพิชชากร แสนคำ” นักกายภาพบำบัดจาก คลินิกกายภาพบำบัดอริยะ ชั้น 1 ไลฟ์เซ็นเตอร์ (คิวเฮ้าส์ ลุมพินี) เล่าให้ฟังว่า โดยปกติร่างกายของมนุษย์เรานั้น ส่วนของกระดูกสันหลังตั้งแต่ระดับศีรษะ จนไปถึงบั้นเอวจะมีความโค้งที่ร่างกายสร้างขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับน้ำหนัก และกระจายน้ำหนักของศีรษะและลำตัวเพื่อให้แรงกดต่อข้อต่อกระดูกสันหลังน้อยที่สุด
นั่นคือสิ่งที่ธรรมชาติสร้างมาเพื่อให้เราสามารถใช้ร่างกายได้ตลอดช่วงอายุโดยไม่เกิดปัญหา ถึงกระนั้นการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราที่ไม่ได้ระวัง ก็มักส่งผลกระทบต่อร่างกายเสมอ โดยเฉพาะท่าก้มคอ การก้มคอจะทำให้เกิดแรงกดอัดลงไปที่ข้อต่อกระดูกคอมากได้ถึง 4-10 เท่า
ความตึงของกล้ามเนื้อที่เกิดจากการทำงานไม่สมดุล (Muscle imbalance) ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง จะทำให้คอ บ่า และกล้ามเนื้อฐานกระโหลกหดเกร็งมากกว่าปกติ และนั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หมอนรองกระดูกเสื่อม หรือที่เรียกว่า “กระดูกคอเสื่อม” (Cervical Spondylosis) นั่นเอง
1. ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบ่า ต้นคอ เมื่อทำงานต่อเนื่องเพียงไม่ถึงชั่วโมง
2. ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งต้องทานยาหรือบีบนวด อาการจึงทุเลาลง
3. รู้สึกได้ว่ามีอาการร้อนรุมๆ บริเวณต้นคอ/บ่า มากกว่าบริเวณอื่นๆ
4. มีเสียงกร๊อกแกร๊กเวลาหันคอ เมื่อเงยคอจะปวดเสียวแปล็บๆ ลงสะบัก
5. บางครั้งมีอาการชาหรือปวดร้าวตลอดแขนไปจนถึงฝ่ามือ/ นิ้วมือ
6. เมื่อปวดมาก มักร้าวขึ้นศีรษะ เหมือนไมเกรน หรือปวดรุมๆ ที่กระบอกตา มึนๆ ตึงๆ ที่ศีรษะมีร้าวลงแขนหรือสะบัก
7. รู้สึกหนักหัว-ง่วง-เพลียตลอดทั้งวัน หาวบ่อย โดยเฉพาะช่วงบ่ายๆ ทั้งที่พักผ่อนเพียงพอ
8. เมื่อทานยาหรือนวดอาการปวดจะทุเลา 2-3 วันก็กลับมาเป็นอีก ต้องทานยาหรือติดนวด เป็นประจำ
9. อาการที่เป็นอยู่ทำให้รำคาญ หงุดหงิดใจ รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ศักยภาพการทำงานลดลง คิดไม่ออก ไม่สดชื่น
10. ตื่นเช้ามีอาการเหมือนคอตกหมอนเป็นประจำ หรือคอเคล็ด หันคอแล้วปวดตึง
ท่าที่ 1 ประสานมือด้านหน้า หายใจเข้า กระดกข้อมือ เหยียดแขนไปด้านหลังให้สุด แขม่วงท้องเล็กน้อย หายใจออก ค่อยๆ วาดแขนไปด้านหลัง ทำซ้ำ วนมาด้านหน้า
ท่าที่ 2 หงายมือ เหยียดแขนไปด้านหลัง พร้อมลู่ไหล่ลง ค่อยๆ เอียงคอไปด้านซ้าย เอียงคอไปทางขวา ทำสลับข้างไปมา
ท่าที่ 3 ใช้มือขวาจับขอบเก้าอี้ แขนซ้ายชูขึ้นด้านบนเหยียดตรง ค่อยๆ เอนตัวไปทางขวา แล้วเอนตัวกลับมาทำเริ่มต้น ให้ทำสลับกันทั้ง 2 ข้าง