บำบัดจิต ลด “แพนิค” ได้

19 ต.ค. 2567 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2567 | 10:36 น.

บำบัดจิต ลด “แพนิค” ได้ : Tricks for Life

“แพนิค” เป็นโรคที่ทำให้คนรู้สึกกลัวและวิตกกังวลอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน ไม่กล้าออกไปไหน หมกมุ่นเรื่องสุขภาพ จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคแพนิค (Panic Disorder) มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลและความเครียดที่มากเกินไป ส่งผลให้เกิดอาการตื่นตระหนกอย่างฉับพลันโดยบางครั้งไม่มีสาเหตุมากระตุ้นชัดเจน อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวและสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

บำบัดจิต ลด “แพนิค” ได้

อาการของโรคแพนิคมักเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีอาการอยู่นาน 1 – 10 นาที บางรายอาจมีอาการนาน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หากมีอาการซ้ำภายในสัปดาห์หลายครั้ง ควรรีบมาพบจิตแพทย์

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ หัวใจเต้นแรง เหงื่อออกมาก ตัวสั่น หายใจไม่ออก หรือมีอาการคล้ายขาดอากาศหายใจ เจ็บแน่นหน้าอก คลื่นไส้ หรือท้องเสีย เวียนศีรษะ หรือรู้สึกอ่อนแรง ผิวหนังเย็น หรือร้อนวาบรู้สึกชาหรือร่างกายไม่ค่อยรับความรู้สึก กลัวการสูญเสียการควบคุม หรือกลัวตาย

สาเหตุของโรคแพนิคอาจเกิดได้จากหลายปัจจัย เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเคมีในสมอง, มีคนในครอบครัวเป็นแพนิค, ประสบการณ์ที่เลวร้ายในอดีต, ประสบอุบัติเหตุร้ายแรงหรือกระทบต่อจิตใจอย่างหนัก, และเจอเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง

การรักษาโรคแพนิคสามารถทำได้หลายวิธี โดยจิตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น การใช้ยา: ยาที่ใช้รักษาโรคแพนิคมักจะเป็นยากลุ่มต้านอาการซึมเศร้า (Antidepressants) และยาคลายความวิตกกังวล (Anxiolytics) ยาเหล่านี้ช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองที่เกี่ยวข้องกับความกลัวและความวิตกกังวล

การบำบัดทางจิตวิทยา: การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy) เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ โดยช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจความเชื่อที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับความกลัวและอาการที่เกิดขึ้น และเรียนรู้วิธีการจัดการกับอาการเหล่านั้น

บำบัดจิต ลด “แพนิค” ได้

การฝึกหายใจและการผ่อนคลาย: การฝึกหายใจลึกๆ และการฝึกผ่อนคลายกล้ามเนื้อสามารถช่วยลดอาการตื่นตระหนกและทำให้รู้สึกสงบลงได้

การปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์: การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การนอนหลับเพียงพอ และการหลีกเลี่ยงสารกระตุ้น เช่น คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ สามารถช่วยลดโอกาสในการเกิดอาการแพนิคได้

อย่างไรก็ตาม โรคแพนิคถึงแม้จะไม่ได้อันตรายต่อชีวิต แต่อาจส่งผลกระทบชีวิตประจำวันอย่างมาก เพราะฉะนั้นหากมีอาการเข้าข่ายควรรีบมาพบจิตแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษาที่เหมาะสม

 

ขอบคุณ : โรงพยาบาล BMHH – Bangkok Mental Health

 

คอลัมน์ Tricks for Life หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,037 วันที่ 20 - 23 ตุลาคม พ.ศ. 2567