ข่าวคราวของพระบ้าน พระนักเทศน์ ทำให้เกิดหวั่นไหวในศรัทธาคำว่า "พระสงฆ์" ได้ไม่มากก็น้อย สิ่งที่ผู้คนต่างชอบคิดกันไปเองว่า พระแท้ พระดีไม่มีแล้ว เป็นเพียงการคาดคะเนอย่างหนึ่ง ถ้าคุณยังไม่เคยกราบพระป่ามาก่อน
สายพระป่า คือคำพูดติดปากและเข้าใจเอาว่าโดยมากจะเป็นพระธรรมยุตินิกาย ในสายมหานิกายยังมีพระป่าลูกศิษย์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต อยู่ร่วมด้วยอีกหนึ่งสำนัก ซึ่งพระอาจารย์มั่น ท่านบอกว่าไม่ต้องญัติตินิกายใหม่ พระสงฆ์รูปนั้นคือ พระโพธิญาณเถระ หรือ หลวงพ่อชา สุภัทโท อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองป่าพง จ.อุบลราชธานี
ข้อวัตรปฏิบัติวัดหนองป่าพง ในยุคหลวงพ่อชาได้สืบทอดมาถึงปัจจุบัน อาทิ ฉันมื้อเดียวในบาตร เย็บย้อมผ้าจีวรสงบสังฆาฏิใช้เองห้ามซื้อจากร้าน
ทำบาตรถลกบาตรเอง ห้ามญาติโยมทั้งชายหญิงเข้าเขตพระสงฆ์ พระสงฆ์งดใช้เครื่องมือสื่อสารทุกชนิด ภาชนะล้างเอง ห้ามคุยกันเป็นกลุ่ม
ให้ภาวนา เดินจงกรม เป็นวัตรปฏิบัตินำ ห้ามดูหนังฟังละคร ไม่มีทีวีตู้เย็น ดินแดนวัดหนองป่าพงจึงมีแต่ธรรมและธรรมล้วนๆ แม้วันที่หลวงพ่อชาไม่อยู่แล้ว ท่านเจ้าคุณพระเทพวชิรญาณ (หลวงพ่อเลี่ยม ฐิตธัมโม)เจ้าอาวาสและลูกศิษย์ก้นกุฏิหลวงพ่อชารูปนี้ก็ยังคงวัตรปฏิบัติทุกอย่างดังเดิมแม้วัดสาขาและวัดป่านานาชาติ ที่มากไปด้วยชาวต่างชาติ อาทิ อังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อเมริกา ได้มาศึกษาเรียนรู้ธรรมด้วยวัตรปฏิบัติแบบเดียวกันทั้งสิ้น
ใครที่จะบวชที่วัดหนองป่าพง จะต้องเป็นผ้าขาวถือศีลแปดเพื่อดูจริตนิสัยก่อนอย่างน้อย 3 เดือน ถ้าสงฆ์ประชุมกันว่าไม่ผ่านก็หาจะบวชให้ และพระสงฆ์จากที่อื่นจะมาศึกษาธรรมอยู่ที่วัดหนองป่าพงนี้ มาอยู่ได้ครั้งละ 7 วัน จากนั้นต้องออกจากวัดแล้วค่อยกลับมาใหม่ได้ ถ้าผ่านประชุมสงฆ์ว่ารับเข้าสังกัดได้จึงอนุญาตให้เปลี่ยนจีวรบริขารต่างๆ และมีที่พักให้
เงินวัดที่ญาติโยมถวายเข้ากองกลางของวัดหมด พระสงฆ์จำเป็นใช้อะไรก็ทำเรื่องขอเบิก แต่พระห้ามถือเงินเองต้องมีผ้าขาวคอยถือและดูแลให้เพื่อเป็นพยานในการใช้ สมัยหลวงพ่อชาท่านอยู่ มีโยมจะถวายรถให้วัด หลวงพ่อบอกยังรับไม่ได้ต้องประชุมสงฆ์ก่อน ถ้าสงฆ์ให้รับจึงถวายได้ ปรากฏสงฆ์ค้านไม่ให้รับจึงถวายไม่ได้ก็มี
วัตรป่าของพระป่า สายพระอาจารย์มั่นเป็นดุจไม้ค้ำศรัทธาให้ผู้คนที่รักพระพุทธศาสนาศรัทธาพระพุทธศาสนาไว้วางใจได้ นับว่าเป็นการดียิ่ง
สำหรับผู้คนที่เริ่มมีความคิดเบื่อพุทธศาสนาเบื่อพระสงฆ์ ลองเข้าวัดป่า ที่ป่าแท้ๆ ในสายพระอาจารย์มั่น แล้วจะเห็นปฏิปทาที่แตกต่างจากวัดบ้านอย่างสิ้นเชิง เขาสนทนาด้านธรรมแม้บางครั้งอาจมีเพ้อนิมิต มีเพ้ออดีตชาติบ้าง เนื่องจากผลของการปฏิบัติภาวนา ก็ยังดีกว่าที่ไปสร้างเรื่องบัดสีให้มัวหมองในพุทธศาสนา
พระป่ามักจะจำวัดสองทุ่ม แล้วนอนจำวัดถึงตีสามลุกขึ้นสวดมนต์ภาวนาเมื่อฟ้าสว่างจึงออกบิณฑบาตร ฉันราว 09.30 น. แล้วพักจากนั้นปฏิบัติธรรมสืบต่อ เป็นเช่นนี้ทุกวันๆ
หลวงพ่อชา เคยพูดสอนเอาไว้ว่า
"บวชแล้วจะเป็นพระได้ต่อเมื่อปฏิบัติภาวนา และ มีจิตสำนึกคุณของญาติโยมที่อุปถัมภ์"
พระสงฆ์ในสายพระป่าจะไม่ธุดงค์เข้าเมือง ไม่เดินริมถนนมากเกินไป และไปไม่เกิน 3 รูป ไม่มีเดินขอเรี่ยไรญาติโยม เพราะพระอุปัชฌาย์เขาสอนมาดี มิใช่อุปัชฌาย์เป็ดที่บวชให้แล้วก็ทิ้งขว้าง ไม่สอนไม่อบรม พระใหม่ต้องอยู่จำพรรษาวัดอย่างน้อย 5 พรรษา และต้องภาวนาอีกทั้งต้องศึกษาและสอบภาคบังคับอาทิ นักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และ ชั้นเอก ครั้นครบ 5 พรรษาจะไปไหนมาไหนก็ต้องขออนุญาตจากครูอาจารย์ก่อนเสมอ
ความงดงามในธรรมของพระวัดป่าจึงเป็นการสะท้อนอะไรได้หลายมิติ โดยเฉพาะความศรัทธา บุญอยู่ที่ทำ กรรมอยู่ที่สร้าง มรรคทางแห่งผลรออยู่
กราบพระพุทธจะโดนทองเหลือง
กราบพระธรรมจะโดนใบลาน
กราบพระสงฆ์อาจโดนลูกเขยชาวบ้านจึงไม่มีปรากฏในสายพระวัดป่า ที่มุ่งเน้นความเรียบง่ายเรียบร้อยตามพระธรรมวินัย พระดียังมีอีกมาก ถ้าเราท่านพอมีปัญญาแสวงหาศึกษาเรียนรู้ก็ย่อมจะพบ
ราชรามัญ