พระป่า...แห่งธรรมยุติกนิกาย

29 มิ.ย. 2565 | 21:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2565 | 22:17 น.

คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย​ ราช รามัญ

หลายคนต่างบอกว่า พระป่า ที่เคร่งครัดในการปฏิบัติพระธรรมวินัยนั้นโดยมากจะเป็นพระธรรมยุต เรื่องนี้เป็นความจริงอย่างมาก ถ้าใครเคยศึกษาต้นกำเนิดของพระธรรมยุตจะเข้าใจได้ 
 

ในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) แห่งวัดระฆังฯ ยังเวียนหัวกับพระสงฆ์ที่ไม่รักษาพระธรรมวินัย ซึ่งคาดว่าน่าจะมีจำนวนมาก อาทิ พระเตะตะกร้อ พระร้องเพลงเกี้ยวสาว พระแอบฉันข้าวเย็น  
 

พระธรรมยุติกนิกาย กำเนิดขึ้นโดยในหลวงรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งทรงผนวชอยู่ วชิรญาณ ภิกขุหรือ วชิรญาโณ โดยพระองค์ทรงได้รับพระสงฆ์ผู้ที่มีความสมัครใจจะมาร่วมเป็นธรรมยุติกนิกายด้วย เพื่อให้พระสงฆ์ผู้ที่มีใจปรารถนาการปฏิบัติเคร่งครัดพระธรรมวินัยนั้นมาอยู่ร่วมกัน 
 

ข้อวัตรปฏิบัติของพระธรรมยุต อาทิ ฉันเสนาสนะเดียว ไม่จับปัจจัย ไม่สวมรองเท้า เน้นอรัญวาสี ควบคู่กับการศึกษาเล่าเรียนพระบาลีด้วย ดังนั้นพระภิกษุในสายธรรมยุตจึงค่อนข้างเคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากกว่า ตั้งแต่การครองจีวรไปถึงวัตรปฏิบัติอื่นๆ แตกต่างกันหมด 
 

 

สีจีวรพระธรรมยุตจะเป็นสีกลัด หรือ สีเหลืองแก่นขนุน
 

การครองจีวรจะเป็นแบบห่มคลุมลูกบวบ ห่มลดไหล่ในวัดก็ลูกบวบ แต่เอาแขนขวาออกมาแล้วห่มเฉียวพาดบ่าซ้าย 
 

สีจีวรพระมหานิกาย จะเป็นสีเหลืองส้ม ห่มคลุมแบบมังกร คือ ลูกบวบร้อยตามแขนซ้ายไม่หนีบลูกบวบ(ห่มแบบสมเด็จโต) เวลาอยู่วัดจะห่มลดไหล่เหมือนกันแต่ไม่ม้วนเป็นลูกบวบใช้พับไปมา มีผ้าคาดที่อกเรียกว่า ห่มดอง และ ห่มลดไหล่แบบลูกบวบคล้ายธรรมยุตแต่หมุนลูกบวบไปคนละด้าน คือต่างกันตรงที่ ม้วนเข้าตัวเป็นธรรมยุต กับ ม้วนออกตัวเป็นมหานิกาย

 

เคยมีขุนนางตั้งข้อสังเกตว่า วชิรญาณภิกขุ ในคราวนั้นสั่งสมกำลังพลอยู่หรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้เป็นความจริงแต่ประการใด พระองค์ท่านมีเจตนาดีในการแยกแยะพระสงฆ์ระหว่างผู้ตั้งใจปฏิบัติดีออกมาจากสังคมพระที่ปฏิบัติไม่ดี  
 

แม้แต่คำขอบวช  ของฝ่ายมหานิกาย เปล่งวาจาต่อหน้าพระอุปัชฌาย์ว่า จะบวชเพื่อมาศึกษาให้ถึงพระนิพพาน แต่ของฝ่ายธรรมยุต คำขอบวชที่เปล่งต่อหน้าพระอุปัชฌาย์เพื่อมาศึกษาให้เข้าถึงพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ (ไตรสรณคมน์) 
 

แต่เมื่อครั้นพระองค์ลาสิกขาบทแล้ว ก็ทรงทนุบำรุงพระพุทธศาสนาทั้งมหานิกายและธรรมยุติกนิกายอย่างเท่าเทียมกัน ยามมีงานรัฐพิธีใดๆ ก็นิมนต์พระ 9 รูป โดยเป็นพระสงฆ์คณะธรรมยุต 4 รูป พระสงฆ์มหานิกาย 4 รูป รวมเป็น 8 รูป ส่วนรูปแรกนั้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช ซึ่งจะมาจากนิกายใดก็ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจพระราชศรัทธาและลำดับอาวุโสทั้งทางอายุพรรษาและสมณศักดิ์ รวมกันก็ครบ 9 รูปพอดี 
 

ส่วนสมณศักดิ์ ก็มีจำนวนเท่ากันเพียงแต่พระธรรมยุตมีจำนวนน้อยกว่า พระอายุน้อยๆ จึงได้รับสมณศักดิ์ที่สูงได้รวดเร็วกว่าพระมหานิกาย ที่มีตำแหน่งเท่าพระธรรมยุต แต่จำนวนพระมากกว่า พระอาวุโสพรรษามากๆ บางทีก็มีสมณศักดิ์ไม่สูงเท่าไหร่นัก
 

พระธรรมยุตในปัจจุบันนี้ โดยมากจะเป็นพระป่าเสียมาก มุ่งเน้นอรัญวาสี ภาวนาจิตภาวนาธรรม นับแต่พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นปฐม แต่พระมหานิกายที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นพระป่าอรัญวาสี ในอดีตก็ หลวงพ่อชา สุภัทโท วัดหนองป่าพง อุบลราชธานี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) เป็นต้น