บาญชี น้ำฝน

10 ก.ย. 2565 | 05:57 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ย. 2565 | 14:04 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

เมื่อได้เล่าถึงเรื่องน้ำฝนกันแล้ว ก็ให้เกิดนึกถึง เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเกี่ยวแก่ฝนและการสถิติสำคัญในแผ่นดินขึ้นมาได้ สมัยสิบๆปีมานี้ดาวเทียมสภาพอากาศใช้งานได้ดีขึ้นและเริ่มมีความแพร่หลายมาเปนระยะๆ ต้นทุนการเข้าถึงข้อมูลค่อยๆต่ำลงๆและแสดงผลผ่านอินเตอร์เน็ตมือถือได้
 

ทว่าก่อนหน้านี้มันลำบาก การพยากรณ์อากาศและฝนฟ้าเปนเรื่องของการเสี่ยงทาย และทำนายมากกว่าพยากรณ์

เมื่อครั้งที่ ดร.ไตรรงค์ สุวรรณคีรี เปนรองนายกรัฐมนตรีดูแลเศรษฐกิจเศรษฐการอยู่นั้น ชะรอยจะเห็นว่าบ้านเมืองเริ่มไม่เข้าที ยามมีภัยธรรมชาติพายุเข้า น้ำป่าไหลหลาก ฝนถล่มพื้นที่การเกษตรแต่ละทีมีความเสียหายรัฐบาลต้องหาทางควักกระเป๋าเอางบประมาณกลางมาเยียวยาชดเชยซึ่งไม่รู้ได้เลยว่าจะจบกันตรงไหนเมื่อไรเปนภาระที่หนักหนาและแลดูว่าไม่สิ้นสุด


ไอ้ตัวเรากำลังปลุกปั้นนวตกรรมการประกันภัยใหม่ๆอยู่พอดีลักษณะที่ยังไม่มีใครทำในเอเชียได้แก่การประกันภัยเรือประมงไม้ การประกันภัยโคนมแม่พันธุ์ และการประกันภัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ก็ไม่รู้ซีเห็นในหมู่เกาะแถบเฟรน_โพลีนีเซียเขาเพาะเลี้ยงหอยเพื่อทำไข่มุขดำตาฮิติกันเปนล่ำเปนสัน บริษัทประกันภัยของฝรั่งอายุเปนหลายร้อยปีอย่าง RSA-Royal & Sun เขายังรับประกันเภทภัยให้ หากอากาศแปรปรวนสายน้ำเปลี่ยนทิศอุณหภูมิ ทำให้หอยมุขตาย ใครทำประกันกับเขาไว้ เขาก็จ่ายชดเชย ไม่เห็นต้องพึ่งพางบประมาณรัฐ กะอีแค่ของเราปลูกข้าว ปลูกข้าวโพด ทำไม๊จะทำไม่ได้?

ได้เวลาก็บินลัดฟ้าไปปารีส หาช่องทาง approach ตลาดผู้รับประกันภัยของแปลกๆ จะได้เอามาเสนอขายรองนายกฯ55  สมัยนั้นมือของศัลยแพทย์เขาเริ่มประกันกันแล้วหากว่ามือหมอเสียไปด้วยประการใดๆใช้ผ่าตัดให้คนไข้ไม่ได้อีก ทำหมอเสียใจและเสียรายได้ บริษัทประกันก็จ่ายชดเชยให้ทั้งกายใจในราคามากกว่ามือคนธรรมดา (แน่นอนว่าเบี้ยก็แพงกว่าด้วย) มงกุฎนางงามจักรวาลเขาก็รับประกันเวลาเดินทางไปออกงานที่ไหนๆ การเพาะเลี้ยงกุ้งขาววานาไม ก็มีผู้สนใจรับประกันให้ถ้าเครื่องบินตกใส่บ่อกุ้ง_เขาก็จ่าย ไม่นับพวกวัวพ่อพันธุ์ที่ขายน้ำเชื้อ ประกันไว้ถึงขั้นภัยจากเสือ/หมาป่ามาขบกัดตาย หรือเดินเปะปะไปชนรั้วไฟฟ้า ก็จ่ายให้ 
 

แต่เขามีเงื่อนไขต้องให้เขามาสำรวจโอกาสเกิด‘ภัย’ในหนำใจเสียก่อน ไม่งั้นมันจะเข้าข่ายเล่นพนันขันต่อมากกว่าการประกันภัยคนสำรวจและประเมินความเสี่ยงนี้ดูเหมือนเรียกกันว่าแอคชัวเรียลทำหน้าที่ค้นคว้าสถิติและออกรูปแบบโมเดลพยากรณ์ด้วยความรู้ทางคณิตเศรษฐศาสตร์ math-econ เขาจะเปนพวกนิยมสถิติกันมาก
 

ครั้งนั้นได้ประชุมกับฝรั่งเพื่อหาทางให้เขารับประกันภัยพืชผล(crop) ในเมืองไทยบ้าง ด้วยว่ากรมธรรม์ชนิดรับชดใช้ภัยอากาศจากฝนตกน้ำท่วมลูกเห็บลง ฝรั่งมีทำให้ใช้กันแพร่หลายในยุโรปน่าจะเอามาขายให้เกษตรกรเมืองไทย 
 

อันฝรั่งทั่วไปไม่เคยรู้เรื่องวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ชาติคนอื่นเขา ก็เปิดฉากดูเบาโจมตีว่าเมืองไทยนั้นเสี่ยงนัก เปนประเทศไร้สถิติ ไม่มีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลดาวเทียมก็ไม่มี จะให้มีการสนใจรับประกันได้อย่างไร_หนอยย


จึงปล่อยฝรั่งพร่ำเพ้อลำเลิกไปให้มันเข้าเนื้อถึงเรื่องประวัติศาสตร์สักกะพัก มีจังหวะจึงได้ทีงัดเอา‘สำเนาบาญชีน้ำฝน’ ซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ฯ ผู้ทรงสร้างพระกริ่งปวเรศ มีพระกรุณาเฝ้าจดบันทึกไว้แต่ร้อยๆปีก่อน โดยยุคแรกทรงใช้บาตรพระไปตั้งไว้กลางแจ้งแทน pluviometer หน้าพระตำหนักวัดบวรฯ ยามเมื่อฝนลงทุกคราวไป
 

ฝนเต็มบาตรที ก็ทรงหมายทีว่า เปนปริมาณ 1 ห่า ต่อมาทรงหาทางคำนวณแปลงหน่วยจากห่าวัดปริมาตรเปนเซ็นติเมตเตรอะบันทึกไว้โดยทรงบันทึกวิธีแปลงไว้ในจดหมายเหตุโดยละเอียดเชื่อถือได้


 

มีพระวิริยะอุตสาหะกระทำบาญชีน้ำฝนเปนจดหมายเหตุนี้ต่อเนื่องยาวนานถึง 45 ปี !
 

สิ้นหลักฐานโชว์ฝรั่งดังนี้ ฝรั่งก็ว่า_อื้อฮือ ขออภัยทีที่ได้ดูเบาเอาไว้
 

ดีลที่อั้นไว้ไม่ยอมให้ไทยได้ทำก็เหมือนอย่างว่ามีหลังคากระจกบางๆกั้นขวางนั้นแตกสลายทะลายลงด้วยอำนาจความจริงฉะนี้ไทยเรามีของดีนักปราชญ์ท่านมีทำไว้แต่หลายร้อยปีก่อน แม้พระกริ่งปวเรศท่านสร้างเวลานี้จักมีมูลค่าทบทวีครึ่งร้อยล้านอย่างไรๆ

 

จดหมายเหตุบาญชีน้ำฝนแห่งองค์ท่านผู้สร้างกลับให้คุณแก่ธุรกิจประกันภัยพืชผลเสีย ยิ่งกว่าในกรณีนี้ นาคให้น้ำ กี่ห่าทรงบันทึกไว้เพื่อประกอบสถิติตามตำราคำนวณ ยามมีผู้ขอฤกษ์ประกอบการณ์มงคล ยามมีผู้ขอรับพระกรุณาทรงให้คำพยากรณ์ดินฟ้า พระนามเดิมขององค์ท่านก่อนพระบารมีขึ้นที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้านั้น_ทรงนาม พระองค์เจ้าฤกษ์
 

เพื่อเปนการจารึกพระกิตติคุณจึงขอนำพระประวัติท่านลงประกอบบทความนี้ไว้ด้วยว่าสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 18 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ (วังหน้า) ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็กตรงกับวันที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2352 เวลาสี่ทุ่มเศษ เนื่องจากวันประสูตินั้นเป็นวันเริ่มสวดมนต์ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่2 จึงได้รับพระราชทานนามว่าพระองค์เจ้าฤกษ์
 

เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วศึกษาภาษาบาลีตามคัมภีร์มูลกัจจายน์กับพระญาณสมโพธิ (รอด) 


 

เมื่อมีพระชันษาครบ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 โปรดเกล้าฯให้ผนวช ได้สมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์  
 

พ.ศ. 2394 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามว่า พระเจ้าวรวงษ์เธอกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธคณะนายก พุทธสาสนดิลกบวรัยยะบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคมหาสมณุดม บรมบพิตร และดำรงตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตพระองค์แรก 
 

ปี 2416 พระองค์ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากลาผนวช ทรงตั้งพระทัยจะถวายมหาสมณุตตมาภิเษก แต่กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ไม่ทรงรับ เพราะถ่อมพระองค์ว่าจะเป็นเจ้าวังหน้า ไม่ควรข้ามชั้นเจ้านายวังหลวงหลายพระองค์ที่มีพระชันษาสูงกว่า  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้า ฯ เลื่อนพระอิสริยยศขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงษ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์บวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธะคณะนายกพุทธสาสนดิลกบวรัยยะบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคอนาคาริยรัตโนดม พุทธะวราคมโหรกลากุสโลภาศ ปรมินทรมหาราชหิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย พุทธาทิศรีรัตนไตรคุณารักษ์ อุกฤษฐศักดิ์สกลสังฆปาโมกข์ ประธานาธิบดินทร มหาสมณคะณินทรวโรดม บรมบพิตร ได้รับนิตยภัตเดือนละ 10 ตำลึง เบี้ยหวัดปีละ 30 ชั่ง และมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปอื่นใดเป็นสมเด็จพระสังฆราชเป็นระยะเวลาถึง 23 ปี

พ.ศ. 2434 มีพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเจริญพระชนมายุไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใดในพระบรมราชตระกูลอันนี้ ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ยังดำรงอยู่ก็ดี ที่จะมีพระชนมายุเทียมถึง ทั้งยังเป็นที่นับถือของคนทั่วไปทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และฝ่ายบรรพชิต จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมสมเด็จพระ พระราชทานเบญจปฎลเศวตฉัตร ตาลปัตรแฉกพื้นตาด รับนิตยภัตเดือนละ 12 ตำลึง เบี้ยหวัดปีละ 35 ชั่ง ตั้งฐานานุกรมได้เพิ่มอีก 4 รูป มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
 

“พระเจ้าบรมวงษ์เธอกรมสมเด็จพระปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังษีสุริยพันธุ์ ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุต ปฏิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรพชิต สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชา ปัญญาอรรคมหาสมณุดม บรมพงษาธิบดีจักรกรีบรมนารถ มหาเสนานุรักษ์อนุราชวรางกูรปรมินทรบดินทร์สูริย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย์ ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤษฐสมณศักดิธำรง มหาสงฆปรินายกพุทธสาสนดิลกโลกุตมมหาบัณฑิตย์สุนทรวิจิตรปฏิภาณ ไวยัตติยญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรคุณารักษ์ เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิโลกยปฏิพัทธ พุทธบริสัษยเนตร สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ สฤษดิศุภการ มหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร”
 

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำริว่า การเรียกพระนามพระบรมราชวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลแต่เดิมนั้นเรียกตามพระอิสริยยศแห่งพระบรมราชวงศ์ ไม่ได้เรียกตามสมณศักดิ์ของพระประมุขแห่งสังฆมณฑล คือ “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” หรือที่เรียกอย่างย่อว่า “สมเด็จพระสังฆราช” พระองค์จึงเปลี่ยนคำนำพระนามของพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระประมุขแห่งสังฆมณฑลว่า “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า” เพื่อให้ปรากฏพระนามในส่วนสมณศักดิ์ด้วย ดังนั้น จึงเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” 
 

สมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น สิ้นพระชนม์เมื่อพระชันษาได้ 83 ปีเศษ พระศพเก็บไว้ 8 ปี จึงมีการพระราชพิธีถวายพระเพลิงที่พระเมรูท้องสนามหลวงต่อมา
 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,817 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2565