thansettakij
ปัญหาเครื่องแบบสโมสร

ปัญหาเครื่องแบบสโมสร

15 ต.ค. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

วานนี้คุณผู้อ่านถามมาว่า จะแต่งเครื่องสโมสรสักหน่อยในงานมงคลสมรส และด้วยความที่เปนคนมียศ เวลาจะแต่งมันจะมีระเบียบกำกับไว้ แต่ทำไมเมื่อดูผู้ใหญ่มียศแต่งเครื่องสโมสรตามระเบียบกำหนดมันถึงดูไม่สง่างาม ตามเจตนาของเครื่องแบบ ก็ขอเรียนว่า เครื่องสโมสรอย่างว่าทักซิโด้นี้ฝรั่งแยกเปนสองส่วน
 

ส่วนแรกคือมีเสื้อกั๊กขาวทับเสื้อเชิร์ตก่อน แล้วจึงใส่เสื้อทักซิโด้ตัวนอกทับ ส่วนที่สองคือใส่เชิ้ร์ตแล้วใส่สายรัดพุง (คัมเบอร์บันด์) แล้วจึงใส่ทักซิโด้ตัวนอก

รายละเอียดของแต่ละเหล่าแต่ละกองแตกต่างกันไปว่าตัวเสื้อนอกทักซิโด้สีไรปกไร แต่โดยทั่วไปเสื้อนอกสโมสรต้องคอช้อน shawl lapel และกระดุมเปนโซ่ทอง
 

ถ้าเราไม่มีสายสะพายเครื่องราช เราอย่าไปใส่แบบแรก_อายเค้า และถ้าเรามีสายสะพายจะใส่ ก็อย่าเอาสายพาดไหล่แบบทั่วไป_อายเค้า มันทับผ่านเฉพาะเสื้อกั๊กมาหรอก ไม่อ้อมตัว และสายสำหรับชุดแบบนี้จะสั้น พวกฝรั่งมีไว้เฉพาะ

เวลาใส่ชุดแบบนี้ กางเกงเขาห้ามมีจีบ ปลายขาต้องเฉียงทำหน้าสั้นแต่หลังยาวจึงถูกต้อง เรียกว่าขาม้า ไม่มีการพับ เวลาใส่กับรองเท้าบู้ทเครื่องแบบหน้าขากางเกงส่วนที่เจอรองเท้าจะไม่หักดูสวย ยิ่งพวกเหล่าทหารม้าติดสเปอร์กระทุ้งม้าที่ส้นรองเท้าจังหวะกางเกงก็จะพอดี ชายหลังคลุมส้นรองเท้าจังหวะพอดี ร้านเมืองไทยตัดกางไร้จีบมีฝีมือคือช่างขุนทองอยู่ร้านบีโธเฟ่น ตัดแล้วต้องไม่ตึ่กตั่ก ต้อง sleek ดูบางและสูง ช่างพวกนี้จะรู้วิธีหลบตูดอ้วนและเจาะช่องว่างตรงหัวเข่าเพื่อพรางหุ่นให้ชะลูด 
 

ถัดมาคือว่าเวลาใส่คัมเบอร์บันด์ผ้าคาดพุง อันนี่มันก้อคือผ้ารัดประคตดีๆนี่เอง มันไม่ใช่เข็มขัด 
 

ใครบวชพระแล้วก็จะมีความเข้าใจ ตัวเข็มขัดพระจะเปนเชือกถักเปนแผ่นๆ อันนั่นใช้คาดรัดตอนนุ่งสบง(ผ้านุ่ง) ส่วนเวลาห่มดองครองจีวรเสร็จดีแล้วพระคาดผ้ารัดรอบตัว อันผ้านั้นคือผ้ารัดประคต 
 

คนก้อบอกว่า เฮ้ย เขาเรียกผ้ารัดอก 55 
 

ไม่ใช่ซี่_มันต้องนิยามคำว่าประคตก่อน
 

ประคตนี้ ราชบัณฑิตท่านว่า มันคือ “ผ้าสำหรับคาดเอวทับเครื่องแบบขุนนางสมัยโบราณ”
 

‘เมื่อพิจารณาแล้วคำว่า รัดประคด ไม่น่าจะเกิดจากการประสมคำระหว่าง รัด กับ ประคด ในภาษาไทย แต่เป็นคำซ้อนความหมายระหว่าง รัด ในภาษาไทย และคำว่าประคด ในภาษาเขมร 
 

ประคด มาจากคำว่า ปุรคต (pragat) ในภาษาเขมรโบราณ ที่มีความหมายว่า “ทำให้มั่นคง, ทำให้แข็งแรง, สนับสนุน” ซึ่งคำว่า ปรุคต แผลงมาจาก อุคต (qgat) ที่หมายถึงมั่นคง, ขัดวาง, ทึบ, สมบูรณ์ นอกจากนี้ยังแปลงเป็นคำว่า ผ.คต (phgat) ที่หมายถึง ทำให้สมบูรณ์, ทำให้มั่นคง, กระทำหน้าที่อย่างหนึ่ง
 

ดังนั้น คำว่า “ประคด” จึงน่าจะเป็นคำที่มาจากภาษาเขมรโบราณและนำมาใช้ในภาษาไทยโดยหมายถึง “สิ่งที่ทำให้มั่นคง” ซึ่งต่อมาได้มีความหมายเป็นคำนามหมายถึง “ผ้าประคด” ซึ่งเป็นความหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั่นเอง’


 

เมื่อเปนตามนี้แล้ว ก็จะเห็นภาพว่าผ้ารัดประคตรัดที่ส่วนแคบสุดของร่างกาย ถ้าไม่เห็นภาพก็อาจลองไปยืนส่องกระจก ดูว่าชายโครงช่วงใต้ราวนมก่อนถึงสะดือน่ะ นั่นล่ะตรงนั้น
 

รัดอกจะไปรัดทำไมมันยังไม่ถึงตำแหน่ง!
 

ช่างตัดเสื้อไทยเวลาไปตัดให้ทหารตำรวจก็มั่วๆไป คิดว่าผ้าคัมเบอร์บันด์นี่มันแทนเข็มขัด ก็คิดเอาง่ายพรรค์นี้นี่เล่า งานฝีมือเราถึงไม่ไปไหน เอาให้ ผบ. ใส่ห้อยเปนไถ้เก็บเบี้ยเด็กตลาดเกาะท้ายรถไปได้ ยามออกงานราตรีสโมสร เขาใส่เชิร์ตอกอัดกลีบกัน และติดกระดุมพิเศษที่มันทำจากเปลือกหอยมุกหรือนิลดำเลี่ยมทอง ช่างจะทำมาให้ 3 เม็ดเท่านั้น เพราะใช้จริงแค่ 3
 

เสื้อเชิร์ตทั่วไปกระดุม 5 เม็ด สายรัดพุง เอ้อ ประคต นี้จะปิดเม็ดที่ 4-5 หมด ก็ไม่จำเปนต้องทำเลี่ยมเเล้ว_เปลือง ตอนโควิดประกาศขายอยู่ชุดหนึ่งได้มาจากนิวยอร์คชุดตั้งแปดหมื่น 55 ในหนึ่งกล่องมีกระดุมข้อมือ 2 ข้าง กระดุมเชิร์ตอกแข็ง 3 เม็ด เวลาไปตัดชุดสโมสร ต้องเอาแบบให้ดู ว่าเราตัดเองสูงหรือเอวต่ำ ช่างที่เปนงานเห็นทรงหุ่นเราจะคำนวณได้เอง เขาเรียก drop คือสัดส่วนระหว่างหัวไหล่ของเรากับพุงที่เอว
 

คนดร็อปมากๆ ไหล่กว้างกว่าเอวมาก คนดร็อปน้อยๆกลับกัน เวลาไปซื้อเสื้อนอกที่ทำสำเร็จรูปแล้ว นอกจากดูเบอร์เสื้อ เขาต้องดูดร้อปที่ว่านี้ด้วย ถ้าเราไหล่กว้างใหญ่กว่าเอวมากๆก็ต้องเลือกเบอร์เดียวกันแต่ดร้อปสูง เปนต้น แต่ช่างเสื้อที่เก่งๆเขาต้องใช้วิชาวางทางแก้เพื่อสมดุลเสื้อผ้า กับความสูงของร่างกาย ซึ่งมีสะดือเปนศูนย์กลาง


 

ช่างดีๆ สมัยนี้ตายสูญไปเยอะคนจะเข้าใจวิธีกลทำผ้าหายาก ถ้ามีสตางค์จะทำเครื่องแบบสโมสรแนะนำว่าร้านบรอดเวย์ เพชรบุรี ซอย 10 น่าจะยังสืบวิชาบิดาไว้ได้
 

ส่วนไบธาโน่ ความเปนไปยังไงไม่แน่ เคยอยู่สุขุมวิทตรงข้ามปากซอย 24 ไบลเช่ ก็เช่นกันเจ้าของเปนช่างเองค่อนจะดุ ร้านอยู่ปากซอย 26 เจ้าวิชาเหล่านี้ทำกางเกงไร้จีบได้ดี อาร์ต เทเลอร์เฉพาะสาขาธนิยะ น่าจะได้ ชู ดิออร์ ว่ากันว่าหลบมาอยู่เพนนิน ซึ่งเพนนินก๋เลิกกิจการไปอีกที ส่วนไอดีล มีช่างหมูกะหมี พี่น้อง น่าลองเจรจาดูก่อน

 

รูปนี้เชิญมาของท่าน ศ.นพ.กุณฑล สุนทรเวช ผู้ล่วงลับ ท่านใส่เสื้อราตรีสโมสรได้สวยสง่าคาดสายคัมเบอร์บันด์ถูกต้องสมดังที่ว่าช่างเสื้อทั่วไปทั้งหลายต้องดูแบบไว้

อนึ่งกางเกงราตรีสโมสร เขาต้องมีแถบด้วย ไม่งั้นไม่สวย คล้ายกับพวกทหารต่างๆเขามีแถบข้างตัวกางเกงกัน ยศน้อยแถบเล็ก ยศมากแถบเยอะ เปนนายพลแล้วแถบเปลี่ยนสี บางเหล่าเขาไม่เปลี่ยนเช่นพวกทหารรักษาพระองค์เปนต้น ช่างต้องพลิกรายละเอียดข้อกำหนดมาดูก่อนตัด ไม่งั้นมันจะผิดตำรา ใส่พลาดไปคนรู้จริงเขาจะขำเฮฮาใส่เราเสียเปล่า 
 

ส่วนเข็มขัดนั่นกางเกงสโมสรเขาไม่มี ใครจะหลุดเวลาเดินก็ใส่สายรั้งกางเกงเอา เรียก suspender  ใส่ไม่ได้หรอกเข็มขัด มันพะรุงพะรัง ในเมื่อต้องมีรัดประคต คัมเบอร์บันด์คาดพุงอยู่แล้ว


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,827 วันที่ 16 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565