สัปดาห์ก่อนมีโอกาสไปร่วมระดมสมองกับองค์การต่างๆทั้งมหาชน ไม่มหาชน รัฐการและราชการที่เคปดารา ชายผาบางละมุง เขาทั้งนั้นพากันหาทางคิดในการดึงเอาความเคว้งคว้างของเศรษฐกิจจากอวกาศในห้วงคำนึงของผู้คนให้ลงมาสู่ความสัมผัสจับต้องได้ เกิดรายได้ใส่กระเป๋าแก่เหล่าผู้คนบนดินเปนการทั่วไป
วาระนี้จึงใช้วิธีตั้งแผนจะไปดึงเอางาน International Air Show ของระดับโลกมาจัดให้ได้ที่พัทยา เจตนาจะชูอุตสาหกรรมบนฟ้าให้เปนที่รู้จักจะได้พลอยช่วยยกระดับเศรษฐกิจอวกาศในเมืองไทยขึ้นมาได้บ้าง
ตั้งเป้าไว้จะให้เปิดงานประเดิมได้ในปี 2568 และจัดงานเต็มรูปแบบได้ในปี 2570 คงใช้ชื่อ “Thailand Intemational Air Show 2570 “ หวังใจให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมการบินและอวกาศในพื้นที่ EEC กับภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง สร้างนักวิจัยฝ่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา สร้างโอกาสด้วยสิทธิประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานต่างๆในพื้นที่ เพื่อปลายทางจะได้หนุนนำศักยภาพแห่งผู้ประกอบการด้านการบินและอวกาศให้เปล่งประกายจะได้ใช้พื้นที่ EEC ทำฐานการขยายธุรกิจเทคโนโลยีขั้นสูงที่เกี่ยวกับการบินและอวกาศ นำไปสู่การเชื่อมต่อกับอุตสาหกรรมในระดับภูมิภาค ส่งผลต่อเนื่องให้ไทยเข้าสู่ Global value chain ด้านอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม_บร้ะ งานใหญ่
อันความพยายามในการขับเคลื่อนอะไรๆไม่ว่าจะเกวียนวัว รถราข้าควายต่างๆนั้น ลงว่าก้าวแรกแห่งการขับเคลื่อนมันจะต้องยากและหนาหนักเสมอไป เปนไปตามหลักการทางฟิสิกส์อย่างว่าโมเมนตัมนั่นแล ดูทีรึรถยนต์แพงๆถึงจะล้ำยุคทันสมัย การจะออกตัวเคลื่อนที่ไปทีก็ต้องโหลดแรงขับจากเกียร์หนี่งเปนการดึงให้เคลื่อนไปด้วยกำลังลาก ฝ่าความเสียดทานและหนาหนัก ด้วยความสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงก็อย่างสูง
อีทีนี้จะทำไงดี ให้มีกำลังฉุดลากมากๆเข้า ก็ขอเรียนว่า พลังแห่งความสามัคคีน่ะซีจะช่วยได้
ทว่าอดีตกาลผ่านมาระบบการทำงานรัฐการอย่างไทยๆนี้ ความสามัคคีน่ะมันเกิดได้ยาก เพราะฝังหัวกันมาแต่ระบอบวิทยาการเดิมๆว่างานอะไรนอกเหนือขอบเขตของตัวเองแล้ว_อย่าไปยุ่ง มันเสี่ยง มันจะวุ่น และเกิดเผลอพลาดพลั้งผิดอะไรไปมันจะยิ่งซวยหนัก เพราะมันนอกหน้าที่ สู้อยู่นิ่งๆไว้ดีกว่า รอให้เขามี ‘เจ้าภาพ’ แล้วเราค่อยไปช่วยงาน แหม่! คิดงานยังกะทำการศพ!
อันการจะทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยให้เกิดความสามัคคีร่วมมือนั้นไซร้ ท่านว่าไว้ ตัวโต้โผต้องเปนคนมีอัธยาศัย_คาแรกเตอร์ ไอ้ที่เที่ยวจะนั่งปั้นปึ่งเชิดคางขวามือวางพานทองเกียรติยศนั่น ทำโผได้ยาก ติดจะโต้เสียมากกว่า 55 เพราะคนร่วมงานเขาว่า เข้าถึงยาก ลักษณาการพาลจะไปสั่งการใช้งานเขา เเละเอาความชอบเก็บไว้ฝ่ายเดียว_โอ๊ย อย่างงี้ใครจะยอม! มันย่อมต้องป้องต้องกัน หาทางปัดแข้งขากัน งานจะไม่เดินก็ช่างศักดิ์ศรีและความเปนธรรมต้องมาก่อน_ดังนี้
ในที่ประชุมคราวนี้ เห็นบรรยากาศ ‘ร่วม’ กันทำงาน ระหว่าง สำนักงานเขตเศรษฐกิจพิเศษ, บีโอไอ, หอการค้า, เมืองพัทยา, ม.บูรพา, สสปน. ก็น่าชื่นใจ จับสังเกตได้ว่ามีกลไกบางอย่างในการจุดประกายความร่วมมือกันผลักดัน นั่นก็คือ อัธยาศัยของคนในการเปนมือประสาน
คนหาทางประสานสิบทิศกับหน่วยต่างๆ ครานี้ในส่วนภาคอวกาศย่อมจะเปนใครไปเสียมิได้นอกจากหน่วยงานที่เยาวชนเรียกขานกันว่า นาซ่าประเทศไทย ในชื่อเต็มว่า Geo-informatics & Space Technology Development Agency _ จิสด้า ซึ่งเวลานี้มีนักนวัตกรเปนวิศวกรดาวเทียมจากสวีเดน ชื่อ ดร. ดำรงค์ฤทธิ์ มาเปนรองผู้อำนวยการอยู่ แลดูพยายามผลักดันขับเคลื่อนงานนโยบายเศรษฐกิจอวกาศมาหลายปี เห็นทีจะได้เรื่องก็ปีนี้ ท่าทางเปนคนตัวเล็กและมีอายุน้อยแต่ว่าคุณวุฒิและอัชฌาสัยเขานั้น_มีแวว
หลายคราวผู้คนค่อนขอดกันเรื่องความมีอายุน้อยเวลาไปทำงานใหญ่ๆ ก็ไม่รู้ทำไมเปนคนอย่างนั้นกันหนอ คนประสานเดินงานใหญ่ๆเปนเด็กสิดี อาศัยเปนผู้ที่มีความนอบน้อม กลมกลืน ยามไปขอความช่วยเหลือ คนรุ่นพี่ๆก็ยินดีมาให้ คาแรกเตอร์แบบนี้ มิใช่ว่าใหญ่ชนใหญ่ วางมาดใหญ่โตเขื่องไป ประชาชนก็น้ำตาตกใน งานอะไรๆก็ไม่เกิด
บรรทัดนี้ก็พาให้น้อมใจระลึกถึง กรรมการผู้ใหญ่ในสภากาชาดสมัยก่อน คือ ท่านเจ้าคุณพระยาพิพัฒน์ธนากร (ฉิม โปษยานนท์) ท่านเปนผู้ใหญ่สำคัญในบ้านเมือง เปนพระยาแต่ยังอายุน้อย รับราชการเปนถึงที่อธิบดีกรมฝิ่น(สรรพาสามิต) เปนวุฒิสมาชิก เปนประธานไทยพาณิชย์ประกันภัย กรรมการพระคลังข้างที่ ฯลฯ ท่านไปประชุมที่ไหนอย่างไร ผู้คนบันทึกไว้เลยว่าท่านยกมือไหว้กรรมการอื่นก่อนเสมอ ทั้งที่ตัวก็ชาติวุฒิมาดีเปนบุตรเศรษฐีมั่งคั่ง คุณวุฒิการศึกษาก็สมบูรณ์แบบ แถมมียศฐานฯบรรดาศักดิ์เหรียญตรา เปนถึงมหาอำมาตย์ตรี พระยาพานทอง กิริยาอัชฌาสัยอย่างท่านผู้นี้ ไปเดินงานในที่ใดๆทั้งไกลใกล้ งานหลวงงานราษฎร์ก็ได้รับความร่วมมือทั้งหมด
ส่วนมหาเศรษฐีอีกท่านหนึ่ง คือ เจ้าสัวอุเทน เตชะไพบูลย์ ผู้ล่วงลับ ยามไปเปนกรรมการทำงานร่วมขับเคลื่อนกับหน่วยอื่นๆนั้น เขาบันทึกกันไว้เลยว่า แม้วันนั้นท่านผู้เคยเปนถึงประธานมูลนิธิปอเต็กตึ๊งมาแล้ว มีเหตุให้ต้องเข้ารับตำแหน่งรองประธานในวาระถัดมา ผู้คนก็สงสัยว่าระดับท่านเจ้าสัวอุเทนน่ะหรือ ควรจักลดตัวลงมาเปนรอง?
ท่านตอบพวกเขาโดยน้ำใสใจจริงว่า “ เป็นอะไรผมก็เป็นได้ทั้งนั้น จะเป็นบ๋อยผมก็เป็นได้ ขอให้ผมได้ทำงานเถอะ เรื่องตำแหน่งไม่สำคัญ” ดังนี้แล้วคนไม่เปนเจ้าสัวคงเห็นเคล็ดลับของการจะเปนเจ้าสัวขึ้นมาบ้างกระมัง
เพื่อจะให้จบสมบูรณ์ในความกิริยาอัชฌาสัยของทั้งสองท่านในตำนานนี้ ก็จะต่อเนื่องที่ว่า ยามเมื่อท่านเจ้าคุณล่วงลับไป ในการศพของท่านนั้น เจ้าสัวอุเทน ผู้นับถือท่านเจ้าคุณอย่างครูอาจารย์ในความกว้างขวางโดยสุจริตทั้งวงการธุรกิจ สังคมและ การเมือง ยังถือแพรเต็กคำนับศพท่าน เขียนถ้อยคำอาลัย แปลไทยได้ความว่า....ยามท่านอยู่ ท่านชูช่วยด้วยจิตต์เมตตาแก่ปวงชนทั่วทุกภาษา เมื่อท่านล่วงลับไปจากสายตา ปวงชนยังแซ่ซร้องสาธุการเคารพท่านทั่วไป.
คนเก่าๆเขาสำแดงความจริงใจระหว่างกันอย่างนั้น กลับมาที่งานสัมมนาระดมสมองซึ่งเขาก็มาตามหาในฐานะผู้มีเกร็ดข้อมูลลึกๆบ้าง มีข้อมูลเรื่องสำคัญที่ผู้คนลืมไปแล้วบ้าง มาเล่าสู่กันฟังในฐานว่าเปน Focus Group ฝ่ายสื่อสาร
อันว่างานอย่าง Exhibition ขนาดใหญ่ๆจัดกันนมนานเปนปีๆนี้ ยุโรปเริ่มก่อนในศตวรรษที่แล้วๆ งานใหญ่จริงจังฝรั่งเศสใช้หอไอเฟลเหล็กทำประตูเข้างาน ใช้ชื่อว่างาน EXPO ย่อมาจาก exposition_นำสินค้าและบริการออกเสนอ แก่ผู้บริโภค คนไทยสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ไปร่วมออกงานปลูกโรงเรือนเดือนตุลา ปี2442 บรรจุหีบห่อเดือนพฤศจิกา แล้วจัดส่งไปถึงปารีสเดือนมกรา มีเวลาตกแต่ง 3 เดือน เริ่มแสดงเมษา ปี 2443
อ. เอนก นาวิกมูล ท่านว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พระอรรคชายาเธอ และเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ (พร บุนนาค) ส่งม่านรูปภาพเครื่องแต่งช่างปัก เครื่องปักต่างๆ เครื่องดิ้นทำเปนช่อดอกไม้รูปสัตว์, กรมหมื่นนราธิปฯ ส่งเครื่องแต่งกายคนและบ้านไทย, กรมหมื่นดำรงฯ ส่งแพรผ้าม่านประดับ เสื่อ เครื่องลาว กฤชมลายู, กรมหมื่นปราบปรปักษ์-ส่งช้างเผือกใหญ่ผูกเครื่องพร้อม ศาสตราวุธประดับฝา หัวโขน ฯลฯ นอกจากนี้เปิดให้เอกชนที่สนใจส่งของไปร่วมงานได้ด้วย มีบันทึกรายการสิ่งของที่จะไปจำหน่ายหลายรายการ เช่น พระปรางค์วัดอรุณจำลอง สูง 24 นิ้ว อันละ 100 บาท 1 อัน ขาย 200 แฟรงส์, พระอุโบสถวัดพระแก้วจำลอง สูง 15 นิ้ว 54 บาท ขาย 110 แฟรงส์, พลับพลาโรงโขน สูง 12 นิ้ว 14 บาท ขาย 28 แฟรงส์ ฯลฯ
ส่วนว่าเมืองไทยเรานั้นงานใหญ่จริงๆที่ยังติดตราตรึงใจน่าจะคืองาน World Tech เมื่อปี 1995 ที่ใช้พื้นที่ก่อนเข้าเมืองโคราชกว้างใหญ่ไพศาลจัดงานคึกคักที่พักเต็มแน่เอี้ยดทั้งจังหวัดจนกลายเปน ม.เทคโนโลยีสุรนารี จนวันนี้ ธีมงานเวลานั้นสอดคล้องกับนโยบายรัฐที่พยายามจะผลักดันให้ประเทศเปน NICs - เมืองอุตสาหกรรมใหม่ ให้เร่งผลิตนักเทคนิควิศวกรออกมารองรับการขยายจ้างงาน
ในวัน_เวลาที่การสื่อสารยังอนาล็อก และ ผู้คนงุนงงกับศัพท์แสงของเหล่าขุนนางนักวิชาการ ว่านิคส์ นี่มันคืออะไร แล้วเราคนเดินดินต้องทำไงบ้าง ยามนั้นขุนพลเพลงเพื่อชีวิต อย่างแอ๊ด คาราบาวก็ต้องออกโรง ขับขานลำนำ ทำความเข้าใจ ใช้อัลบั้ม ‘ทับหลัง’ ออกเพลง นิคส์ มาร้องประชันกับความรันทดของคนที่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ว่าบัดนี้เขาจะก้าวไปข้างหน้ากันในนามของว่า เราคือเมืองอุตสาหกรรมใหม่
งาน Airshow ปี 2570 จะเปนอย่างไรก็ตามที มีอยู่2ปัญหาที่ต้องทุบให้แตกจากบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ก็คือ 1. ว่างานนี้ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้คนทั้งชาติได้ ให้เยาวชนรู้จัก ให้คนแก่เข้าใจ ว่าเขาจะไปหาเงินทำอาชีพจากท้องฟ้ากันได้แล้วล่ะนะ ต้องพัฒนาตัวเอง ปรับปรุงเเนวทางชีวิตอย่างไรกันบ้างจะได้รับอานิสงส์ไปด้วย กับ 2. งานนี้ต้องตีเรื่องยากเรื่องเฉพาะกลุ่มให้คลี่คลายเปนเรื่องง่าย ให้เปนเรื่องของคนทั่วไปจะเข้าใจ_เก็ท เขาจะได้มีส่วนเข้าร่วมกันได้ อย่าให้เหมือนเพลงเก่าเราร้องครื้นเครงในความสับสนว่า ‘พ.ศ. 2504 ผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม.. ชาวบ้านต่างมาชุมนุมมาประชุมที่บ้านผู้ใหญ่ลี..มาบัดนี้ผู้ใหญ่ลีจะขอกล่าว ถึงเรื่องราวที่ได้ประชุมมา...ทางการเขาสั่งมาว่า..ทางการเขาสั่งมาว่า.. ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร...ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร?
..ผู้ใหญ่ลีลุกขึ้นตอบทันใดสุกรนั้นไซร้คือหมาน้อยธรรมดา..หมาน้อย หมาน้อยธรรมดา’
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,821 วันที่ 25 - 28 กันยายน พ.ศ. 2565