เมื่อต้นอาทิตย์ที่ผ่านมา พนักงานคนญี่ปุ่นของบ้านพักคนวัยเกษียณของผม ได้แจ้งให้ผมทราบว่า ทางบริษัทที่ทำธุรกิจบ้านพักคนวัยเกษียณที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น ได้เชิญให้ผมไปดูงานของเขาที่เกาะคิวชิว ประเทศญี่ปุ่น ผมไม่ต้องคิดมากหรือลังเลใจเลยว่าจะไปดีไม่ไปดี บอกให้พนักงานท่านนั้นแจ้งเขาไปเลยว่า ผมเต็มใจที่จะไปเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เดินทางไปเมืองฟูกูโอกะ ในวันที่ 21 ธันวาคมที่ผ่านมานี้เลยครับ
ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเลย เพราะสิ่งที่ได้เห็นและได้เรียนรู้มา มันหาในตำราเรียนไม่ได้อย่างแน่นอน จึงอยากจะบอกว่า นั่นคือความใฝ่ฝันที่ผมอยากจะเห็นประเทศไทยเรา เพื่อจะได้มีโอกาสสรรหาสิ่งเหล่านี้ ให้แก่ผู้สูงอายุในไทยเราได้ใช้บ้างครับ
ในวันที่ผมต้องเดินทางไป เนื่องจากเป็นเวลาที่เร่งด่วนมาก จึงให้เลขารีบจองตั๋วเครื่องบิน ไม่ว่าจะเป็นเวลาไหนก็ไม่เกี่ยงทั้งนั้น ขอให้มีที่นั่งไม่ต้องเกาะล้อเครื่องบินไปเป็นใช้ได้ จึงต้องเดินทางในคืนวันอังคารตอนตี 1:20 น. นั่นหมายถึงเช้าของวันที่ 21 นั่นเอง
คืนนั้นบนเครื่องบิน อาจจะเป็นเพราะว่าอายุผมค่อนข้างจะมากแล้ว จึงนอนไม่หลับตลอดเที่ยวบิน พอเช้าเวลา 8 :30 น.ของวันพุธที่ 21 ก็ถึงสนามบินฟูโกโอกะเลยครับ ออกจากสนามบินด้วยการมารับของผู้จัดการสถานบ้านพักคนวัยเกษียณที่นั่น มีชื่อว่า คุณนากามูระ เขาเป็นเด็กรุ่นอ่อนกว่าลูกชายคนเล็กเสียอีก แต่ดูทำงานได้ดีมาก มาคอยติดตามเพื่ออธิบายให้ผมตลอดทั้งวันเลยครับ
วันแรกที่ไปถึง หลังจากที่ได้ออกมาจากสนามบินแล้ว คุณนากามูระก็ได้พาผมไปเยี่ยมชมศูนย์กายภาพบำบัดของบริษัทเขา ซึ่งอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าอีออน (Aeon Department store) ภายในศูนย์ดังกล่าว บริษัทของเขาแบ่งโซนออกมาเป็นโซนต่างๆไว้น่าสนใจมาก
คือโซนแรกที่อยู่ด้านหน้าของศูนย์ จะเป็นโซนการพัฒนาของเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ซึ่งโซนนี้เขาจะมีเด็กที่เป็นกึ่งเด็กพิเศษ ที่ยังสามารถพัฒนาจากเด็กที่กำลังมีแนวโน้มว่าจะเป็นเด็กพิเศษ ให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้ หากผู้ปกครองไม่ทราบหรือปล่อยให้เด็กพัฒนาด้วยตนเอง สักวันหนึ่งเด็กก็จะกลายเป็นภาระของครอบครัว หรือหากข้ามไปอีกขั้นหนึ่ง อาจจะพัฒนาไปเป็นภาระของสังคมต่อไปได้
ดังนั้นการรวบรวมเด็กเหล่านั้นมาเข้าคอร์ส เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเด็กให้กลายเป็นเด็กปกติ จึงมีความสำคัญมาก ผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ นอกจากจะมีนักจิตวิทยาแล้ว ยังมีนักสังคมวิทยา นักการพัฒนาการเด็กวัยเยาว์ร่วมด้วยช่วยกัน น่าสนใจมากทีเดียวครับ
หากที่ประเทศไทยเราสามารถทำได้อย่างเขา เด็กพิเศษของเราที่มีอยู่ไม่น้อยในทุกวันนี้ ก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นเด็กปกติได้ รัฐบาลเขาเองยังให้เงินสนับสนุนช่วยเหลือแก่ศูนย์นี้ด้วยครับ ไม่ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมเหมือนบางประเทศเลยครับ
โซนที่สอง เป็นโซนของผู้สูงอายุ เขาจะแบ่งเกรดตามอาการของผู้สูงวัย เท่าที่ผมเห็น จะมีทั้งระดับช่วยเหลือตนเองได้ จนถึงระดับนั่งวีลแชร์ ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ก็มี ศูนย์นี้จะเป็นศูนย์บำบัดแบบไปเช้าเย็นกลับ หรือแบบรายวันทั้งหมด
โดยผู้สูงวัยส่วนใหญ่ จะมีการขอให้ทางศูนย์ช่วยรับส่งให้ แต่มีค่าบริการเล็กน้อยเท่านั้น ผมจึงถามว่าผู้สูงวัยที่อายุมากที่สุด ที่เข้ามาใช้บริการที่นี่มีอายุเท่าไหร่? เขาตอบว่าอายุร้อยกว่าปีที่ยังเป็นแมมเบอร์อยู่ก็ยังมี ที่ศูนย์เขาให้บริการตั้งแต่การทำกายบริหาร จนถึงทำการนวดแบบกายภาพบำบัด ทำ Cross Kinetic และ Open Kinetic ซึ่งน่าสนใจมาก
เพราะสามารถช่วยแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี ไม่ต้องรอให้ผู้สูงวัยป่วยจนกระทั่งถึงมือแพทย์ ก็สามารถทำให้ผู้สูงวัยเหล่านั้นมีสุขภาพที่ดีได้ไม่ยากเลย นอกจากนี้ ที่ศูนย์ยังมีเครื่องออกกำลังกายทั่วไป คล้ายๆ กับยิมฯ ที่เราเคยเห็นในบ้านเรา ผมก็มีคำถามเขาอีกว่า แล้วผู้สูงวัยจะไม่หักโหมเกินไปเหรอ? เขาตอบว่า ที่ศูนย์นี้จะมีนักกายภาพบำบัด เพราะคนดูแลจะไม่ให้เกิดการผิดพลาดโดยเด็ดขาด และต้องเข้มงวดเรื่องของโปรแกรมการทำกายภาพอย่างเข้มข้น จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการทำโดยพละการโดยเด็ดขาด
ในช่วงหนึ่งของการเยี่ยมชม ผมจะเห็นแต่ละมุมจะมีผู้สูงวัยประมาณสิบกว่าท่าน กำลังทำการโหนเชือกที่ใช้วิธีการห้อยลงมาจากเพดาน แล้วทำท่ากายภาพบำบัด ตามที่นักกายภาพสอนอยู่ด้านหน้าห้อง ตามจังหวะที่นักกายภาพเป็นผู้กำหนด อีกมุมหนึ่งก็มีผู้สูงวัยท่านหนึ่งกำลังให้นักกายภาพทำการบำบัดด้วย Open Kinetic ซึ่งสามารถพูดได้ว่า น่าจะดีกว่าการใช้วิธีนวดที่เน้นเฉพาะจุดจากผู้ที่เรียนวิธีการนวดมาไม่กี่ชั่วโมงครับ
สุดท้ายผมขอดูสมุดจดบันทึกของบรรดาแมมเบอร์ ซึ่งเขานำออกมาให้ทางผมดู ก็ยิ่งแปลกใจมาก ว่านี่คล้ายกับการบันทึกของแพทย์ผู้ชำนาญการจริงๆ เขาก็บอกว่า โปรแกรมที่เขาใช้อยู่นั้น เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่มีบริษัทของญี่ปุ่นหลายแห่ง ได้พัฒนาออกมาสู่ตลาดทั่วไป ดังนั้นจึงไม่น่ามีอะไรที่เป็นความลับเลยครับ
ที่เห็นจากการเยี่ยมชมแห่งแรกนี้ ทำให้ผมย้อนคิดถึงประเทศไทยเรา เพราะปัจจุบันนี้ จะมีเพียงโรงพยาบาลเท่านั้น ที่ทำการในลักษณะเช่นนี้ ทั้งๆ ที่นี่ เอกชนเขาก็สามารถเข้ามาแบ่งเบาภาระของโรงพยาบาลได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องให้โรงพยาบาลต้องสูญเสียทรัพยากรบุคคลอันมีค่า ไปกับการทำกายบำบัดผู้สูงอายุ
โดยเขาจะให้โรงพยาบาลนำเอาศักยภาพของบุคลากรทางการแพทย์ ไปใช้กับผู้ป่วยเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องของการทำกายภาพบำบัดนี้ เขาปล่อยให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ โดยมีรัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้านค่าใช้จ่ายดังกล่าวเสียเอง นี่คืออนาคตที่เราควรจะได้เห็นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สำหรับผู้สูงวัยในบ้านเราก็เป็นได้นะครับ