เปรียบเทียบการอยู่ร่วมกับโรคระบาดของไทยกับจีน

25 พ.ย. 2565 | 20:00 น.
อัปเดตล่าสุด :25 พ.ย. 2565 | 21:34 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเขียนเรื่องการระบาดของเจ้าวายร้ายโควิด-19 ระลอกใหม่  ตอนแรกก็ชั่งใจอยู่ว่าจะเขียนดีหรือเปล่า? เพราะเกรงว่าจะทำให้พี่น้องเราตื่นตระหนก แต่ปรากฏว่าพอเขียนลงโพสต์ในคอลัมน์นี้ไปแล้ว ก็มีเพื่อนๆ ที่เป็นแฟนคลับส่งข้อความมาหลายท่าน

 

มีอยู่ท่านหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นครูสอนภาษาจีน อยู่ภาคเหนือของเรา ได้ส่งบทความฉบับหนึ่งมาให้อ่าน ซึ่งต้องขอชื่นชมและขอบคุณมากที่ส่งมาให้ครับ ผมคงจะไม่ขอนำบทความของท่านมาแปลทั้งหมด

 

แต่จะจับใจความสำคัญๆ ที่อยู่ในบทความนั้นมาให้ลองพิจารณาดูนะครับ เผื่อจะเป็นประโยชน์และช่วยให้เราตระหนักถึงพิษภัยของเจ้าวายร้ายโควิดระลอกใหม่นี้ จะได้ร่วมด้วยช่วยกันในการดูแลสุขอนามัยของตัวเราครับ

เป็นที่ทราบกันดีว่า ในปัจจุบันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั่วโลกสะสมเกินกว่า 600 ล้านคนแล้ว จากรายงานที่ตีพิมพ์ในเดือนมีนาคมโดยวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

 

ซึ่งเฉพาะในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เขาคาดว่าจะสูงถึง 18.2 ล้านคน และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 120 ต่อ 100,000 คน  การต่อต้านและป้องกันการแพร่ระบาดของบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทยกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ก็ต่างมีนโยบายที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่างกัน

 

ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยเราในยุคที่ถูกเจ้าวายร้ายโควิดนี้ระบาดหนัก เราก็มีการปิดประเทศกักกันตัว ซึ่งก็เหมือนกับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่พอเริ่มเข้าสู่โหมดที่การระบาดของโควิดผ่อนบางลง เนื่องจากเราเป็นประเทศที่ฐานเศรษฐกิจเล็กกว่าประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เราจำเป็นต้องเปิดประเทศ รับการเข้ามาของนักท่องเที่ยว เราจะต้องอยู่ร่วมกับเจ้าวายร้ายตัวนี้ให้ได้ โดยใช้นโยบาย “โรคประจำถิ่น”

 

 

อย่างที่เราๆ ท่านๆ ได้เห็นนั่นแหละครับ ในขณะที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเขา ยังไม่ยอมลดละความเข้มงวดของการป้องกันลง เขายังคงใช้นโยบายที่จะเป็นการป้องกันแบบ “ล้างบางแบบไดนามิก”

 

กล่าวคือ ไม่เพียงแต่จะทำการกวดขันเฉพาะสถานที่ที่ค้นพบการแพร่ระบาดของเจ้าวายร้ายนี้เท่านั้น แต่เขาจะทำการปิดเมืองกำจัดทั้งหมด รวมทั้งสถานที่หรือเมืองที่อยู่ในรัศมีที่ใกล้เคียงทั้งหมดด้วย อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นสายพันธุ์ใหม่หรือสายพันธุ์ดั้งเดิมก็ตาม ล้วนต้องดำเนินการกำจัดให้สิ้นซากไปเลยครับ

 

การที่ทางภาครัฐของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนเขาทำเช่นนั้น เพราะเขาเชื่อว่า “การล้างบางแบบไดนามิก” นี้ จะใช้ระยะเวลาในการกำจัดเชื้อไวรัสที่แม่นยำในเวลาอันสั้น เพื่อป้องกันการกระจายการแพร่เชื้อที่ชะงัดที่สุด และไม่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปยังเมืองอื่นๆ อันเป็นสาเหตุที่สร้างปัญหาในอนาคตได้นั่นเอง  

 

ประเทศของเขามีประชากรจำนวนเยอะมาก ถ้าคิดคำนวณจากจำนวนประชากร เขาจะมีผู้สูงอายุเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ ส่งผลให้มีผู้ป่วยโรคประจำตัวจำนวนมาก ที่มีโอกาสติดเชื้อรุนแรงและเสียชีวิตสูงกว่าประชากรของประเทศอื่นๆ ทั่วไป จากบทความการวิจัยของวารสาร Nature Medicine เขาคาดการณ์ว่า

 

หากประเทศเขาใช้นโยบายผ่อนคลายให้ประชาชนอยู่ร่วมกับไวรัส  จะมีผู้ติดเชื้ออย่างน้อย 112 ล้านคน ซึ่งจะส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 1.6 ล้านคนเลยทีเดียวครับ เขาจึงมีความจำเป็นต้องใช้นโยบาย “การล้างบางแบบไดนามิก” ดังกล่าว ซึ่งเราก็ได้เห็นตัวอย่างการดำเนินการจากเมืองใหญ่ๆ อาทิเช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจิน กวางเจา และอีกหลายๆ เมืองใหญ่

 

ที่ในช่วงที่เกิดการระบาดของสายพันธุ์ Omicron เขาดำเนินการมาแล้วอย่างได้ผลมาก แม้จะต้องสูญเสียงบประมาณไปกับการประสานงาน การควบคุมดูแลประชาชน การควบคุมความเคลื่อนไหวของประชาชน การแยกคัดกรอง และการแยกกักกันตัวผู้ป่วย ซึ่งทำให้เขาสามารถควบคุมโรคร้ายได้อย่างมีนัยยะเลยครับ
      

ในขณะที่ประเทศไทยเราเป็นประเทศเล็ก ที่ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน การค้าระหว่างประเทศหรือการส่งออก การท่องเที่ยว ทำให้เราไม่สามารถที่จะดำเนินการแบบเดียวกับเขาได้  อย่างไรก็ตาม หากเรามองไปดูเขาที่ทำสำเร็จ ก็คงได้แต่มองด้วยสายตาร้อนๆ นิดๆ ละครับ เพราะเศรษฐกิจของประเทศเขาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วจริงๆ

 

โดยสามารถดูได้จากการปรับตัวของเงินลงทุนจากต่างประเทศของเขา ในปี 2021 เขามีเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 14.9% และในปี 2022 เขาคาดการว่าจะมีเงินลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีก 25.6% ส่วนการค้าระหว่างประเทศ ในปี 2021 ตามเส้นทาง Belt and Road Initiative (BRI) จะเพิ่มขึ้น 23.6% ซึ่งในปี 2022 ก็จะยังคงเพิ่มขึ้นอีกต่อเนื่อง เป็น 29.7% ซึ่งจะเป็นการสร้างสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี ของประทศเขาเลยครับ
          

อย่างไรก็ตามคงต้องใช้คำว่า ประเทศที่แตกต่างกัน ปัญหาพื้นฐานของแต่ละประเทศก็ย่อมจะแก้ไขกันคนละแบบ วัฒนธรรมความเป็นอยู่และการใช้ชีวิตของเรากับของเขาก็ย่อมแตกต่างกัน ดังนั้นเราคงไม่สามารถนำเอาวิธีการของเขามาใช้ทั้งหมดได้ แต่เราต้องใช้ความระมัดระวังตามแบบฉบับของไทยเรา มาป้องกันการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ ด้วยความเหมาะสม หวังว่าคงจะไม่รุนแรงเหมือนที่ผ่านๆ มานะครับ