พ่อท่านจันทร์ สุเมโธ 22 ปี ที่เท้าเปล่าบนเส้นทางสายพุทธภูมิ

04 ก.พ. 2566 | 01:00 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.พ. 2566 | 22:56 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

ยามนี้มีข่าวไม่ค่อยดีเกี่ยวแก่วงการสงฆ์ ว่าสงฆ์ทะลึ่งบ้าง สะสมเงินทองบ้าง ทำการลามกต่างๆบ้าง ก็สมควรได้เวลาแกะรอยจากศิลปวัตถุไปตามหา พระสุปฏิปันโนที่สมถะเคร่งครัดรักษาจริตกิริยาสำรวมกายใจให้เปนที่สมควรแก่การเคารพกราบไหว้ไปทั้งกายและจิตวิญญาณ
 
บางราชสกุลช่วงสมัยก่อนเปลี่ยน แปลงการปกครอง องค์เจ้าฟ้าต้นสกุลได้ดำรงตำแหน่งอุปราชหัวเมืองปักษ์ใต้ มีทำเนียบว่าราชการอยู่เมืองสงขลา ถ้าจะว่าเทียบกันอย่างจักรวรรดิอังกฤษก็ควรขนานนามว่า viceroy-อุปราช อย่างกะลอร์ด เมาท์แบตแท่นเปนอุปราชอินเดียและพม่า ฉะนั้น
 
สายสัมพันธ์ของหมู่ชนพื้นที่ปักษ์ใต้ กับ ความสนใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่นแห่งนั้นย่อมตกทอดลงมายังพระทายาทองค์อุปราช ซึ่งประดาสามัญชนทั่วไปขนานพระนามในความไม่ถือพระองค์ว่า ‘เสด็จ’ มีเสด็จพระองค์ชายใหญ่ พระองค์ชายกลาง และพระองค์ชานเล็กเปนสายๆ แล้วต่อทอดไปยัง’คนหลวง’ ในวงวานใกล้ชิดอีกทอด

สมัยหนึ่งความสามารถในกฤตยาคม สามารถถูกทดลองพิสูจน์ให้เห็นเปนประจักษ์ได้โดยไม่ต้องเกรงใจผ้าเหลืองหรือคำครหานินทาจากวงหมู่ผู้คนในสังคมมากนัก
 
เจ้าชายสายสกุลต่างๆ เมื่อได้ทรงทดลองทดสอบจนประจักษ์เห็นแก่ตัว(องค์)แก่ตา(เนตร) แล้ว ก็นำมาซึ่งความศรัทธาน้บถือในผู้ทรงสมณวิทยาคุณอย่างที่เรียกแบบบ้านๆกันว่า “ขึ้น” เสด็จพระองค์ชายใหญ่นั้น มีพระศรัทธาแรงกล้า กับเจ้ากูอย่างน้อยสามรูป ในพื้นที่ภาคใต้ ได้แก่ ท่านอาจารย์นำ วัดดอนศาลา พัทลุง, พ่อท่านคลิ้ง วัดถลุงทอง ร่อนพิบูลย์ และ ท่านอาจารย์จันทร์ วัดทุ่งเฟื้อ เชียรใหญ่
 
โดยมีวัตถุพยานเปนเครื่องยืนยันพระศรัทธา ได้แก่ เหรียญโลหะที่ทรงเปนเจ้าภาพจัดสร้างของท่านคณาจารย์ทั้งสามนี้ ได้ทรงนำโลหะจากศาสตราวุธเก่าแก่โบราณ ชิ้นส่วนของอาถรรพ์ ระฆัง ฆ้อง กลองสำริดในวังอัศวินที่ทรงรับสืบทอดมาและทรงจัดหาอย่างนักโบราณคดี มาเทลงเปนชนวนหลวมรวมจนได้เนื้อโลหะอย่างที่พูดกันว่า เนื้อบ้านเชียง-เก่าแก่อารยะธรรมกันขนาดนั้น

การออกแบบก็ทรงเรียกใช้ศิลปินชั้นนำในกรุงเทพจัดสร้าง นำมาเข้าพิธีอย่างถูกต้องครบตำรับราชสำนัก ไม่ได้จัดทำกับแบบบ้านๆนักขายสร้างพระ ทว่าเปนของดีตั้งแต่เจตนา-วัตถุทาน-ไปถึงยังคณาจารย์ผู้ประจุอำนาจกฤยาคมในเหรียญนั้น ทั้ง intrinsic value และ ticket value
 
จากรูปจะเห็น 3 เหรียญ ในที่นี้จะกล่าวถึงเฉพาะ ท่านอาจารย์จันทร์ สุเมโธ วัดทุ่งเฟื้อ เนื่องจากความลึกลับ สมถะ ไม่เปนที่รู้จักแพร่หลาย สมควรแก่การประกาศเกียรติคุณของท่านอริยะสงฆ์ให้เปนเครื่องฉลองสติปัญญาแก่ประดาพุทธบริษัทต่อไปภายหน้า
 
ท่านอาจารย์จันทร์ ได้มรณภาพไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2532 เปนที่เลื่องลือไปทั่วว่า ท่านนั้นทราบวาระกาลมรณัง ท่านได้สั่งเสียแก่ศิษย์ใกล้ชิด ให้ติดเทียนขึ้นเล่มหนึ่ง ตัวท่านผลัดเปลี่ยนผ้าไตรชุดใหม่ นั่งภาวนา ให้ปิดประตูกุฎิและห้ามรบกวน ก่อนจะเข้าสมาบัติและจากไปในท่านั่งสมาธิ ศิษยานุศิษย์แม้เสียใจแต่ไหว้สากราบกราน นำอมตะสังขารผอมบางของท่านขึ้นบรรจุโลงแก้ว ซึ่งก็มิได้เน่าเปื่อย กลับแข็งเปนหินมาจนบัดนี้


 
ท่านอาจารย์จันทร์ สุเมโธ เปนคนหัวไทร กำเนิดในวันพฤหัส ร่างกายใหญ่สูงแบบคนโบราณ ครบบวชบุพการีจัดให้อุปสมบท ท่านเข้าสู่ร่มกาสาวพัตรครั้งแรกที่วัดหลาแก้ว เปนสัทธิวิหาริกแต่พระครูพนังศรีวิสุทธิ์พุทธิภักดี อุปัชฌาย์ ท่านได้ศึกษาคันถธุระวิชาการ สำเร็จนักธรรมตรี ต่อมาท่านอุปัชฌาย์ส่งไปศึกษายังตัวจังหวัด ท่านสำเร็จนักธรรมโท โดยมีสหายธรรมผู้หนึ่งอยู่วัดโคกพิกุล ชื่อพระปั้น สองพระหนุ่มได้พอเข้าใจคันถธุระวิชาการบ้างแล้ว สนใจในวิปัสสนาธุระสมาธิอิทธิปาฏิหาริย์ จึงได้พากันไปฝากตัวเปนศิษย์ของท่านอาจารย์เอียด (ดำ) วัดในเขียว พรหมคีรีผู้ลือนาม สามารถรับทอดสายวิชาจากท่านพ่อเอียดได้เปนอย่างดี
 
ถามว่าสายวิชาของพ่อท่านเอียดมาจากไหน ก็สุดปัญญาจะย้อนไปในประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครบันทึก แต่ที่แน่ชัดคือ ครูอาจารย์ของท่านพ่อเอียด เปนครูอาจารย์เดียวกันกับอุปัชฌาย์กราย วาจาสิทธิ์ วัดหาดสูง (อาจารย์พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) เปนครูอาจารย์เดียวกันกับพ่อท่านทอง วัดดอนสะท้อน (กบไสไม้)
 
ถามว่า อาจารย์จันทร์ ไปฝากตัว สำนักวัดในเขียวด้วยอย่างไร ตอบว่าเดินไป เดินเปนเวลา 7 วัน! รับทอดวิชาศึกษากับท่านอาจารย์เอียด(ดำ) เปนเวลา 4 ปี ท่านจึงเดินทางกลับวัดโคกพิกุล
 
คำถามเกี่ยวแก่วิปัสสนาธุระและกฤตยาคมยังคงวนเวียนอยู่ในใจท่านคิดหาหนทางอย่างไรจะไปสู่นิพพานภาวะ จึงตกลงใจจะออกรุกขมูลธุดงค์ไปยังอินเดีย แดนพุทธภูมิ “หวังไปทำบุญไม่ทำบาป ไปเพื่อแสวงหาความสุข”
 
ข้อธรรมของท่านละเอียดลึกซึ้งยิ่งนัก ในคำกุญแจ Key word แต่ละคำ ของการเดินทางผ่านกาลเวลา โดยสมาทานมั้นคงว่าจะทำแต่บุญ และ ปิดช่องด้วยสัจจะว่าไม่ทำบาป และ การท่องไปในการกาลเวลาตามเส้นทางนี้ท่านไปตามหาความสุข_ซึ่งแน่ใจได้เลยว่าไม่ใช่โลกียสุขสนุกสนานบนวิถีทุเรศกันดารแน่นอน แต่ย่อมหมายถึงปรมสุข_นิพพานภูมิภาวะ
 
ท่านและสหายธรรมออกเดินทางด้วยเท้าเปล่า เข้าไชยา ชุมพร ประจวบ กาญจนบุรี ออกสู่พม่าทางด่านเจดีย์สามองค์ [เส้นทางจาริกแสวงบุญโบราณ] เเล้วขึ้นเหนือ กราบพระมหาเจดีย์ชเวดากอง ลงเรือข้ามทะเล เลาะเข้าสู่อินเดีย ไปกุสินารายณ์ เพื่อกราบสักการะสังเวชนียสถาน สี่ตำบล
 
ระหว่างทางได้พบสิ่งแปลกประหลาดมากมาย บางคราวพบท่านผู้มีฤทธิ์ทางจิตจำศีลอยู่ในถ้ำ ท่านก็ได้ฝากตัวขอศึกษาวิชาใช้เวลาจนสำเร็จผล

 ตลอดเส้นทางรอนแรมกันดารนั้น ของขบฉันหาได้ยาก มีเภทภัยสัตว์ป่า ผู้คนต่างศาสนา โรคาพาธเกือบเอาชีวิตไม่รอด ท่านปล่อยวาง และใช้ชีวิตอยู่กับสุญญตาวิหาร ความเงียบ เพื่อสัมผัสสัจจธรรมความจริงแท้ และตถาตาความเปนเช่นนั้นเองของสรรพสิ่ง
 
ท่านพ่อจันทร์ใช้เวลาเดินทาง round tripบนเส้นทางสายธรรมพม่า-อินเดีย รวมระยะเวลา 22 ปี เมื่อกลับถึงนครศรีธรรมราช ท่านและสหายธรรมร่วมทาง ล้มเจ็บอาพาธหนัก คณะผู้ดูแลอุปัฏฐากขอให้ท่านฉันอาหารมื้อเย็นบำรุงกายสังขารฟื้นกำลัง ท่านรับทราบแต่ปฏิเสธเเข็งขันด้วยผิดพระวินัยบัญญัติ วิกาลโภนัง มิใยที่พลิกดูข้อธรรมวินัยแล้วทรงให้ยกเว้นในเรื่องล้มป่วย ท่านเองก็ยึดสัจจะอธิษฐานสมาทานศีลห้ามข้าวเย็นไว้แล้วจะไม่ผิดคำพูด
 
ลงท้ายท่านจึงลาเพศบรรชิตเพื่อออกมาเปนฆราวาสรักษาตัว ครั้นอาการดีขึ้นแล้วจึงอุปสมบทใหม่ ในวัย 48 พรรษา หาได้ไยดีต่ออาวุโสพรรษาทางพระแม้แต่น้อย มุ่งรักษาสัจจะเปนธรรมะปฏิบัติแก่ตัวเพียงเท่านั้น


 
มีพระครูวิเชียรรัตนาการ เจ้าอาวาสวัดปากเฮีย เชียรใหญ่ เปนอุปัชฌายาจารย์ สำเร็จภิกขุภาวะครั้งที่สองนี้แล้ว ท่านได้ออกเดินทางมาจำพรรษายังวัดทุ่งเฟื้อ วัดร้างห่างไกล ด้วยสมถะ หมายจะเจริญวิปัสสนา
 
ต่อข้อถามว่าวิปัสสนาคืออะไร ท่านได้ตอบว่า “เปนการฝึกจิตขั้นสูงเพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งเห็นจริงในสัจจะธรรมและ ภาวะทั้งปวงเปนการกำจัดกิเลส และทำลายตัวอวิชชาให้หมดไปด้วยพลังสมาธิ วิปัสสนาญาน”
 
ความเปนอยู่ของท่านมีความสมถะมาก กุฎิเปนไผ่ฟากหลังคาจาก รั่วฝน ท่านก็ใช้อุบายหยดฝนเจริญสมาธิวิปัสสนา คราวเมื่อ พล.ต.ต. ขุนพันธรักษ์ราชเดช นำคณะลูกหลานไปกราบเยี่ยม พ่อท่านจันทร์ไม่ได้ฉันอาหารมาหลายเวลาแล้ว จีวรเก่าคร่ำเปนปะรู ร่างกายโงนเงนเดินไม่ไหวแต่มีลูกนัยน์ตาสุกใสอย่างเเก้ว_เปนแววตาของผู้สำเร็จโดยแท้
 
ท่านขุนพันธรักษ์ฯ เปนศิษย์สำนักท่านอาจารย์เอียด (ดำ) เช่นเดียวกับพ่อท่านจันทร์ สำเร็จวิชา ไม่หลงทางไม่หลงทิศ ท่านขุนพันธรักษ์ฯเองให้ความนับถือในตัวพ่อท่านจันทร์ โดยเฉพาะในวิชาเหล็กไหล ที่ท่านขุนประจักษ์แล้วว่าพ่อท่านจันทร์เรียกได้ แถมฝังเข้าร่างกายได้ รวมถึงวิชาหุงน้ำมันคลิ้งเป่าเข้าตัว เป่าทองเข้ากะโหลก
 
ภูมิธรรมและวาระกสิณจิตของท่านสามารถเชื่อมโยงเข้ากับความจริงแท้ใน server ธรรมชาติได้ วิชาบางอย่างที่ประจุอยู่ในโลกธาตุ หลายคราวได้มาสู่ท่านด้วยการปรากฏแก่ใจ เช่น อักขระขอมบางกลุ่มลอยขึ้นในอากาศให้ท่านได้พิจารณาระหว่างกางกลดนั่งสมาธิริมน้ำ เปนต้น
 
เมื่อคณะศิษย์ขุนพันธรักษ์ ปรารภขอสร้างกุฎิใหม่ถวาย_ท่านปฏิเสธ แต่ไม่ขัดศรัทธาขอให้ไปสร้างศาลาแทนเนื่องจากผู้อื่นได้ร่วมใช้งานได้เปนสาธารณะประโยชน์
 
พ่อท่านจันทร์จึงเปนแบบอย่างของความเปนมนุษย์ที่กล้าและมีสัจจะกับตนเองในการกระโจนเข้าหา-พาตัวเข้าใส่ในสถานการณ์ที่ติดข้องสงสัยให้บังเกิดความรู้ความเข้าใจแกตนโดยไม่ลังเลต่อความเหนื่อยยาก ลำบาก ภยันตรายแก่กายใจ เพื่อให้ได้มาซึ่งปรมัตธรรมอันจะบังเกิดขึ้นอย่างรับขอเอามาหาได้ไม่ จำจะต้องบากบั่นแสวงหาไปด้วยเสี่ยง เพราะไม่อาจแน่ใจว่าจะได้รับผลตอบแทนอย่างคาดหวัง เปนself-directed learning agent โดยแท้
 
นับเปนผู้ลงมือปฏิบัติ  ( a man of action) ที่ควรแก่การนอบน้อมสักการอย่างสูงยิ่งท่านหนึ่ง ผู้ซึ่งแสวงให้ได้มาซึ่งความรู้ในตัวเปนปัจจัตตัง ด้วยการลงมือทำมากกว่าคิดหาทฤษฎีคำสอนคำคม
 
อิทธวัตถุของท่าน ที่เลื่องลือ มีควายธนูแบบซีกเดียวไม่เต็มตัว ท่านว่าเท่านี้ก็แรงพอแล้ว ครบตัวจะยุ่งไปใหญ่
 
เหรียญที่_คนหลวง_คนในวังคหบดีจังหวัด จัดสร้างด้วยเนื้อโลหะบ้านเชียงนั้น ท่านได้อธิษฐานจิตเปนเวลาไตรมาส มีหลายพิมพ์ ลักษณะเปนรูปไข่ครึ่งองค์ ด้านหน้าเปนรูปท่านผินพักตร์ เห็นเส้นเลือดเส้นเอ็นปูดโปนตามร่างสังขารจริงของท่านที่มุ่งแต่สมถะภาวนาจนหนังหุ้มกระดูก ด้านหลังเปนยันต์พระเจ้าสิบชาติ ล้อมด้วยอิติปิโสแปดทิ งดงามด้วยพุทธศิลป์ทรงคุณค่า และเปี่ยมพลังวิทยาคุณจากเนื้อวัสดุและอิทธิคุณของพ่อท่าน
 
“สมบัติผลัดกันชม ตายแล้วติดตัวไปไม่ได้ ควรประมาณในความมีอยู่ ความเผื่อแผ่เมตตาเปนบารมีแก่ชีวิต”
 
นี้เปนข้อธรรมะสุดท้ายที่ท่านได้ฝากไว้ สาธุชนพึงพิจารณาโดยแยบคายเทอญฯ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18  ฉบับที่ 3,859 วันที่ 5 - 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566