วันนี้ (วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เดินหน้ากระบวนการปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ หลังประสบความสำเร็จในกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยมีเจ้าหนี้แสดงเจตนาแปลงหนี้เป็นทุนเพิ่มเติมเป็นจำนวนมาก ในระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา
ตอนนี้พร้อมที่จะเข้าสู่กระบวนการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการในส่วนถัดไป โดยเสนอขายจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามรายชื่อที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 (Record Date) ที่มีที่อยู่ในประเทศไทยเท่านั้น พนักงานของบริษัทฯ และบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ตามลำดับ คิดเป็นมูลค่าไม่เกิน 44,004.7 ล้านบาท ที่ราคาเสนอขาย 4.48 บาทต่อหุ้น ระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567
โดยเสนอขายผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด เพื่อปรับโครงสร้างทุนตามแผนฟื้นฟูกิจการและสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน สู่ศักยภาพการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “การบินไทย ขอขอบคุณทุกการสนับสนุนจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายตลอดระยะเวลาในช่วงฟื้นฟูกิจการที่ผ่านมา ที่ล้วนเป็นส่วนสำคัญในการนำพาการบินไทยบรรลุผลสำเร็จที่คาดหวังไว้
เราได้มีการปรับโครงสร้างองค์กร ปรับกลยุทธ์การบริหารต้นทุนเพื่อลดค่าใช้จ่าย ปรับฝูงบินและเส้นทางการบิน เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างกำไรในทุกเส้นทางบิน สู่ก้าวใหม่ในฐานะบริษัทเอกชนที่เปี่ยมศักยภาพกว่าที่เคย
ในวันนี้การบินไทยประสบผลสำเร็จจากกระบวนการแปลงหนี้เป็นทุนซึ่งประกอบด้วย
(1) การแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการแบบภาคบังคับเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน (Mandatory Conversion) คิดเป็นมูลค่า 37,601.9 ล้านบาท โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 14,773.7 ล้านหุ้น โดยเจ้าหนี้กลุ่มที่ 4 หรือกระทรวงการคลัง ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างเต็มจำนวนในสัดส่วนร้อยละ 100 ในขณะที่เจ้าหนี้กลุ่มที่ 5, กลุ่มที่ 6 (สถาบันการเงิน) และเจ้าหนี้ผู้ถือหุ้นกู้ ได้รับการชำระหนี้เงินต้นคงค้างในอัตราร้อยละ 24.50 และ
(2) การใช้สิทธิแปลงหนี้เดิมของเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเป็นทุนเพิ่มเติมโดยความสมัครใจ (Voluntary Conversion) ซึ่งในระหว่างวันที่ 19-21 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหนี้จำนวนมากแสดงเจตนารวมกันเกินกว่า 3 เท่าของจำนวนหุ้นที่มีรองรับตามแผนฟื้นฟูกิจการ โดยได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเป็นจำนวน 4,911.2 ล้านหุ้น คิดเป็นมูลค่า 12,500.1 ล้านบาท
พร้อมทั้ง (3) การใช้สิทธิแปลงดอกเบี้ยตั้งพักใหม่เป็นทุนมูลค่า 3,351.2 ล้านบาท และได้จัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวน 1,304.5 ล้านหุ้น สุทธิภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวม (1) – (3) คิดเป็นภาระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ รวมทั้งสิ้นมูลค่า 53,453.2 ล้านบาท เป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุน จำนวน 20,989.4 ล้านหุ้น ที่ราคา 2.5452 บาทต่อหุ้น
ส่งผลให้ส่วนของผู้ถือหุ้นในงบการเงินของการบินไทยกลายเป็นบวกภายในสิ้นปีนี้ อันเป็นการบรรลุหนึ่งในเงื่อนไขในการยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
ทั้งนี้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงินให้สามารถดำเนินธุรกิจอย่างเต็มประสิทธิภาพเพื่อแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินในระดับสากล
การบินไทยจะดำเนินการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในส่วนถัดไป ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ โดยการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 9,822.5 ล้านหุ้น ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนตามข้อมูลที่ปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 ที่มีที่อยู่ในประเทศไทย และพนักงานของการบินไทย ตามลำดับ ในราคา 4.48 บาทต่อหุ้น
โดยสามารถจองซื้อและชำระเงินระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด ทั้งนี้ หากมีหุ้นสามัญคงเหลือจากการจัดสรรหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน และพนักงานของบริษัทฯ ตามลำดับ จะดำเนินการเสนอขายให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ที่ราคาเสนอขายเดียวกันต่อไป
การกำหนดราคาดังกล่าวที่กำหนดโดยผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการมีความเหมาะสม โดยการพิจารณาจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง การประเมินมูลค่ายุติธรรม ทั้งจากวิธีเปรียบเทียบอัตราส่วนตลาด (Market Comparable Approach) เช่น อัตราส่วนมูลค่ากิจการต่อกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (Enterprise Value to EBITDA Ratio: EV/EBITDA) อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (Price to Earnings Ratio: P/E) และวิธีมูลค่าปัจจุบันของกระแสเงินสดของกิจการ (Discounted Cash Flow) ข้อจำกัดและโครงสร้างการเสนอขายภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ
ความเสี่ยงของนักลงทุนจากการที่ต้องใช้เวลาประมาณ 5-6 เดือนกว่าที่หุ้นจะกลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลอดจนประโยชน์และผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้บริษัทฯ มีโอกาสได้รับเงินทุนจากการเสนอขายที่เหมาะสม เพื่อสร้าง ความแข็งแกร่งทางการเงินและการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต”
นายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมผลประกอบธุรกิจของการบินไทยในงวด 9 เดือนของปี 2567 แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งและความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการฟื้นฟูกิจการ จากจำนวนผู้โดยสารกว่า 11.62 ล้านคน เพิ่มขึ้น 14.7% เมื่อเทียบกับงวด 9 เดือนของปี 2566
นอกจากนี้ ยังมีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) 47,778 ล้าน ASK เพิ่มขึ้น 19.2% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน สะท้อนถึงศักยภาพในการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น จากการดำเนินธุรกิจตามแผนฟื้นฟูกิจการที่เรียกความเชื่อใจจากลูกค้ากลับมาได้ และในส่วนของกำไร (ขาดทุน) จากการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2567 อยู่ที่ 24,191 ล้านบาท ซึ่งน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไร 29,330 ล้านบาท และ EBITDA ของงวด 9 เดือน ปี 2567 อยู่ที่ 33,742 ล้านบาท
ในขณะที่ช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 37,590 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากความมุ่งมั่นในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น อาทิ ค่าซ่อมแซมและบำรุงอากาศยานที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบินที่เข้ามาใหม่สำหรับการรองรับผู้โดยสารที่มากกว่าเดิม และค่าบริการการบินจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น
รวมทั้งอัตราค่าบริการการบินต่อเที่ยวปรับตัวสูง ตลอดจนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายและการโฆษณาที่เพิ่มขึ้น จากความจำเป็นในการจ่ายค่าธรรมเนียมสำรองที่นั่งที่เพิ่มขึ้นตามปริมาณการจองเที่ยวบิน อย่างไรก็ตาม เรามั่นใจว่าการลงทุนเหล่านี้จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว และช่วยให้การบินไทยกลับมาแข็งแกร่งยิ่งขึ้นกว่าเดิมในอนาคตอันใกล้”
สำหรับผู้ถือหุ้นเดิมของการบินไทยก่อนการปรับโครงสร้างทุนที่มีสิทธิได้รับจัดสรรหุ้นสามารถตรวจสอบสิทธิผ่าน (1) หนังสือแจ้งสิทธิเพิ่มทุนสำหรับผู้ถือหุ้นเดิม โดยคาดว่าจะส่งออกโดยบริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ผ่านทางไปรษณีย์ตามที่อยู่บนสมุดทะเบียน หรือ (2) ช่องทางเว็บไซต์การบินไทย คลิ๊ก และสามารถจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนได้ระหว่างวันที่ 6 – 12 ธันวาคม 2567 ผ่านทางช่องทางการจัดจำหน่ายของผู้จัดการการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และตัวแทนจำหน่ายหลักทรัพย์ที่กำหนด
ได้แก่ สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) หรือจองซื้อผ่านโทรศัพท์บันทึกเทป (เฉพาะนิติบุคคล หรือ ผู้ลงทุนสถาบัน หรือ ลูกค้าที่มีบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเท่านั้น) สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับลูกค้าบุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยจะต้องมีบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT)
สำหรับพนักงานของการบินไทยที่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นสามารถจองซื้อหุ้นในวันและเวลาเดียวกันกับผู้ถือหุ้นเดิมก่อนการปรับโครงสร้างทุน โดยมีช่องทางการจองซื้อหุ้นอีกหนึ่งช่องทางคือ
สำนักงานใหญ่บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy) (เฉพาะ ลูกค้าที่มีบัญชีหลักทรัพย์กับบริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทรเท่านั้น)
สำนักงานใหญ่และสาขา ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านการส่งใบจองซื้อ (Hard Copy)
ระบบออนไลน์ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ผ่านระบบ Money Connect by Krungthai บน Krungthai NEXT Application (สำหรับลูกค้าที่มีบัญชีธนาคารผ่านระบบ Krungthai NEXT เท่านั้น)
ระบบออนไลน์ผ่าน Application DIME! (เฉพาะลูกค้าบุคคลธรรมดาสัญชาติไทยที่มีบัญชีหลักทรัพย์ไทยกับ DIME! เท่านั้น)
การบินไทยตั้งเป้ากลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ภายในไตรมาส 2 ปี 2568 โดยกระบวนการปรับโครงสร้างทุนเพื่อให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 จากนั้น การบินไทยจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่ ตามเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูกิจการ และยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลางเพื่อขอยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ
ตอกย้ำแนวคิด “Fly for The New Pride” สู่ขอบฟ้าใหม่แห่งความภาคภูมิใจ ที่สะท้อนความมุ่งมั่นของ การบินไทยในการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เพื่อประโยชน์ขององค์กร พนักงาน ตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ พร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และยกระดับการบริการเพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าทุกท่าน
ปัจจุบันการบินไทยเป็นสายการบินที่ให้บริการเต็มรูปแบบ (Full Service Carrier) ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2503 และมีฐานปฏิบัติการหลักที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สมุทรปราการ การบินไทยเป็นสายการบินที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันดับ 5 ในทวีปเอเชีย และอันดับ 43 ของโลก
โดยพิจารณาจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสารที่เดินทางระหว่างประเทศ (คิดเป็นล้านคน-กิโลเมตร) ของปี 2566
ณ วันที่ 30 กันยายน 2567
การบินไทยมีจำนวนเครื่องบินที่ใช้ปฏิบัติการบินรวม 77 ลำ ประกอบด้วย เครื่องบินลำตัวกว้างจำนวน 57 ลำ และเครื่องบินลำตัวแคบจำนวน 20 ลำ และมีเครือข่ายเส้นทางบินที่ให้บริการครอบคลุมกว่า 62 จุดบิน ใน 27 ประเทศทั่วโลก เชื่อมต่อประเทศไทยกับภูมิภาคสำคัญ ๆ ทั่วโลก ได้แก่ เอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และภายในประเทศ
การบินไทยเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง 1 ใน 5 รายของกลุ่มพันธมิตรการบินสตาร์ อัลไลแอนซ์ ซึ่งเป็นกลุ่มพันธมิตรการบินชั้นนำระหว่างประเทศ เพื่อการขยายเครือข่ายเส้นทางบินผ่านความตกลงเที่ยวบินร่วม (code sharing) การสะสมไมล์เดินทางร่วม และการให้บริการพิเศษเพิ่มขึ้นแก่ลูกค้าทั่วโลก