(ต่อจากตอน1)
ก็ปรากฏว่าโทณพราหมณ์ แกเปน บัณฑิตทิศาปาโมกข์ เปนอาจารย์สอนไตรเพทแก่กษัตริย์ทั้งหลาย พิจารณาเห็นเหตุอันพึงจะมี ในสิ่งซึ่งมิใช่เหตุอันควร จะสัมประหารซึ่งกันและกัน จึงขึ้นยืนอยู่บนที่สูง ปรากฏร่างแก่ศิษย์กษัตริย์ทั้งหลาย กล่าววาจาห้ามว่า
“(นี่ๆ ลูกศิษย์ทั้งหลาย) ก็ธรรมทั้งหลาย ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประทานไว้นั้น พระองค์ทรงสรรเสริญขันติความอดทน อหิงสา ความไม่เบียดเบียนและสามัคคีความพร้อมเพรียงกัน อันเป็นธรรมทรงคุณค่าอันสูงควรที่คนทั้งหลายจะพึงปฏิบัติทั่วกัน เมื่อเป็นดังนั้นแล้วเหตุอันใดเล่า เราควรจะพึงวิวาทกัน?”
“ขอทุกท่านจงมีส่วนได้พระบรมสารีริกธาตุของพระผู้มีพระภาคเจ้าอัญเชิญไปสักการะจงทั่วกันเถิด ขอพระบรมสารีริกธาตุที่เคารพบูชาอันสูงจงแพร่หลายออกไปยังพระนครต่างๆเพื่อเป็นที่สักการะ เคารพ บูชาของมหาชนทั้งปวงเถิด”
ได้ฟังดังนี้กษัตริย์ทั้งปวง ก็ได้สติวางอารมณ์โมหะโกรธะลงได้
อีทีนี้เมื่อโทณพราหมณ์ได้อัญเชิญเหล่ากษัตริย์เข้ามาภายในเมืองแล้ว ให้ไปประชุมพร้อมกันยังท้องพระโรงราชสัณฐาคารที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ก็ให้เปิดพระหีบทองน้อยที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุให้กษัตริย์ทั้งปวงพร้อมกันถวายอภิวาทสมตามมโนรถ
ขณะนั้นพระบรมสารีริกธาตุอันทรงพรรณพิลาศงามโอภาสด้วยรัศมี ซึ่งปรากฏอยู่ในพระหีบทองเฉพาะพระพักตร์ ได้เตือนพระทัยกษัตริย์ทั้งปวง ให้ระลึกถึงพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาคเจ้า กษัตริย์ทั้งปวงจึงได้ร้องไห้กันแสงปริเทวนาการต่างๆโทณพราหมณ์เห็นกษัตริย์ทั้งหลายมัวแต่โศกศัลย์รันทดอยู่เช่นนั้น จึงหยิบพระทักษิณทาฐธาตุ (คือ พระเขี้ยวแก้วข้างขวาเบื้องบน) ขึ้นซ่อนไว้ในมวยผม (ฮั่นแน่!) แล้วจัดการตักตวงพระบรมสารีริกธาตุด้วยทะนานทองคำ ถวายกษัตริย์ทั้ง ๘ ได้ไปนครละ ๒ ทะนานเท่าๆ กัน รวมพระบรมธาตุเป็น ๑๖ ทะนาน เปนอันเสร็จเรื่องหวุดหวิดสงครามไป
ตามตำนานก็ว่าต่อว่าฝ่ายองค์อัมรินทราธิราชทอดพระเนตรเห็นโทณพราหมณ์แอบซ่อนพระเขี้ยวแก้วเอาไว้ ทั้งๆที่ตัวเองไม่สามารถจะทำสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุเพื่อเป็นที่สักการะบูชาอันเหมาะสมได้ จึงพระอินทร์ท่านเลยลงมานำเอาพระเขี้ยวแก้วนั้นไปบรรจุในพระโกศทองแล้วอัญเชิญไปประดิษฐานในพระจุฬามณีเจดีย์ที่บนสวรรค์ ฝ่ายโทณพราหมณ์เมื่อคลำหาพระเขี้ยวแก้วในมวยผมไม่พบ จึงได้ขอทะนานสำหรับตวงพระบรมสารีริกธาตุไปก่อสถูปบรรจุไว้สักการะแทนเพราะเปนของศักดิ์สิทธิพอกันในโอกาสซึ่งเปนวัตถุที่ได้สัมผัสพระบรมธาตุโดยใกล้ชิดใช้บูชาแทนได้
ต่อมากษัตริย์เมืองโมริยะได้สดับข่าวพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพพานแล้วเช่นกันจึงส่งราชทูตมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุบ้าง แต่พระบรมสารีริกธาตุได้ถูกแบ่งไปยังนครต่างๆ เสียหมดแล้ว จึงได้นำพระอังคาร (เถ้า) กลับสู่พระนคร สร้างสถูปบรรจุเป็นสถานที่สักการะบูชาแทน
สรุปว่าหลังจากได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุกันไป กษัตริย์ลิจฉวี ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองเวสาลี กษัตริย์ศากยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองกบิลพัสดุ์ กษัตริย์ถูลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองอัลลกัปปะ กษัตริย์โกลิยะ ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองรามคาม มหาพราหมณ์ สร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองเวฏฐทีปกะ กษัตริย์มัลละแห่งเมืองปาวา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองปาวา พระเจ้าอชาตศัตรู ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองราชคฤห์ กษัตริย์มัลละ แห่งกุสินารา ทรงสร้างเจดีย์บรรจุไว้ ณ เมืองกุสินารา ส่วนกษัตริย์เมืองโมริยะที่ว่า ทรงสร้างสถูปบรรจุพระอังคาร (อังคารสถูป) นั้น ตั้งสถูปที่ ณ เมืองปิปผลิวัน โทณพราหมณ์ สร้างสถูปบรรจุทะนานตวงพระบรมสารีริกธาตุ ที่เมืองกุสินารา พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายขวาประดิษฐาน ณ เมืองกาลึงคราษฐ์ทวีป พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนฝ่ายซ้ายประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราษฐ์ พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำฝ่ายซ้ายประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ พระรากขวัญเบื้องช้ายกับพระอุณหิศ ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสเจดีย์ ณ พรหมโลก พระทนต์ทั้ง ๓๖ และพระเกศาโลมาแลพระนขาทั้ง ๒๐ นั้นเทพยดานำไปองค์ละองค์สู่จักรวาลต่าง ๆ พระปริขารธาตุทั้งหลายนั้นพระกายพันธน์ไปสถิตอยู่ ณ เมืองปาตลีบุตร ตำนานว่าอย่างนั้น
รูปนี้ภาพปูนปั้นนูนต่ำปิดทองเหตุการณ์ถวายพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า อยู่ในเก๋งพระไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ มีเหล่าเทวดา มหากษัตริย์ พระภิกษุ พราหมณ์ และประชาชนมาร่วมในการถวายพระเพลิงพุทธสรีระ โดยมีดอกมณฑารพร่วงลงมาเป็นฉากหลัง อันว่าดอกมณฑารพ นี้เล่าเขาก็ว่าเปนดอกไม้ทิพย์ที่ไม่มีในโลกมนุษย์ และจะปรากฏเฉพาะตอนที่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นกับมหาบุรุษระดับพระพุทธเจ้าเท่านั้น เช่น ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน วันจาตุรงคสันนิบาต วันที่ทรงแสดงพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ฯลฯ ซึ่งเทพเทวดาจะ บันดาลให้ดอกมณฑารพตกลงมาจากเทวโลกเปนศุภมิ่งมงคลเครื่องสักการะ
ขอยกตอนหนึ่งของพุทธวจนะตรัสแก่พระอานนท์ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน
“…แม้ดอกมณฑารพอันเป็นของทิพย์ก็ตกลงมาจากอากาศ ดอกมณฑารพเหล่านั้น ร่วงหล่นโปรยปรายลงยังสรีระของตถาคตเพื่อบูชา”
แม้พุทธองค์เสด็จดับขันธ์ล่วงแล้วทุกหนแห่งบนผืนดินเมืองกุสินารายังกลาดเกลื่อนด้วยดอกมณฑารพ
“…สมัยนั้นเมืองกุสินาราเดียรดาษด้วยดอกมณฑารพโดยถ่องแถวประมาณแค่เข่า”
ส่วนสำนวนของทางอินเดียว่าดอกสาละตะหากที่เร่งผลิออกดอกออกถวายโปรยปราย ซึ่งเปนคนละสาละกับที่บ้านเราที่ออกดอกกลางต้น
วันนี้ต้นสาละที่ว่ายังมีให้ดูที่กุสินารา แต่เปนต้นเดียวกับเมื่อ 2,567 ปีรึไม่ไม่ยืนยัน แต่ว่าน่าสนใจบันทึกเรื่องราวไว้เผื่อเปนเบาะแสต่อไปภายหน้า
กลับมาที่เมืองไทยเรา ศพนั้นตามกฎหมายเปนทรัพย์ ใครเปนเจ้าทรัพย์? ก็ทายาทนะซี
คราวการศพพระเทพวิทยาคม หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ หลวงพ่อเล็งเห็นว่าศพของท่านจะเปนที่ยื้อแย่งกันไปจะสร้างสงครามย่อยๆได้ จึงปลงสังขารวางพินัยกรรมยกศพให้มหาวิทยาลัยแพทย์ไปศึกษาเสีย
ศพศักดิ์สิทธิ์สะท้อนใจเจ้าภาพงานศพหนักอกอย่างไร และด้วยเดชะพระบารมี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชอุตสาหะ ระงับการสงครามยื้อแย่งอัฐิธาตุ คราวปลงศพพระมหาเถระผู้ทรงคุณอย่างท่านเจ้าคุณนรฯ อย่างไร เชิญติดตามอ่านบันทึก น้องชายของท่านเจ้าคุณนรฯ ผู้เจ้าภาพบันทึกเรื่องราวไว้ดังนี้
ส่วนอัฐิของท่านธมฺวิตกุโก (ภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต) เจ้าภาพได้ตกลงจะรวบรวมทั้งหมดบรรจุไว้ในเจดีย์ทองแดง รูปทรงพระปฐมเจดีย์ ไว้ที่วัดเทพศิรินทราวาส
‘บ่ายวันจันทร์ที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๕ ก่อนวันจะพระราชทานเพลิง สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นประธาน ผมสังเกตดูตลอดเวลา รู้สึกทอดพระเนตรที่โกศและรูป แสดงพระอิริยาบถทรงเป็นห่วง’
รุ่งเข้าคุณพูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ได้เรียกผมไปพบบอกว่า สมเด็จฯ มีพระราชเสาวนีย์ ให้มานมัสการท่านเจ้าอาวาส และบอกญาติ ๆ ท่านเจ้าคุณนรรัตน ฯ ว่า อัฐิของท่านเจ้าคุณ ฯ นั้น ให้เก็บรวบรวมไว้ในที่เดียวกันห้ามแบ่งแยกออกไปเป็นอันขาด ภายหลังจะโปรดเกล้า ฯ จัดสร้างอนุสาวรีย์พระราชทาน ส่วนอังคารนั้นสุดแต่ญาติจะจัดการตามแต่จะเห็นควร’
‘เมื่อมีพระราชเสาวนีย์ก็หายห่วง คงเหลือแต่เรื่องอังคาร ความหนักใจก็เบาบางลงบ้าง’
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,881 วันที่ 23 - 26 เมษายน พ.ศ. 2566