ภิกษุสองพระยา

18 มี.ค. 2566 | 03:00 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 13:50 น.

ภิกษุสองพระยา คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

สาธุชนทั่วไปได้รู้จัก แจ้งประจักษ์ และระลึกถึง พระภิกษุพระยานรรัตนราชมานิต หรือท่านเจ้าคุณนร วัดเทพศิรินทราวาส ในฐานะพระสุปฏิปัณโณร่วมสมัย ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ แม้สำรวมอินทรีย์อย่างมาก ทว่าคุณวิเศษทางจิตและวิทยาศาสตร์ทางศาสนามักสำแดงออกมาโดยปิดบังมิได้ผ่านคำเทศนาบ้างปรากฏการณ์พิเศษบ้าง วัตถุมงคลเรืองเวทย์บ้าง ตำราแปลศาสตร์ต่างๆทั้งกายวิภาคศาสตร์โยคะศาสตร์บ้าง เปนที่เคารพนับถือในศีลสำรวมและศรัทธาในวัตรปฏิบัติ
 
กรณีนามกรของท่านนี้เปนที่ทราบกันดีว่า การขนานนามท่านว่า “เจ้าคุณ” นั้นไม่ได้เปนคำลำลองที่ใช้เรียกพระราชาคณะในทางสังฆมณฑลแต่อย่างไร เปนแต่เรียกติดมาตั้งแต่ครั้งท่านยังมิได้ลาเพศมราวาส มาบวชเปนพระสงฆ์
 
ครานั้นในวัยวุฒิเพียงไม่ทันสามสิบ ท่านมีบรรดาศักดิ์รับพระราชทานเปนพระยา ชั้นพระยาพานทอง ถือตราจุลจอมเกล้าชั้น 2 รั้งตำแหน่งที่ องคมนตรีในรัชกาลที่ 6 และ ต่อมาองคมนตรีในต้นรัชกาลที่ 7

เมื่อท่านหันหลังให้แก่สังโยชน์ทั้งสิบอันเกื้อกูลให้อยู่ในที่สะดวกสบายทางโลกย์แล้ว ก็ไม่ได้ใยดีกับโลกยสมบัติสมมติอีก เมื่อครองเพศบรรพชิตก็ตั้งหน้าปฏิบัติบำเพ็ญกิจในทางธรรมไม่รับธุระในการบริหารสังฆากิจจานุกิจราชการทางสงฆ์ หรือรับตำแหน่งฐานานุคุณใดๆอีกเลย นามเติมของท่านเจ้าคุณนรฯ นั้นคือ ตรึก จินตยานนท์ ผู้ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ) องค์อุปัชฌายะให้ฉายาทางธรรมที่สอดคล้องมากว่า ธัมมวิตักโก แปลว่า “ผู้ตรึกในธรรม” 
 
ท่านสำเร็จการศึกษาว่ากันสมัยนี้ก็คือ บัณฑิตจุฬาฯรุ่นแรกๆ ท่านขวนขวายเรียนภาษาฝรั่งเศส และอังกฤษด้วยตนเอง ท่านให้ความสนใจในศาสตร์ต่างๆมีความรู้รอบ เมื่อยังเยาว์ลงแรงศึกษาวิชากายวิภาคศพกับพระยาแพทยพงศาเพื่อถวายงานพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ในคราวถวายบำบัดพระอาการพระอันตะ(ลำไส้)อักเสบด้วยการนวดถวายได้ผลดี ทั้งศึกษาและปฏิบัติวิชาโยคะศาสตร์ทำสถิติการวิชาลายมือ โดยตรวจเทียบกับนักโทษประหาร ฯลฯ
 
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎ เกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตลง ท่านได้ปลงใจ สละทรัพย์อันเปนบ้านและที่ดินให้แก่วัดเทพศิรินทราวาส ออกบวชถวายเปนพระราชกุศล

มาทีนี้ก็จะขอกล่าวถึงว่า ปรากฏการณ์เช่นท่านเจ้าคุณนรฯ สละชีวิตอย่างดีออกบวชนี้ เมื่อครั้งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก็ยังมีผู้ที่น่านับถือสละเพศมราวาสอันชนส่วนใหญ่ตาร้อนในความที่คนสมัยนี้เรียกกันว่า “ชีวิตดี๊ดี” ออกบวชอีกท่านหนึ่งด้วย ด้วยความภักดีสูงสุดที่มิได้มีแต่เพียงวาจาลมปาก ลอยไปตามลม ท่านออกลาบวชถวายเปนพระราชกุศลตราบจนสิ้นภพ ท่านผู้นี้ คือ

พระยาสีหราชฤทธิโกร นามเดิม ทองคำ ต้น ตระกูล สีหอุไร รับราชการในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เปนข้าหลวงใหญ่นครราชสีมา เจ้ากรมพระตำรวจฯ เปนองคมนตรี รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ชั้นพระยา ครั้งแรกที่พระยามหามนตรี จางวางพระตำรวจขวาเลื่อนศักดินา เปน พระยาอนุชิตชาญไชย กรรมการศาลฎีกาแล้วเลื่อนศักดินา เปนพระยาสีหราชฤทธิไกร กรรมการศาลฎีกา เจ้ากรมอาสาใหญ่ซ้าย ท่าน ถือตราจุลจอมเกล้าชั้นสอง เปนพระยาพานทอง


 
เมื่อคราวสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จสวรรคต พระยาสีหราชฯได้ทราบข่าวเกิดโทมนัสถึงลมจับสิ้นสติไป เมื่อฟื้นคืนสติได้แล้วได้หาจังหวะทำหนังสือเข้ากราบบังคมทูลพระกรุณา พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ขอรับพระราชทานลาอุปสมบทเปนสามเณรฉลองพระเดชพระคุณ ในวันถวายพระเพลิงพระบรมศพถวายเปนพระราชกุศลแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทานพระบรมราชานุญาตพระยาสีหราชฯบันทึกว่าได้บอกข่าวลูกเมีย สั่งเสียกิจการบ้านเรือนแล้ว โกนหัวเข้าบรรพชา ณ พัทธสีมาวัดราชบพิตร มีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า เปนประธาน มีคนเย้าท่านก่อนบวชว่าเจ้าคุณจะละข้าวเย็นได้ละหรือ ?
(ทำนองชีวิตพระยาหรูหราสุขสบาย)
 
ท่านบันทึกไว้ว่าเรื่องข้าวเย็นนี้ก็มีความกังวลใจอยู่ส่วนหนึ่ง ทว่าเมื่อถึงคราวถวายพระเพลิงฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้พระยาอัพพันตรีฯ ส่งคนมาตามสามเณรพระยาสีหราชฤทธิไกรผู้เฒ่า ไปถวายพระเพลิงพระบรมศพที่พระเมรุมาศ ท่านรีบไปถึงสนามหลวง ร่วมพิธีรอจนการเสร็จบันทึกว่า รู้สึกอิ่มเอิบในการฉลองพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จผู้มีพระมหากรุณาธิคุณชุบเกล้า ไม่รู้สึกหิวอาหาร  (สมัยนี้คงว่าได้เข้าใจความเปนภาวะที่ว่าอิ่มทิพย์) ด้วยท่านเองหลังวันนั้นท่านนอนไม่หลับเปนเวลา 3 วัน 3 คืน !
 
ท่านดำรงเพศเณรชราอายุเจ็ดสิบปีอยู่ได้เจ็ดเดือน สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ โปรดประทานอุปสัมปทาให้ ณ พัทธสีมา วัดราชบพิตร
 
สิบปีต่อมาท่านเจ้าคุณสีหราชฯได้รับพระราชทานยกเปนพระราชาคณะที่ พระสุวรรณรังสี (ตรงตามชื่อเติมคือทองคำ-อุไร) มีพัดยศแบบยอดตามสมณศักดิ์ ท่านดำรงอยู่ในสมณเพศจนถึงวัยชรามาก 87 ปี จึงละภพโลกเดินทางสู่สัมปรายภพออกญามีชื่อทั้งสอง คือ พระยาสีหราชฤทธิไกร และ พระยานรรัตราชมานิต แม้นรับราชการต่างรัชสมัย แต่เมื่อเข้าสู่ร่มธงชัยกาสาวพัตรด้วยกุศลจิตกตัญญุตาคุณต่อสมเด็จพระบรมราชาธิราช เจ้าของตนแล้ว_ ทันกันดังจะได้เห็นรูปท่านทั้งสองถ่ายร่วมกันหน้าโบสถ์โดยน้องชายของท่านเจ้าคุณนรได้ตามช่างภาพจากร้านฉายานรสิงห์ถ่ายไว้ใด้ที่วัดราชบพิตรเปนตำนานแห่งความจงรักภักดี ฝ่ายหนึ่งนั้นภักดีด้วยชีวิตต่อพระองค์พ่อ ฝ่ายอ่อนอาวุโสนั้นภักดีด้วยชีวิตต่อพระองค์ลูกไม่เพียงแต่เท่านั้น เมื่อท่านเจ้าคุณพระสุวรรณรังสี (ทองคำ) มรณภาพลงแล้วทางราชการเห็นสมณศักดิ์สำคัญนี้ว่างลงจะขอถวายพัดยศและสมณศักดิ์นั้นแก่ พระภิกษุพระยานรรัตนฯ ผู้ซึ่งมีแนวทางสละโลกย์ออกบวชแบบเดียวกัน


 
ทว่าท่านเจ้าคุณนรสละสิทธิ์ไม่ขอรับยกเปนพระราชาคณะแจ้งความในใจแก่น้องชายท่านว่าจะแน่วแน่ในทางปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ต้องการ สมบัติเปนชิ้นเปนอันให้ผูกพัน
 
ที่นี้จะแทรกเกร็ดแนวคิดเรื่องนาม / ฉายาที่น่าสนใจว่าเหตุที่เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ เมื่อทรงขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัตินั้นทรงพระกรุณาโปรดฯให้เฉลิมพระนามปรมาภิไธยว่าพระมงกุฎเกล้าฯ เปนด้วยเนื่องมาจากสมเด็จพระอัยกาธิราช รัชกาลที่ 4 ทรงมีพระราชประสงค์ว่า ต่างชาติรู้จักพระองค์ดีในนาม คิงมงกุฎ แห่งสยาม พระปรมาภิไธยนี้ต่างชาติคุ้นเคยเพื่อให้ประเทศของเราเปนที่รู้จักสืบไปควรมีกษัตริย์สืบสันตติวงศ์ทรงพระนาม คิงมงกุฎที่ สอง หรือ KING MONGKUT THE SECOND ตามพระองค์ท่านที่จะได้รับการขนานพระนามกลับไปว่า KING MONGKUT THE FIRST
 
ทีนี้ส่วนฉายาทางพระ ที่มีความละเอียดแยบคายนอกจากของท่านเจ้าคุณนร แล้ว สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช(เจ้า)สกลมหาสังฆปรินายก องค์ที่ 19 นั้นทรงพระนามเดิม เจริญ คชวัตร ทรงมีพระอุปัชฌายาจารย์ มหานิกายผู้ทรงวิทยาคุณเรืองนามเมื่อทรงบรรพชาอุปสมบท คือ พระเทพมงคลรังษี หลวงปู่ดี พุทธโชโตวัดเหนือ เทวสังฆราม กาญจนบุรีเมื่อทรงญัตติซ้ำเปนธรรมยุติ ณ พัทธสีมา วัดบวรนิเวศวิหาร สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ผู้ทรงเปนองค์พระอุปัชฌายาจารย์ ทรงพระเมตตาประทาน ฉายา “สุวัทฒโน” ตามศัพท์ คือ สุ คือ ดี วัฒนะ คือ เจริญ  สุวัทฒโน คือ เจริญ+ตี
 
สอดคล้องต้องกันอย่างวิเศษถึงนามอุปัชฌาย์ผู้แรกให้กำเนิดในบวรพระพุทธศาสนาและอันเตวาสิกผู้ประพฤติงาม แสดงถึงความละเอียดลึกซึ้งของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าพระองค์นั้นผู้ประทานพระฉายานาม เปนอย่างยิ่ง

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,871 วันที่ 19 - 22 มีนาคม พ.ศ. 2566