คำว่า Fast บางทีไม่ได้แปลว่าเร็ว มันแปลว่า_อด_ต่างหาก
อด แบบว่า รอมฎอน แบบว่า บำเพ็ญตบะเดชะ ถือ ศีลอด อย่างที่ว่ายามตะวันรุ่งแล้วห้ามกลืนห้ามกินอะไรๆไปตลอดทางจนกว่าพลบค่ำรัตติกาลมาเยือน จึงตบะจะแตก_break ออก ได้
พวกแองกลิกันของอังกฤษก็มีแนวปฏิบัติเรื่องศีลอด แต่ออกกลิ่นอายของการเข้าพรรษา แบบว่าสำรวมและงดเนื้อสัตว์ใหญ่ หากไม่ไหวก็กินปลา อาจนับเปนการ fast ในนิยามนี้เช่นกัน อีทีนี้ถ้าเอากระจกมาส่องกลับดูก็จะพบว่าอันหมู่ชนไม่ได้เปนศาสนิกนั้น อิ่มข้าวเย็นแล้ว ท้องก็ว่างไปทั้งคืนอันยาวนาน ตื่นฟ้าสางอีกทีจีงท้องร้อง จำจะต้องหาอะไรใส่เข้า การเปิดปากร้บอาหารมื้อเช้า จึงเปน การ Break_fast -เลิกอด Breakfast จึงอาจนิยามเปนว่ามื้ออาหารเช้าด้วยประการฉะนี้_ก็ด้วยอดอาหารมาทั้งคืนนะซี 55
ทีนี้หากจะพูดถึงว่าข้าวเช้าคลาสสิก ของยุโรปนั้น พูดอย่างคนเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องว่ามันมี two extremes -สุดโต่งสองด้าน ด้านที่กินเหมือนดอมดมข้างหนึ่งกับด้านที่กินเหมือนปรนเปรออีกข้างหนึ่ง
อย่างไร?
พวกฝรั่งเศสกินมื้อเช้ากุ๊กกิ๊ก
- กาแฟดำถ้วยชามหนึ่ง
- แป้งปนเนยเจือโปรตีนไข่ ในรูป กรัวซองด์พระจันทร์เสี้ยวหอมมัน อันหนึ่ง อยากหวานก็ป้ายแยมผลไม้
- แร่ธาตุและน้ำตาล ในร่างของน้ำผลไม้คั้นสด_โดยเฉพาะน้ำส้มคั้น แก้วหนึ่ง
- ควันโรยกลิ่นบางเบา ในรูปบุหรี่มวนผอม มวนหนึ่ง ซาบซึ้งกับดอกไม้เพื่อนบ้านนอกหน้าต่างดีเเล้วก็ เเต่งตัวจัดจ้าน คว้าผ้าผวยคู่กายปลีกหายเข้าดงป่าคอนกรีตไปทำงาน!
ในขณะที่เจ้าอาณานิคมอย่างอังกฤษนั่น ต่างไป
- น้ำชาชงร้อน เหยือกหนึ่งก่อน_ใส่นม
- โปรตีนไข่ในรูปไข่กวน ไข่ลวก ไข่เจียว มาสักฟองสองฟอง
- โปรตีนหมูในรูป เบค็อนราวท้องหมูสามชั้นทำเค็ม และไส้กรอกสดเนื้อหยาบ
- โปรตีนถั่วในรูปถั่วขาวต้มในน้ำมะเขือเทศ สักถ้วย
- แป้งในรูป พ็อดริดจ์_ข้าวโอ๊ตต้มในนมเนยเจือน้ำตาล หรือไม่ก็มันฝรั่งอบทอด
- สารผัก ในร่างของมะเขือเทศจี่ เห็ดนาบไฟ
- น้ำผลไม้ คั้นสด พอๆกับพวกฝรั่งเศส
หรูหรา จริงจัง เต็มตื้น อย่างกับงานประติมากรรม ดมช่อดอกไม้ในสวนสาธารณะของคนอื่นด้วยสายตา จัดสีเสื้อผ้าให้ทึบทีม แล้วก็คว้าหมวก สวมร่ม ก้มผูกเชือกรองเท้า ออกเดินตึ่กตั่ก จากแมนชั่นนั่งรถบัสสองชั้นไปทำงาน
ข้าวเช้าของอังกฤษนั้นเปนตำนาน โดยเฉพาะเมื่อละงานอด ตามกำหนดศาสนา Full English Breakfast ยามเมื่อพวกเขาแตกกระสานฯไปสร้างบ้านใหม่นาม อเมริกา ปวงประชาแถวนั้นก็พากันติดรสชาติอันนิยม เกิดเปนศัพท์ในวงการโรงแรมว่า American breakfast สื่อความถึงมื้อเช้าแบบจัดเต็ม ตรงข้ามกันกับ Continental Breakfast - พวกภาคพื้นยุโรป กินนิดหน่อยบางเบา แท้แล้วอังกฤษก็อยู่ภาคพื้นยุโรปนี่แล้ แต่ไม่ใคร่อยากจะถือวงศ์พงศาเดียวกัน 55
ในรูปนี้เปนมื้อเช้า_ในกรุงปร้าก ภาคพื้นยุโรป ณ ห้องอาหารคลาสสิกเก่าแก่จะร้อยปี ของโรงแรมเอสพลานาด ตรงข้ามกับโรงละครแห่งชาติของเขา ประกอบไปด้วย
- ส้มสูกลูกไม้ลูกแพร์ ลูกพีช มะเดื่อ และ เกรปฟรุ้ต (น้องชายส้มโอ)
- นมเปรี้ยวทำเอง โยเกิร์ต
- ธัญพืชปนเมล็ดถั่วนัต แช่น้ำนม
- ผักสดผักใบ มะเขือเทศ แกล้มสลัดมันฝรั่งต้ม
- โปรตีนไข่ ทำวิลิศสมาหรา นิด คือต้มในน้ำส้มสายชูกวนน้ำเปล่า ให้จับตัวเปนเบเนดิกต์ ราดซอสไข่แดงแบบฮอลันดา รองด้วยหมูเค็มจัดหั่นบาง แกล้มไส้กรอกเล็กแห้งเนื้อหยาบเค็มจัด เห็ดหั่นตีน้ำมัน
เครื่องดื่มร้อนตามใจใคร่กาแฟหรือน้ำชา ปร้ากผ่านวันเวลารุ่งเรืองร่วงโรยมามากเพิ่งออกจากคอมมูนนิสต์ ได้ไม่ช้านาน มีอาหารบริการครบเครื่อง เช่นนี้ น่ารั้ก.
ปล. โบราณว่าบ้านไหนทำของแห้งเค็มจัด แปลว่าเขาค่อนจะยากยากไร้ ด้วยหมายจะให้ชิมเนื้ออันเค็มแต่น้อยเพื่ออิ่มท้องจากแป้งข้าวมากๆ มิน่าเขาถึงเรียกคนเขียมหนักๆว่า_เค็ม!
อีทีนี้ก็จะเล่าท่านฟังต่อถึงว่าสมรภูมิโต๊ะอาหารของอังกฤษ และ ฝรั่งเศส (anglo vs french) มันมีอีกนาท่านนา ยามกินข้าวอังกฤษ ต้องคว่ำส้อมนั้นไว้ในมือเสมอ และเครื่องวัดมาตรฐานฝ่ายเเองโกลเซกซอนนี้คือ ต้องกินไอ่เมล็ดถั่วต้มเขียวที่เสิร์ฟมาในจานอาหารด้วยมีดและส้อมอันคว่ำส่งเข้าปากให้ได้ ถ้าทำไม่ได้_เสร็จ!
นั่นกฎข้อที่ 1
ข้อที่สอง ยามร่วมโต๊ะอังกฤษควรลังเลที่จะแสดงกิริยาปลื้มปลาบกับอาหารอย่างฝรั่งเศสแกสโตรโนม การขอดเอาคราบความอร่อยในรูปของซอสหรือเศษอะไรๆค้างจานมาเข้าปาก อาจจะโดยบิเอาขนมปังมาเสียบส้อมอันคว่ำไว้ตามข้อ 1 แล้วชุบเช็ดนั้นปวงผู้ดีชาตินี้เขาจะนินทาโดยกระซิบกระซาบต่อหน้าแก่กันว่า ‘โอ้ว_ช่างสัตว์ป่า-very wild, indeed.’ 55 สงครามสมรภูมิโต๊ะอาหารระหว่าง anglo-franco อังกฤษ/ฝรั่งเศสนี้ยังไม่จบ
กฎข้อที่ 3 ยามเข้าโต๊ะแล้ว อย่าวางมือบนโต๊ะ อังกฤษบอก_เอาเก็บลงไป หิวกระหายรอไม่ได้จนจะเอามือมารอไขว่คว้าฉีกทึ้งอาหารที่จะลงโต๊ะอีกไม่กี่นาทีนี่หรือไง! - สัตว์ป่า?
ฝรั่งเศสถอนใจพลางกระดกไวน์โรเซ่เรียกน้ำย่อยแล้วจึงว่า _เอาข้อมือและฝ่ามือขี้นมาโชว์ซะดีๆ ว่าพวกแกไม่ได้เล่นจ้ำจี้ปู่ไต่ไล้ขาอ่อนกันใต้โต๊ะ นี่มันเวลากินไม่ใช่เวลาสยิว! ไอ่ผู้ดีตาขยิบ! วัฒนธรรมสองฝ่ายต่างกันมากดังนี้
กฎข้อที่ 4 การจัดโต๊ะ ส้อมเงินของอังกฤษ วางหงายไว้รอเเขกผู้มีเกียรติหยิบมันคว่ำลงใช้งานเสมอ ในขณะที่ส้อมเงินฝรั่งเศสวางคว่ำ เปล่าไม่ได้กลัวปลายแหลมมันทิ่มแทงเเขกอังกฤษผู้ดี เขาให้ดูตราประจำตระกูลที่ประทับซ่อนไว้ด้านหลังคันส้อมตะหากล่ะ!
อิ่มท้องเข้าแล้วก็ร่ำลา ฝ่ายอังกฤษเดินขมิบขา คว้าหมวก ไปก้าวขึ้นประติมากรรมอันเทอะทะเเต่ภายในคับแคบอย่างโรสสรอยซ์ (หรือเดมเลอร์ ถ้าไม่มีเชื้อเจ้า หรือ จากัวร์ถ้าเจ้าอยากถ่อมตน) เข้านั่งหนีบขากะเกร็งบนเบาะหลังปูพรม ปล่อยให้พลขับเดินเครื่องเงียบๆเคลื่อนคลาจากไป
ฝ่ายฝรั่งเศส ผิวปากเริงร่า คว้าผ้าพันคอ หนีบขวดไวน์กินเหลือ แล้วกระโจนขึ้น ซีตรงหน้ายาว โยกคันบังคับไฮดรอลิกกระดกก้น คลึงแป้นคันเกียร์แบบไร้คลัทช์ แล้วนั่งอ้าซ่าบนเบาะนุ่มอย่างโซฟา กดคันเร่งฝ่าราตรีไปอย่างเอ็ดอึง.
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,901 วันที่ 2 - 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566