เลข 3 จาก พ่อท่านเอียด ถึงพ่อท่านผ่อง วัดตะแพน

17 มิ.ย. 2566 | 04:12 น.
อัปเดตล่าสุด :17 มิ.ย. 2566 | 17:25 น.

คอลัมน์ Cat out of the box เลข 3 จาก พ่อท่านเอียด ถึงพ่อท่านผ่อง วัดตะแพน โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

คนไทยปรามาสนัก ว่าใครบวชสามครั้งเปนชายสามโบสถ์คบไม่ได้_อ้างเหตุว่าไม่เอาแน่สักทีกระเด๋วบวชกระเด๋วสึก 55 ตรงข้ามกันกับฝ่ายพม่ารามัญ ว่างจากการศึกราชการงานเมืองเปนได้โกนหัวเข้าวัด บวชพระบวชชี
 
อดีตฯพณฯเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทพฯ มะเอือง ชเว ธัต ผู้ซึ่งกลับไปเปนรมต. หลายสมัย ผู้นี้ไงเปนผู้ชายจะ 6 โบสถ์เข้าให้แล้ว ท่านกล่าวไว้ว่า มีเวลาว่างก็ออกบวช ! อย่างนี้คงคล้ายกับการสมาทานควั่นฟั่นเกลียวเชือกที่หย่อนคลายให้หายล้ากลับเขม็งเคร่งครัดขึ้นมาใหม่ !!
 
เรื่องชายสามโบสถ์ในอินเดียครั้งพุทธกาลนั้นก็มีเผอิญได้เล่าไว้แล้วใน บันทึกข้อคิดจากการอุปสมบทในแดนพุทธภูมิฯ ขออนุญาตจะไม่เล่าซ้ำในที่นี้อีก อย่างไรก็ดี ข้อที่น่าสังเกตนั้นน่ะครับคุณท่านผู้อ่านที่รัก คือเวลาจะทำอะไรในทางพุทธศาสนา ดูๆไปคล้ายจะนิยมทำสามรอบ เช่นว่า ทุติยัมปิ ตะติยัมปิ เวลาสมาทานศีล กับ เวลารับไตรสรณะคมน์ เปนต้น


 

พระเดชพระคุณ พระครูเกษมธรรมนันท์ วิ. (หลวงพ่อแช่ม) วัดดอนยายหอม เวลาแผ่เมตตาบารมีให้พรคณะศรัทธาญาติโยม ท่านจะเมตตาพูดประโยคพรเดิมๆนั้นสามครั้ง 
 
อ้ายพวกจังไรว่าหลวงพ่อแก่มากแล้วเบลอ พูดจาซ้ำซาก _หนอย_ก็ให้อยากจะเอาอะไรเบื้องล่างสัมผัสเข้าปากกร้าวให้กบเลือด ดวงจิตขนาดเสกน้ำมนต์แข็งเทไม่ออกจากบาตรนี่นะจะเบลอ? ท่านเมตตาผูกวาจาสิทธิ์ให้พรนั้นรัดแน่นเขม็งเกลียวโปรดสัตว์ผู้ยากเปนพิเศษสามคราวหรอกหนา แบบว่า ทุติยัมปิ/ตะติยัมปิ อย่างไรเล่า
 
อันความโง่ที่นำมาซึ่งความเลวเปนอย่างงี้นี่เองฯ:- กลับมาดูอีกฟากหนึ่งเรื่องอะไรๆที่เปน 3 พระรัตนตรัยนี้ฝรั่งเรียก three gems_แก้วสามประการ ฝ่ายคริสต์มีตรีเอกานุภาพ_พระบิดา พระบุตร พระจิต (holy ghost) ฝ่ายพราหมณ์มีตรีมูรติ _พระพรหม พระวิษณุ พระศิวะ เหล่านี้คืออำนาจของเลข 3 ในทางศาสนาเปรียบเทียบ

คราวหนึ่งไปเมืองตรัง โกชัย สามล้อหน้ากบปากคอแกสนุกเราะราย ค่ำๆวันนั้นโกชัยมารับไปหาของกิน ได้สังเกตเห็นยันต์ชนิดหนึ่งคล้ายยันต์กระบองไขว้สำนักอ่างศิลาแต่ว่าขมวดทุกทิศเข้าด้วยกัน ติดอยู่หน้ากระจกสามล้อเครื่องนั้นชวนให้สงสัย สงสัยว่าเหมือนนัก เหมือนยันต์ประจำตัวพ่อท่านผ่องวัดตะแพน พัทลุง ผู้มีดวงจิตสงบเย็น
 
เปนพ่อท่านผ่อง ผู้สามโบสถ์และมีความติดข้องสงสัยในกิจการพระศาสนา บวช-สึก_บวช-สึก_บวช-ไม่สึก (รอบสุดท้ายนี้ยิงยาวครองผ้าเหลืองจนถึงกาลเวลามรณะสังขาร) ท่านผู้ทรงวิทยาคุณเปนที่นับถือทั่วไปในเหล่าทหารสามจังหวัดชายแดนใต้
 
สงสัยอยู่ว่าชะรอยจะเปนสายวิชาเดียวกันแน่แท้ ถามชัยคนขับก็ไม่รู้เรื่องราวจึงได้ลงมือศึกษาค้นคว้าเอาเอง รุ่งขึ้น ยิ่งใหญ่การโยธา กระบี่ ควบรถเมอร์ซิเดสไฟฟ้ามารับที่ตรังมุ่งหน้าตรงไปวัดตะแพน แถวศรีบรรพต พัทลุงในอดีตเปนพื้นที่คอมมิวนิสต์สีแดง
 
อันว่าข่าวล่านั้นมาถึงช้าไป พ่อท่านผ่อง พระครูอดุลย์ศิลวัฒน์ ละสังขารเสียเเล้ว โอกาสจะได้ข้อมูลปฐมภูมิเปนสูญ เบาะเเสทั้งหลายหาไม่เจอก็ไม่เปนไร ได้ร่วมกุศลสร้างประตูวัดใหม่อ้างเอาอานิสงส์สัตยาธิษฐานไปที่ใดให้มีทางเข้า ครั้นไม่พึงใจจะออกก็ให้มีทางออก_เหมือนดังเช่นกุศลประตูนี้เถิด


 
จังหวะว่าพบท่านเจ้าอาวาสใหม่ชื่อตาหลวงหล้อมให้ความเมตตาอธิบายไขข้อมูลให้ทราบว่า พ่อท่านผ่องนั้นเปนลูกชายแท้ๆของพ่อท่านเอียด วัดทุ่งหินผุด เมืองตรัง _อ้าว
 
มาถึงบรรทัดนี้ก็จะพากันสงสัยว่าอะไร_เปนไปยังไงพระมีลูกเปนพระ!
 
มันก็ไม่ได้ตลกเหมือนคราวฝรั่งคิดไปเองว่า พระในวัดมีเมียเปนชีและมีลูกเปนเณร-กรรมเวร เอาไม้บรรทัดของบาทหลวงแต่งงานทำลูกได้ของตัวเองมาเที่ยววัดคนอื่น
 
บรรทัดนี้หวลรฤกถึงนิทานเชิงปรัชญาหลอกสมองเรื่องหนึ่ง มีอยู่ว่าครอบครัวหนึ่งในอังกฤษมีพ่อเปนศัลยแพทย์ผ่าตัดมีลูกสาวและลูกชายอย่างละคน เช้าวันหนึ่งทุกคนกินข้าวเช้าเเล้วรีบพากันออกจากบ้านเพื่อไปทำงานและเรียนหนังสือ
 
ทั้งหมดโดยสารไปในรถเก๋งจากัวร์ที่คนพ่อขับและลูกๆนั่งไปด้วย ชั่วพริบตานั้นเกิดประสานงาเข้ากับรถสิบล้อ เมื่อตำรวจถึงที่เกิดเหตุตัวพ่อหมดลมหายใจแล้ว ตัวลูกๆ อาการร่อแรเปนตายเท่ากัน
 
เมื่อกู้ชีพนำผู้บาดเจ็บไปถึงโรงพยาบาล ศัลยแพทย์ในห้องผ่าตัด เห็นหน้าคนไข้เด็กสองคนแล้วอุทานว่า “พระเจ้าช่วย_นี่มันลูกฉัน!” (Jesus Christ, they are my kids!)
 
คำถามว่า อ้าว_ไหนว่าตัวพ่อตายในที่เกิดเหตุแล้วไง จะไปผ่าตัดลูกตัวเองที่โรงพยาบาลแถมอุทานอย่างงั้นได้ไง?!?
ที่เปนอย่างงี้ก็เพราะลืมไปว่า ศัลยแพทย์ไม่จำเปนต้องเปนผู้ชายเสมอไป ครอบครัวนี้ เขาเปนศัลยแพทย์กันทั้งตัวพ่อและตัวแม่(ผู้หญิง)!
 
เช่นกันกับกรณีพ่อท่านเอียด พ่อท่านผ่อง พ่อท่านเอียดมีครอบครัวแล้วก่อนจะลาเพศฆราวาสออกบวชเปนบรรพชิต และมีบุตรชายนามว่าผ่อง ซึ่งภายหลังออกบวชแล้วคนขนานนามว่าพ่อท่านผ่อง


 
ประกาศนียบัตรที่รับรองความขลังของพ่อท่านเอียดคือเหรียญรุ่นแรกของท่าน มีกรณีหนุ่มสวนยางถูกไล่ยิงด้วยปืน .๓๘ แต่กระสุนไม่สามารถระคายผิวหนัง คนดังเมืองตรังที่ถูกคู่อริฝ่ายตรงกันข้ามจับกดหัวลงกับพื้นแล้วเหนี่ยวไกยิง ๓ นัดซ้อนแต่ไม่ยิงออก เหรียญรุ่นแรกของพ่อท่านเอียดแหวกตลาดพระเครื่องขึ้นทำเนียบเหรียญดังของจังหวัดมานานแล

พ่อท่านเอียด เปนใคร? ค้นปูมดูจึงทราบว่าท่านเปนคนพัทลุง ประกอบอาชีพทำนา มีครอบครัวแล้วจึงออกอุปสมบทในวัยสี่สิบปี
 
พ่อท่านผ่องเปนบุตรคนเล็กเล่าว่า “ สมัยที่ยังไม่ได้บวชแกเคยโดนโจรที่เข้ามาปล้นวัวรุมทำร้ายถึง ๙ คน แต่ก็ไม่สามารถทำอันตรายแกได้ โดนแกไล่ฟันจนกระเจิง” อนึ่งจากเรื่องโจรปล้นวัวในคืนนั้นได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตพ่อท่านผ่องถึง ๒ เรื่อง 
 
1. แรงบันดาลใจที่จะเรียนรู้ศาสตร์ลึกลับที่พ่อใช้ป้องกันตัว ซึ่งได้ทราบว่า “ท่านนับถือและเชื่อมั่นในไตรสรณคมน์มาก” อันนำไปสู่
 
2. ความพยายามเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพระไตรสรณคมน์
 
ด้วยพ่อท่านเอียดได้เฉลยและตอกย้ำแก่ท่านสม่ำเสมอว่าสายวิชาของท่านนับอานุภาพของไตรสรณคมน์นี้เปนที่สุด ให้ยึดถือไว้เป็นหลักเป็นที่มั่นของใจ เป็นพระคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุด กันได้ทั้งผี กั้นได้ทั้งอันตรายที่จะเกิดต่อตนเองและบุคคลรอบข้าง “พุทธัง สรณัง คัจฉามิ 
ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละแม้แต่เทพ เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายยังต้องให้ความเคารพยำเกรง ไม่มีสิ่งใดที่จะก้าวล้ำผู้ที่มีจิตมั่นคงในพระไตรสรณคมน์ได้”


 
เมื่อย้อนความคิดไปในอดีต ท่านว่า “ตอนเด็กๆ สักสิบกว่าขวบ พ่อก็ให้ทำน้ำมนต์ไล่ผีแล้ว สอนว่าให้เอาขันน้ำใส่น้ำฝน ตั้งหน้าพระแล้วสวดไตรสรณคมน์นี่แหละ แกเองก็ใช้คาถานี้เหมือนกัน”
 
พ่อท่านผ่องพูดถึงหลักธรรมประจำใจของพ่อท่านเอียดและสายวิชาของท่าน

แล้วพ่อท่านผ่องเล่าเปนยังไง?
 
ค้นปูมดูอีกจึงทราบว่า ท่านเปนผู้โลดโผน ที่ผ่านมาได้ใช้ชีวิตคุ้มค่า ได้ผ่านการอุปสมบทมาสามครั้งแล้ว ครั้งแรกที่วัดสุวรรณวิชัย จังหวัดพัทลุง มีพระครูกรุณานุรักษ์ (พร้อม) อุปัชฌาย์ครั้งที่สองบวชที่วัดเกาะยาง จังหวัดพัทลุง มีพระครูวิริยโศภน  (พ่อท่านบัว) อุปัชฌาย์ หลังลาสิกขาก็ได้ออกมาครองเรือนและมีบุตร ๓ คน เมื่อได้สร้างครอบครัวเลี้ยงดูบุตรจนครองเรือนได้แล้ว อยู่มาวันหนึ่งท่านนึกหวนระลึกถึงเรื่องความกังวลใจเกี่ยวแก่สัจจะที่บนบานไว้ในอดีต จึงได้ออกเดินทางจากควนขนุนมาขอคำปรึกษาจากบิดา “พ่อท่านเอียด” ที่วัดทุ่งหินผุด จังหวัดตรัง
 
เมื่อมาเห็นพ่อท่านเอียดซึ่งขณะนั้นชราภาพมากแล้วแต่ยังยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา  ทำให้เกิดความประหลาดใจว่า เหตุใดพ่อของท่านจึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข? ด้วยความสงสัยท่านจึงได้กราบขออนุญาตพ่อเพื่ออุปสมบท โดยในจังหวะนั้นท่านคิดเพียงสามอย่างคือ หนึ่ง-ตนเองจะได้บวชแก้บนให้จบสิ้นกันเสียที  สอง-แก้ข้อสงสัยที่ว่าทำไมพ่อท่านเอียดถึงไม่เกิดความทุกข์เวทนาในกายสังขาร และ สาม-ทดแทนคุณบิดาโดยการอุปัฏฐาก
 
จึงได้อุปสมบทอีกครั้ง(ครั้งที่ ๓)  ณ วัดควน (นาแค) ตำบลบ้านควน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง โดยมีพระครูอดุลคุณาทร เปนอุปัชฌาย์
 
ท่านเล่าว่าในระหว่างที่บวชอยู่นั้น พ่อท่านเอียดได้ถ่ายทอดวิชาอาคมให้อีกมากมายพร้อมกับคอยย้ำเตือนแบบเดิมๆ คือให้ยึดมั่นในคุณของพระไตรสรณคมน์ และด้วยคำพูดของพ่อท่านเอียดที่สอนว่า “ไม่มีความสุขใดเท่าความสุขในร่มเงาของพระพุทธศาสนา”  วาจาสัตย์ของพ่อทำให้ท่านผู้เปนลูกสิ้นสงสัยและมั่นใจว่าหนทางที่ท่านดำเนินอยู่นี้คือทางเดินที่ถูกต้องและเป็นเส้นทางแห่งความสุขอย่างแท้จริง
 
ต่อมาเมื่อชนมายุร่วมร้อยปี คนเมืองตรังก็สิ้นพ่อท่านเอียด ชาวบ้านนาบินหลา วัดทุ่งหินผุดบางคนในยุคนั้นบอกว่าพ่อท่านผ่องไม่เก่งเหมือนพ่อท่านเอียด บางคนก็บอกว่าพรรษาของท่านยังไม่มากพอ ฯลฯ 
 
เมื่อไม่ให้สถานการณ์และกาลเวลาเปนเครื่องพิสูจน์บุรุษ กอรปกับด้วยไม่ชอบความวุ่นวาย พ่อท่านผ่องจึงตัดสินใจกลับมาจำพรรษา ณ วัดป่าตอ ตำบลโตนดด้วน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง บ้านเก่า การมรณภาพของบิดาในปี ๒๕๒๑ ทำให้ท่านถึงได้ตกผลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าในเรื่องความไม่เที่ยงของสังขารและสรรพสิ่ง ท่านจึงตัดสินใจอุทิศชีวิตที่เหลืออยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในทางโลกคือสงเคราะห์ผู้คนในด้านต่างเท่าที่จะสามารถทำได้ และทางธรรมคือสั่งสอนอบรมให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายได้เห็นถึงความสำคัญของ ศีล สมาธิ ปัญญา โดยสืบคติสายวิชาไตรสรณคมน์ 
 
“การปฏิญาณขอรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งนี้ เรียกว่า ไตรสรณคมน์ เป็นเรื่องที่พุทธศาสนิกชนต้องพึงรู้เป็นอันดับแรก หากตีความตามบท พระพุทธหมายถึง พระผู้ตรัสรู้อย่างแจ่มแจ้ง พระธรรมหมายถึง ความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และนำมาสั่งสอน พระสงฆ์ คือพระพุทธสาวก ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ”


 
ท่านว่าเรื่องนี้ค่อนข้างละเอียดอ่อนและต้องให้ความสำคัญที่สุด การสมาทานทำให้ไม่ขาดธรรมะ การขาดธรรมะนำมาซึ่งอวิชชาคือความไม่รู้หลงผิด ดังนั้นถ้าคนเรามีธรรมะ ก็จะรู้จักการใช้ชีวิตอย่างมีสติ รู้จักควบคุมจิตใจตนเอง
 
ต่อข้อถามถึงว่า วัตถุมงคลของท่านทุกอย่างถึงจะมีจำนวนน้อยชิ้นแต่ก็ล้วนเป็นที่ต้องการและแสวงหา โดยเฉพาะกับเหรียญรุ่นแรก (ฉลองสมณศักดิ์พัดยศ ปี ๒๕๔๐ ) ที่มีประสบการณ์อย่างฉกาจฉกรรจ์และโชกโชนชนิดยมบาลยังสงสัยไม่ว่าจะเปนเรื่องอุบัติเหตุประสานงาระหว่างรถมอเตอร์ไซด์กับรถยนต์ การเตือนภัยเวลามีเหตุร้าย ไล่ไปจนถึงเรื่องยิงไม่ออก ฟันไม่เข้า เปนที่ประจักษ์ ท่านเฉลยว่า “การน้อมนำพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จะทำให้มีชีวิตที่ดี มีความสงบ คนเราถ้ามีสติ มีความปรารถนาดี มีความเมตตา ก็จะไม่เกิดการแบ่งแยกทะเลาะเบาะแว้ง” 
 
“ที่ว่าทำไมคนสมัยก่อนถึงถือของได้ขึ้นกว่าคนสมัยนี้ก็เพราะคนสมัยก่อนเคร่งครัดในธรรมะและวิธีการใช้วัตถุมงคลอย่างมาก”
 
ต่อข้อธรรมะที่ท่านน้อมนำมาใช้กับตัว ท่านว่าบทชักผ้าบังสุกุลนั้นเตือนจิต “อนิจจา วต สังขารา อุปปาทวยธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชชันติ เตสัง วูปสโม สุโข 
สังขารไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วต้องดับ เกิดมาแล้วก็เสื่อม เป็นธรรมดา ไม่ควรยึดถือยึดมั่นในสังขาร ในเมื่อคนเรามีความทุกข์เหมือนกัน การจะทำให้พ้นทุกข์ก็ต้องเป็นแบบเดียวกัน”
 
คติธรรมจากพ่อท่านผ่อง ในฐานซึ่งเปนพระบ้านมีคุณวิเศษเปนที่ประจักษ์จากการลงมือทำมากกว่าศึกษาเอาในตำราตำรับ ในฐานซึ่งพระสงฆ์ธรรมดาที่ไม่ได้จบหลักสูตรปริญญามาจากสถาบันไหน เปนคำสอนอันเกิดจากประสบการณ์เสียดทานแรงโลกย์โดยตรงอันมีค่าเยี่ยงเพชรจำรัสผ่องใส 
 
ชั่วระยะเวลาหนึ่งปีที่บุรุษหนึ่งได้ใช้เวลาในเพศบรรพชิตอยู่กับบิดาบังเกิดเกล้าในเพศบรรชิต สามารถทำให้ท่านตกผลึกความคิดครองสมณเพศยาวนานจนถึงกาลมรณภาพในผ้าเหลืองไม่ลาสิกขาอีกเปนครั้งที่สาม
 
“เราชอบความสงบ ไม่ชอบความวุ่นวาย เมื่อเราเห็นว่ามีความวุ่นวายกำลังจะเข้ามาหาและไม่สามารถแก้ไขได้ เราก็ต้องแก้ไขปรับปรุงที่ตัวเราเอง เราชอบความสงบ เราก็ออกไปเก็บเกี่ยวหาความสงบที่เป็นความสุขในแบบของเรา”
 
ชายสามโบสถ์ผู้นี้แม้เคยย่อหย่อนลังเลในเส้นทางแห่งตน แต่ดวงจิตซึ่งแสวงวิเวกตื่นรู้หาหนทางดับทุกข์อยู่มิรู้วาย เมื่อได้ปิตุคุณจากบิดาบังเกิดเกล้า หลอมเกล้าชุบกายใจให้มั่นคงแล้ว สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงบินตรงโบกปีกตามบิดาผู้คอยฟั่นเกลียวเชือกที่หย่อนคลายตัดตรงเข้าแดนนฤพาน ด้วยอำนาจสามที่พึ่งสูงสุด-ไตรสรณะคมน์

ขอนอบน้อมแต่ดวงจิตหลุดพ้นของพ่อ-ลูกคู่นี้ พระอาจารย์เอียด ชินปุตโต และพระครูอดุลศิลวัฒ ผ่อง ด้วยเศียรเกล้า

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,897 วันที่ 18 - 21 มิถุนายน พ.ศ. 2566