ประเทศอังกฤษนับได้ว่ามีคุณูปการกับพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เพราะในสมัยที่ปกครองประเทศอินเดีย ได้มีการขุดโบราณสถานต่างๆ มากมาย ทำให้ได้ค้นพบเสาอโศกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่บันทึกด้วยภาษาพราหมณ์ จึงทำให้เราได้รู้เรื่องราวของธรรมะต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน ส่วนภาษาบาลีเป็นภาษาที่มาในชั้นหลังๆ ความชัดเจนไม่อาจเท่ากับสิ่งที่พระเจ้าอโศกมหาราชบันทึกไว้
ดร.ฟูห์เรอร์ ค้นพบเสาอโศกที่ลุมพินี เมื่อพ.ศ.2438 แต่ภาษาบาลีแปลโดย เจมส์ ปริญเสพ ชาวอังกฤษโดยเริ่มแปลเมื่อ พ.ศ.2480 และใช้เวลากว่า 7 ปี จึงลุล่วงสำเร็จ เป็นต้น
ธรรมะมากมายที่พระพุทธเจ้าสอน บางครั้งก็ไม่ปรากฏอยู่ในเถรวาท แต่ไปปรากฏอยู่ในนิกายมหายาน ซึ่งเป็นธรรมะที่ทรงคุณค่าและก็นำมาใช้กับชีวิตประจำวันได้เป็นอย่างดี
"การยอม"
บางครั้งคำว่ายอมอาจจะถูกนำมาสื่อสารในมุมที่เหมือนกับเป็นผู้พ่ายแพ้เหมือนกับเป็นผู้ที่อ่อนแอ แต่อีกนัยยะหนึ่ง คำว่ายอมอาจหมายถึงความสันติสุข เพราะคำว่ายอม เป็นการยอมรับเป็นการยอมที่ไม่ไปปะทะเพื่อให้ผู้อื่นได้มีความสุขบ้าง
เหมือนเราเล่นกีฬากับเพื่อน เราชนะเพื่อนมาโดยตลอด บางครั้งเรายอมเพื่อนแต่มิได้แกล้งแพ้ เพื่อให้เพื่อนได้มีความสุขบ้าง แล้วตัวเราเองก็จะมีความสุขทางจิตวิญญาณเพิ่มขึ้น เพราะเป็นผู้ที่ทำให้บุคคลอื่นมีความสุข
ดังนั้น ในสันสกฤตของมหายาน ธรรมะที่เกี่ยวกับการยอมจึงมีค่อนข้างมาก เพราะธรรมะในสายมหายานจะไปในแนวของการช่วยเหลือผู้อื่นแบบโพธิสัตว์โดยเริ่มต้นที่โพธิจิตเป็นที่ตั้ง
ผมอยู่ที่อินเดียกับหลวงพ่อทองยอด(พระเทพโพธิวิเทศ) ได้ความรู้มากมายในมุมที่แตกต่างจากชาวพุทธแบบไทยๆ ธรรมบางอย่างแม้แต่เถรวาทไทยเองหาปรากฏ แต่ทว่าเถรวาทศรีลังกานั้นมี
การยอม ไม่ว่าจะ ยอมรับ, ยอมถอย, ยอมฟัง, ยอมทำตาม, หาใช่หมายถึงการยอมแพ้ แต่เป็นการยอมที่ฝึกจิตวิญญาณของเราเองได้เป็นอย่างดี ฝึกใจเราให้ผู้อื่นมีความสุข ฝึกใจตัวเองเพื่อลดละอีโก้ลง เป็นการฝึกให้ความอ่อนโยนเกิดขึ้น ผู้ใดที่ฝึกแล้วสามารถทำได้ชีวิตจะมีแต่คำว่าความสุข และเป็นความสุขที่ไม่ต้องมีวัตถุใดๆ เข้ามาเจือปน เป็นความสุขที่บริสุทธิ์ เป็นความสุขที่มีความกรุณาในหัวใจหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา
ลองนำเอาไปปรับใช้กับชีวิตของตัวเองดู สอนใจตัวเองให้รู้จักการยอม เพื่อความสุขทางจิตวิญญาณบ้าง เมื่อได้สัมผัสแล้วจะรู้เลยว่าความสุขชนิดนี้ มีเงินร้อยล้านพันล้านก็ไม่อาจจะสัมผัสมันได้ถ้าไม่รู้จักคำว่าการยอม
ติดตามราชรามัญ
วิทยากร/บรรยาย
https://www.facebook.com/rajraman164