พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้แล้ว ความรู้ในด้านจิตวิญญาณของพระองค์นั้นมีมากมาย ครั้งหนึ่งพระองค์เคยทรงตรัสว่า ใบประดู่ลายในมือตถาคตช่างน้อยนิด เมื่อเทียบกับใบประดู่ลายทั้งป่า ธรรมทั้งปวงของที่ตถาคตรู้ เปรียบเหมือนใบประดู่ลายทั้งป่า แต่ตถาคตหยิบเอามาสอนแค่กำมือเดียว
นั่นหมายความว่า ทรงรู้อะไรอีกมากมายในด้านจิตวิญญาณ แต่ทรงหยิบเอาเรื่องที่เหมาะกับมนุษย์มาสอน คือ อริยสัจทั้งสี่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เพื่อความดับทุกข์
ถ้าได้พิจารณาอย่างเปิดใจ ใบประดู่ลายนอกกำมือของตถาคต ก็เป็นธรรมะเช่นกัน เป็นองค์ความรู้เช่นกัน ผมจึงเขียนเรื่องนี้ว่า ใบไม้นอกกำมือ
เป็นไปได้ที่เราได้พบได้เห็นธรรมะของหลวงปู่ หลวงพ่อแต่ละวัด แต่ละองค์มีความแตกต่างกันออกไป เพราะท่านอาจได้พบวิธีการที่เรียกว่า ใบไม้นอกกำมือ คือ องค์ความรู้หรือวิธีการที่พุทธองค์ไม่ได้ตรัสถึง และสุดท้ายความรู้เหล่านั้นก็มาจบลงรอยเดียวกันที่ อริยสัจ 4
อย่างวิชา ธรรมกาย ที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญ กทม. ค้นพบนั้น อาจเป็นใบไม้นอกกำมือที่สำคัญอีกใบ ที่ใครเมื่อฝึกแล้วก็จะได้สมาธิดี ตลอดทั้งสามารถเข้าอริยสัจ 4 ได้ เพราะธรรมกาย หมายถึง กายตถาคต ผมจึงมิเคยปฏิเสธแนวทางนี้แต่อย่างใด หรือ วิชามโนมยิทธิ ที่หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง ท่านสอนก็มีความเป็นไปได้ว่า เป็นหนึ่งในใบไม้นอกกำมือเช่นเดียวกัน
ธรรมะ 84000 พระธรรมขันธ์นั้น มีมากเกินที่เราจะรู้ทั้งหมดตั้งแต่เบื้องต้นท่ามกลางไปถึงที่สุด
พระสิ้นคิด ที่กำลังโด่งดังในติ๊กต๊อก ในโลกออนไลน์ ท่านก็พูดความจริง พูดในสิ่งที่ปรากฏในพุทธกาล เคยฝึกปฏิบัติธรรมมา จนกระทั่งเข้าใจในธรรมระดับหนึ่ง นับว่าเป็นใบไม้นอกกำมืออีกใบ
ถ้าเชื่อเรื่องกรรม เรื่องวาสนา เรื่องบุญ แต่ละบุคคลย่อมมีแตกต่างกัน ความแตกต่างตรงจุดนี้เอง จึงทำให้พระภิกษุผู้มุ่งในการปฏิบัตินั้นได้พบสัจธรรมตามความเป็นจริงที่มีจุดเริ่มต้นในการปฏิบัติแตกต่างกันออกไป เราไม่อาจกล่าวได้ว่าวิธีของท่านนั้นถูกท่านนี้ผิดด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมา
บ่อยครั้งที่ เวลาไปบรรยายตามองค์กรแล้วมีผู้คนถามว่า วิธีของวัดนั้นท่านถูกไหม หลวงพ่อนี้ใช่ไหม ก็ต้องขอตอบแบบตรงไปตรงมาว่า เราไม่เคยปฏิบัติตามแนวทางของท่าน เราก็ไม่ควรไปตัดสินท่านว่าถูกหรือผิด
แต่ถ้าเรายึดในหลักเรื่องของบุญ เรื่องของวาสนา เรื่องของกรรม ซึ่งแต่ละคนย่อมมีภาวะที่แตกต่าง ก็อาจจะเป็นไปได้ว่า ท่านสร้างบุญสร้างกุศลมาทางนั้นจึงได้พบสัจธรรมแบบนั้น
นี่คือการวางใจเป็นกลาง ในการศึกษาธรรมะ แต่ถ้าเราจะยึดเอาแค่เพียงใบไม้ที่อยู่ในกำมือของพระพุทธเจ้าแล้วบอกว่า นั่นคือสิ่งที่ถูกเพียงอย่างเดียว งั้นก็จะเป็นมุมมองที่ค่อนข้างแคบไป
เพราะพระองค์เองก็ตรัสว่า ความรู้เหมือนใบไม้ทั้งป่า จะหยิบเอามาสอนแค่สิ่งที่สำคัญลัดสั้นแล้วก็ตรง แต่คงไม่เป็นเรื่องผิดถ้าจะใช้แนวทางอื่น เพื่อให้สุดท้ายก็เชื่อมโยงมาถึงอริยสัจ 4
เราเองควรจะต้องมีความใจกว้าง ในการที่จะเรียนรู้หลากหลายมุมมองเกี่ยวกับธรรมะ เพราะถ้าเรายึดรูปแบบใดอย่างใดอย่างหนึ่งไว้ แล้วบอกว่าถูกที่สุด ส่วนวิธีการรูปแบบอื่นๆ ผิดหมด ตัวเราเองก็สร้างทัศนคติในเชิงลบหรืออกุศลให้แก่ตัวเอง
อันนั้นผู้เป็นนักปฏิบัติควรที่จะต้องใจกว้าง ยอมรับฟังถึงวิธีการปฏิบัติต่างสำนัก ต่างครูบาอาจารย์ แล้วก็น้อมเอามาพิจารณาว่า เหมาะกับเราหรือไม่ ถ้าไม่เหมาะก็เดินจากไป แต่ถ้าใช่ก็ลองศึกษาดูปฏิบัติดู เพียงเท่านี้ ปฏิกิริยาที่มักเกิดกับนักปฏิบัติอยู่เสมอว่าสำนักนั้นใช่ หลวงพ่อนี้ผิด หลวงพ่อนั้นถูกก็จะหมดไป
อย่างแนวทางที่ผมแนะนำเสมอทุกครั้งที่ไปบรรยายตามองค์กรก็คือการฝึกกรรมฐานเงียบ หมายความว่าในการใช้ชีวิตปัจจุบัน ขณะขับรถก็ดี ทำงานก็ดี นั่ง,ยืน,นอนเดินทำกิจใดๆ ก็ดี ให้ทำด้วยความเงียบ เปิดประตูเบาๆ ปิดประตูเบาๆ เดินเบาๆ วางสิ่งของเบาๆ ไม่ให้มีเสียงเลย นี่เรียกว่ากรรมฐานเงียบ
เพราะในขณะที่เราพยายามทำอะไรโดยเงียบๆ นั่น แปลว่าเรามีสติอยู่กับตัวอยู่ตลอดเวลา เราถึงวางสิ่งของหรือเดินหรือทำอะไรเงียบๆ ได้ เมื่อเราฝึกแบบนี้บ่อยๆ เมื่อถึงเวลาเราไปนั่งสมาธิภาวนา ความสงบก็จะปรากฏได้เร็ว เพราะเราฝึกปฏิบัติอยู่ตลอดเวลาในการเคลื่อนไหว ที่สำคัญเราก็จะไม่จมอยู่กับอารมณ์ของสมาธิหรือที่เรียกว่ากรรมฐานนั้น
จะฝึกรูปแบบใดสำนักไหนก็ตาม แต่สิ่งที่สำคัญในขณะที่ฝึกปฏิบัตินั้น เราต้องไม่เครียด เราต้องไม่มีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ต่อการปฏิบัตินั้น และทุกสรรพสิ่งจะปรากฏในใจของเราเอง