กรรมที่พระพุทธเจ้าสอน

28 ส.ค. 2567 | 22:30 น.

กรรมที่พระพุทธเจ้าสอน คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

คำว่า "กรรม" เป็นคำกลางๆ และแปลว่า การกระทำ เมื่อใส่คำว่า ดี หรือ กุศล และ ชั่ว หรือ อกุศล ความหมายของคำว่า กรรม นั้นย่อมแตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง

พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาพัฒนาตนเอง ทั้งด้านพฤติกรรมการกระทำ และ จิตใจ ซึ่งจะแตกต่างจากคำว่า ปรัชญา

เพราะปรัชญาทั้งหลาย จะมีคำว่า แต่ และ หรืออยู่เสมอในการเชื่อมประโยค แต่สำหรับธรรมะ คำสอนของพระพุทธเจ้า จะตรงไม่มีการเบี่ยงเลี่ยงด้วยรูปภาษาแต่อย่างใด

การพัฒนาศักยภาพด้านกายพุทธศาสนาเน้นที่สีล หรือเขียนว่า ศีล ก็ได้ ส่วนการพัฒนาทางจิตใจ ให้เน้นด้านการภาวนา

ทางกายก็สร้างกุศลกรรมได้ ทางใจก็สร้างกุศลกรรมได้ ทีนี้การภาวนามีหลากหลายลักษณะ

แรกเริ่มบางคนจะผ่านสมถะก่อนแล้วไปสู่สายปัญญา บางคนเริ่มจากสายปัญญาก่อนแล้วไปสมถะ

บางคนมาพร้อมกันทั้งสมถะและปัญญา และบางคนก็ไม่มีทั้งสองอยู่เลย (น้อยคนนักที่เป็น)

สมัยที่คลานเข่าอุปัฏฐากพระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ)​ เป็นบางครั้งบางคราวในสำนักสงฆ์จิตรลดา ดุสิต กรุงเทพฯ หลวงปู่ท่านเคยปรารภว่า

เวลาเขารวมตัวจนละเอียดแล้ว ก็ดูในความละเอียดนั้น อย่าไปยุ่งอย่างอื่น เดี๋ยวกรรมฐานเขาแตกเด้
กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมจะปรากฏเอง ไปบังคับให้เกิดให้มีให้เป็นไม่ได้
เมื่อเขาปรากฏขึ้นจนแจ่มชัดทีนี้เราจะเข้าถึงขันธ์ห้า คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั่นแหละจะเข้าถึงการเปลี่ยนแปลงกรรมในปัจจุบันได้อย่างชัดเจน

คำว่า กรรม ที่หลวงปู่ท่านพูดถึงนี้ ไม่ใช่กรรมจากอดีตชาติ แต่ทว่า เป็นกรรมใหม่สดๆ ในปัจจุบัน หรืออาจจะใช้คำว่า "พฤติกรรม" ก็ได้

การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม คือ การพัฒนาศักยภาพตามหลักพุทธศาสนา แต่ผู้คนโดยมากมุ่งหมายแต่กรรมเก่าจากอดีตชาติอย่างเดียว

การเชื่อว่าทุกๆ อย่างเกิดจากกรรมเก่า ไม่ใช่คำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นคำสอนของเดียรถีย์ ในลักษณะปุพเพกตเหตุวาท คือ สุขทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น และไม่สุขไม่ทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น ล้วนแล้วมาจากกรรมเก่า อันนี้เป็นการสอนของเดียรถีย์และผิดหลักพุทธศาสนาอย่างมาก

ดังนั้น ควรเข้าใจกรรมให้รอบด้าน แม้กระทั้งใครที่นิยมกล่าวว่า "โลกนี้ไม่มีคำว่าบังเอิญ" เพราะเข้าใจเอาว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเพราะกรรมเคยทำร่วมกันไว้ หรือเป็นเพราะกรรมเก่าก็ต้องพิจารณาให้ดี เพราะเสี่ยงต่อการเป็นคำสอนของเดียรถีย์มากกว่าของพระพุทธเจ้า

ธรรมะของพระพุทธเจ้า มีความลึกซึ้ง นุ่มลึก และหลายมิติ เวลาที่ศึกษาธรรมะอย่ามองเพียงแค่ด้านเดียว เพราะจะทำให้เราเข้าใจแค่เพียงส่วนเดียว