ตำนานอาถรรพ์บ้านพิษณุโลก "คนการเมืองอยู่ไม่รอดสักราย"

18 ก.ย. 2567 | 22:30 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 00:12 น.

ตำนานอาถรรพ์บ้านพิษณุโลก "คนการเมืองอยู่ไม่รอดสักราย" คอลัมน์ คนมากับดวง โดย ราชรามัญ

ตำนานบ้านพิษณุโลก เราต่างทราบดีว่า เดิมชื่อ บ้านบรรทมสินธุ์ ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 6

ทรงสร้างและพระราชทานให้พระยาอนิรุทธเทวา ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นบ้านพิษณุโลก เป็นบ้านพักรับรองของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ดูเหมือนไม่มีนายกท่านใดมาพำนักเป็นเรื่องเป็นราว จริงจัง เห็นมีนายกฯชวนมาพำนักระยะหนึ่งช่วงดำรงตำแหน่งสมัยที่2เพราะว่าบ้านในซอยหมอเหล็งซ่อมแซม

บ้านพิษณุโลก ไม่มีผีร้ายใดๆ ไม่มีวิญญาณอันใดตามที่เขาร่ำลือ คงจะมีก็แต่แค่อสูร และมีอยู่จริงแท้ด้วยตั้งแต่สมัยสร้างเสร็จใหม่ๆ  อสูรตนนี้เกลียดคนหลอกลวง เกลียดคนขายชาติขายแผ่นดิน ทุจริตคอร์รัปชัน เป็นอสูรตนเดียวกับที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ ที่วังพญาไท เป็นต้น

อสูรตนนี้เป็นสัมมาทิฏฐิ นามว่า หิรัญ เป็นอสูรป่าแห่งเมืองลพบุรี มาเข้าพระสุบินในหลวงรัชกาลที่ 6 เมื่อรศ.126 ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้ขึ้นครองราชย์ ในฝันนั้นอสูรบอกว่าจะอยู่ดูแลพระองค์ไปในทุกที่ทุกสถาน วันรุ่งจึงตั้งเครื่องเซ่นให้

ที่บ้านพิษณุโลก มีอสูรหิรัญ ที่หล่อขึ้นแล้วทรงพระราชทานให้มาประดิษฐานหนึ่งองค์ ใครที่คิดการใดทำอะไรไม่ดี จะปรากฏให้เห็นเรื่องแปลกๆ ต่างๆ นานา

แปลกแต่จริง ฝ่ายการเมือง โดยเฉพาะพวกทีมงาน, คณะทำงานของนายกรัฐมนตรี, ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ยุคสมัยอดีตหลายคณะมีอันเป็นไปกันมากมาย ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นเหตุกันแน่

อย่างในยุคน้าชาติฯ ทีมที่ปรึกษา คณะทำงานหลายคนที่ทำงานที่นี่ ตั้งวอร์รูมได้ไม่นานเท่าไหร่ รัฐบาลชาติชายก็โดนปฏิวัติ 

ในยุครัฐบาลไทยรักไทย ก็เคยใช้ที่นี่เป็นวอร์รูมแต่อยู่ได้ไม่นานเท่าไหร่ ก็โดนปฏิวัติเช่นเดียวกัน ครั้นถึงนายกฯเศรษฐา เพิ่งจะเริ่มๆ แง้มประตูบ้านพิษณุโลก ก็ต้องไปไม่ลา มาไม่ไหว้ในวิถีการเมือง วันนี้นายกแพรทองธาร ได้จัดเต็มคณะทำงาน คณะที่ปรึกษา นำทีมโดย พันศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานคณะที่ปรึกษานโยบายนายกรัฐมนตรี ก็ใช้บ้านพิษณุโลกเป็นวอร์รูมในการทำงานอีกครั้ง

จะเป็นไปได้ไหมที่ อสูรหิรัญ (ฮู)​ ไม่ชอบกลุ่มคนทำงานทางการเมืองมาวุ่นวายในบ้านหลังนี้ เพราะการวางแผนงานต่างๆบรรดาเหล่ามนุษย์อาจมองไม่เห็นผู้มีจิตทิพย์ทั้งหลาย กำลังเฝ้าดูเฝ้ารู้เฝ้าฟัง แผนการบางอย่างคาบลูกคาบดอกแต่ไม่เป็นคุณต่อแผ่นดินเท่าไหร่ก็อาจเป็นเหตุให้เกิดการณ์ต่างๆ มากมาย 

เรื่องนอกเหตุเหนือผล มนุษย์ที่หลงใหลในวิทยาศาสตร์มักปฏิเสธเสมอ แล้วก็ต้องเจอดีเป็นรายๆ ไป  บางครั้งเรื่องความอาถรรพ์ก็ยากที่จะปฏิเสธเช่นเดียวกัน