เกาเหลาสมองหมู มันมีดีอยู่ที่พริกตำ
เจ้าทำเกาเหลาสมองหมู มีอยู่เด่นๆสองเจ้าของท่านผู้เฒ่าเชลล์ชวนชิม และอีกเจ้าของท่านผู้ยังมิเฒ่า เปิบพิศดารแนะนำท่านผู้อ่านเอาไว้ในบรรณพิภพ
เปนคำแนะนำคำนิยมมาแต่เก่าเเก่กาเลร่วมสี่ห้าสิบปีเห็นจะได้ ร้านรวงดังกล่าวๆเปิดกันในย่านเมืองเก่า อย่างตรงบ้านหม้อ (วังหน้าพวกกุญชร) ตรงนางเลิ้ง (วังเก่าพวกไชยา) ตั้งหม้ออย่างว่าทองเหลืองต้มน้ำซุปไขกระดูกเผ็ดพริกไทยหนักเเน่น
ใครไปกินราเม็งเมืองนอกนิยมกันนักว่าเคี่ยวน้ำซุปขาวๆทงคัสสุราเม็ง ปั้ดโถ่ เมืองไทยมีมานานเก ทว่าขาวด้วยมันสมองในกระโหลกหมูหล่นลงมา ให้รสชาติหนักๆแต่ว่านวลเนียล
อันว่าสมองหมูหรือจะสมองอะไรใครมันก็ย่อมมีไขมันเปนองค์ประกอบส่วนมาก อันความมันชนิดนี้ไม่เหมือนมันเปลวที่ท้องหมู ไม่เหมือนมันวัวที่แทรกไขในเนื้อสันสีแดงโร่ มันเปนความมันเฉพาะส่วน มันอย่างรุ่มรวยและมีบุคลิก เขียนเล่าในตอนก่อนๆเพื่อบรรณาการท่านผู้อ่านไว้แล้วชื่อว่า ไขโพรงกระดูกย่าง กับ Tax collector ท่านนักชิมทั่วไปก็อาจจะสยองๆกับสมองหมูอยู่บ้าง แต่จริงแล้วมีโอกาสโดยเฉพาะอากาศหนาวๆอย่างนี้ มีเหตุให้ออกไปลองชิมซดโฮกดูสักชาม
เจ้าภาพเขาเอาเครื่องในล้างสะอาดซับแห้งเปนดิบดี มีกระเพาะ มีตับ มีเหงือกหมู ลูกชิ้นปลา ลูกชิ้นเต้าหู้ใส่ชามเกาเหลาเอามาเปนองค์ประกอบความอร่อย ประดาร้านเกาเหลาในสกุลจีนแคะฮากกานี้ ทำดีทำเด็ดนักเรื่องวิชาเต้าหู้ เนื้อเต้าหู้เนียนๆดีมีรสฝาดมันแต่ไม่ขื่น เคี้ยวได้เคี้ยวไม่ละลายเละหายไปยามคีบ ที่สำคัญต้องได้กลิ่นเขียวๆของถั่วเหลืองสดโชยมานิดๆก่อนจะทับหน้าด้วยต้นหอมหั่น ตะหวักพริกเขียวตำเกลือหมักน้ำส้มสายชูใส่ไปนิด ปิดท้ายด้วยลูกชิ้นเผือกกรอบ เอาเผือกขูดฝอยทอดปรุงรสเปนแพๆใส่มา
ไอ้ประดาพริกน้ำส้มเขียวตำนี่ล่ะครับตัวพระเอกชูรสชูโรงของชามเกาเหลาสมองหมู ถ้าร้านไหนไม่มีใส่ละก็เปนอันขาดกัน คือบอกลาเลิกกินกันไปได้เลย เพราะความอุดมรสมันในเกาเหลาและน้ำซุปนั่นมันไม่มีรสเผ็ดสุขุมร้อนเปรี้ยวมาตัดรส มันจะเลี่ยนโอ่เผ็ดร้อนเฉยๆทื่อๆไม่แหลมคม
อันว่าพริกตำนี่เขามีวางโถไว้ให้ เชิญท่านได้ตักพริกตำนี้โรยหน้าข้าวสวยร้อนๆ ก่อนจะประจงคีบมันสมองหมูใส่ปาก มันจะเข้ากันพอดิบพอดีเปนปี่ขลุ่ย
ถ้าร้านตรงนางเลิ้งนี้ คุณผู้อ่านเรียกหากุนเชียงย่างมาแนมข้าว หรือหมูแดงย่างมาแนมคำ ก็รับประกันความอิ่มเอมในมื้อนั้นไปจนข้ามวันเลยทีเดียว
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,849 วันที่ 1- 4 มกราคม พ.ศ. 2566