จีบขาวขาวโอชา

28 เม.ย. 2566 | 23:05 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2566 | 12:17 น.

จีบขาวขาวโอชา คอลัมน์อิ่ม_โอชาฯ โดย Joie de La Cuisine

เมื่อครั้งยังวัยรุ่นไปเยี่ยมเมืองตรัง ท่านเจ้าถิ่นกรุณาพาไปรับรองร้านหมูย่างติ่มซำมื้อเช้า โอ้โฮ มันช่างน่าตะลึงตะลานกับความอลังการงานสร้าง จานของนึ่งของทอดวางในถาดให้เลือกหยิบลงโต๊ะกันอย่างไม่อั้น ไหนจะขนมข้าวต้มข้าวเหนียว หมูย่าง น้ำแกง ซาลาเปา หยิบจับมาแล้วไม่กินไม่ว่า คืนได้ใช้นับเฉพาะถาดที่กินเวลาคิดเงิน
 
ในความเยาว์ มันจะมีความเขลา ปนความทึ่ง เผลอเอ่ยปากไปว่าคนตรังกินมื้อใหญ่กันแต่เช้าเลยนะครับนี่ ท่านเจ้าภาพจึงเอ่ยคำขำชวนหัวเราะ ว่าอะไรกันเช้า?
 
พวกผมตื่นตีสองกรีดยาง นี่โมงครึ่ง มันมื้อเที่ยงตะหาก!?!  นี่ล่ะครับเขาถึงว่า ฉันเยาว์ ฉันเขลา ฉันทึ่ง ฉันจึงมาหาความหมาย 55 ตามกวีวิทยากรท่านว่าไว้จริงแท้ทีเดียว 

ร้านอาหารเช้าเมืองตรังที่ว่าเปนตำนานผ่านกาลเวลามีรุ่งเรืองประสมร่วงโรยไปตามกาลสมัย บางร้านคิวเคยยาวกลายเปนหมดเวลารุ่งเรือง แต่ว่าร้านที่ต้องยกให้ว่ารสชาติยังดั้งเดิมอยู่ยืนยงคือร้านขาวสองร้านหนึ่งคือ ‘ร้านจีบขาว’ อีกหนึ่ง คือ ‘ร้านขาวโอชา’
 
ร้านจีบขาวขายขนมจีบขาว ซึ่งที่จริงก็คือ ฮะเก๋า มันเปนไส้กุ้ง ส่วนไส้หมูใบห่อแป้งสีเหลือง เขาก็เรียกจีบเหลือง กินกับ “ส้มเจื๊อง” น้ำจิ้มสีแดงอมเปรี้ยวอมหวาน ซึ่งใช้หัวมันต้มบดละเอียดใส่น้ำตาลเคี่ยว ใส่เปรี้ยวมะขามหมักบ่ม หอมนวลรสชื่น ที่ร้านจีบขาว แป้งขาวเขาทำเองนวดเองหนานิดแต่ใส เปนเจ้าสุดท้ายล่ะกระมังที่ยังทำสูตรดั้งเดิมอย่างนี้ จานเด่นๆของเขา
 
นอกจากจีบขาวก็คือของยัดไส้ เช่น มะระ พริกหยวก เต้าหู้ เอาไปนึ่ง ขนมสีขาวอย่างปาท่องโก๋(จริงๆ) ที่คนเราเรียกสลับกับอิ่วจาก้วย ยังหากินได้ที่นี่แต่หมดเร็วหน่อย

ส่วนที่ร้านขาวโอชา จะเด่นเรื่องซาลาเปามากกว่า ใช้แป้งหนาหนักมาทำกินอร่อยคล่องปากไม่ติดในคอ ซาลาเปาหมูสับร้านขาวใช้หมูสะโพกและสันคอปนเนื้อแดงลงไปด้วย รสสัมผัสจึงแตกต่างจากเจ้าอื่นๆ ส่วนไส้หวานที่เราเรียกกันว่าครีมนั้นแท้จริงคือสังขยา รสดีมากเช่นกัน ถ้าไม่ชอบก็ต้องเรียนว่าไส้ถั่วดำยังพอมี (อนึ่งว่าคนตรังแท้ๆแต่โบราณชอบปอกเปลือกซาลาเปาก่อนกิน เลาะเอาผิวข้างนอกออกซะก่อน จนถึงแป้งซุยๆค่อยเอาเข้าปาก อาจติดมาจากยุคเดิมก่อนโควิดที่ของนึ่งหยิบจับมาแล้วไม่กินไม่ว่า_คืนได้ ดังได้กล่าวแล้ว เลยระแวงซาลาเปามือสอง 55 )
 
ร้านสองขาวนี้นอกจากติ่มซำแล้วยังบริการก๋วยเตี๋ยวหมี่ฮุ้น หมี่ซั่ว น้ำซุปมีหมดทั้ง ปลา หมู ปู ไก่ ข้าวแกงใต้ ข้าวต้มแลหมูย่างด้วย ส่วนอันว่าหมูย่างเมืองตรังนี้ เจ้าถิ่นว่าแต่เดิมทีใช้หมูบ้านตัวโตมันย่องกินนุ่มปาก ต่อมาวัฒนธรรมสุขภาพมาเยือนจึงพลิกแพลงไปใช้หมูฟาร์มตัวย่อมมันน้อย


 
ถ้าจะว่าการกินแบบเก่าเอาหมูพลุ้ยๆ ท่านว่าต้องไปถามที่ร้าน ‘โกหลั่น’ สั่งล่วงหน้าสักสองวันจะคัดหาหมูบ้านดีๆมาพอทำให้ได้ ไม่งั้นลองคุย ‘โกเภา’ เจ้าดังในตลาด
 
หมูย่างเมืองตรังอันหวานหอมนี้ที่กรุงเทพจะมั่วๆไปนิดไม่ถูกต้องตามตำรับเก่า แลไปจะคล้ายหมูกรอบธรรมดาเข้าไปทุกที ของแท้ทางนี้เขาต้องเอามีดกรีดๆๆหมู แล้วทาเครื่องหมักเข้าน้ำตาลให้ซึมซาบเข้าไปถึงเนื้อในก่อนจะเอาไปย่างตามกรรมวิธี จะให้ดีต้องหากินเนื้อขาหน้ามาแกล้มกาแฟโบราณขมๆมันๆ ถ้าซื้อมาแล้วเหลือเยอะโดยเฉพาะส่วนติดสามชั้นมันย่อง ท่านให้เอาพริกเหลืองกระเทียมจีนโขลกเข้าตั้งน้ำมันทำผัดใบกะเพรารสจัดๆกินก็ได้หายเบื่อชะงัดดีนักเเล

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,883 วันที่ 30 เมษายน - 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2566