ขาหมูอร่อยๆเมืองไทยนั้นท่านให้แยกเปนขาหมูสไตล์หวาน กับขาหมูสไตล์เค็ม ส่วนจะตี matrix ออกไปอีกว่าขาหมูนั่นกินแบบเคี้ยวหนึกหนุบ หรือว่ากินแบบละลายในปาก ก็แตกกระจายความละเอียดอ่อนในยุทธจักรขาหมูออกไปอีก
‘ขาหมูนางรอง’ ‘ขาหมูมะพร้าวอ่อน’ ‘ขาหมูปากพลี’ ‘ขาหมูภูเก็ต(แต่ขายอยู่เชียงใหม่)’ ‘ขาหมูเชียงดาว’ ล้วนมีสไตล์เปนของตนเองผิดแผกแตกต่างกันไป ‘ขาหมูเจริญแสงสีลม’ ละลายในปาก เจือหวาน ‘ขาหมูศูนย์จตุจักร’ ละลายเหมือนกัน เเต่เจือเค็ม
‘ขาหมูประชาชื่น’ รสคม ขาหมูร้านข้าวต้มอย่างว่า ‘เชี่ยวชาญพานิช เทเวศร์’ เคี้ยวหนับๆอร่อยปากเอร็ดฟัน เนื้อ_หนัง_คากิ เปนชิ้นเนื้อขั้นพื้นฐาน สำหรับผู้หาญกล้าจะประกอบกิจการนำเสนอเมนูขาหมู เครื่องในอย่างว่าไส้ จึงเปนขั้นแอดวานซ์เพราะมันทำยาก!
คนลูกค้ากินนุ่มเนื้อบำเรอๆปาก อีกคนต่างหากกินนวลหนังบำเรอๆฟัน คนกินหยุ่นคากิ บำเรอลิ้น ค่าที่สัมผัสเสพแต่ละชิ้น cut เนื้อให้ความวิเศษโอชาไม่เท่ากัน แตกต่างความนิยมออกไปดังนี้
เบอร์ใหญ่ชนิดอย่างเศรษฐีไหหลำ ไม่รับกับขาหมูชนิดเจือรสหวาน ท่านแนะว่าควรสาวกของขาหมูสไตล์เค็ม ให้แวะไปที่ศูนย์จตุจักรในปั้ม ปตท. ตรงข้าม บขส. หมอชิตใหม่ เขาให้บริการขาหมูรสเค็มที่ถูกต้อง บางท่านแวะไปแล้วติว่าไม่อร่อย ด้วยคืบเอาแต่ชิ้นหมูรับประทาน เหลือน้ำราดนองกันจานขาหมู_ อย่างนี้ท่านนับว่ากินผิดสไตล์ ลองใหม่ๆ โดยรับประทานพร้อมๆกันไป ข้าวคำน้ำตุ๋นขาหมูนั้นอีกคำพร้อมเนื้อ จึงจะพบนิยามที่สอดประสานกันบนความถูกต้องเอร็ดอร่อยปากด้วยโอชะนั้นมีฐานอยู่ในน้ำตุ๋นที่ดึงรสชาติ
ออกจากเนื้อหมูมาปรนเครื่องรสเครื่องเทศรอไว้ รับประทานกับข้าวร่วนเมล็ดตึง และพริกตำดองน้ำส้ม กระเทียมไทยปอกเปลือก พริกขี้หนูเขียวหอมฉุน_เคล้าผักกาดเขียวดอง อร่อยหนักหนา และไม่ต้องพึ่งพาคะน้าต้นคะน้าใบแต่อย่างใด
ขาหมูที่ถูกต้อง แบบที่ 2 คราวนี้เปนขาหมูรสเจือหวาน_ไม่ใช่หวานน้ำตาลทรายโจ๋งเจ๋งหรือหวานน้ำตาลมะพร้าวเอามัน แต่หวานลึกชุ่มน้ำตาลกรวดต่างหาก
ร้านขาหมูประชาชื่นใช้หมูขาหน้า (เอ้ รึว่าขาหลัง) เผาขูดทำสะอาดอย่างดี มีมันน้อยทั้งคากิก็สะอาดเกลี้ยง รสชาติคมคายลงตัวกลมกล่อมรับประทานกับข้าวเสาไห้กรากๆดี ฝ่ายแต้จิ๋ว/ไหหลำที่ไม่ชอบรสหวาน อย่ามาร้านนี้ ของดียังมีหมูทอดแห้งๆแต่ไม่ผาก มีจับไฉ่ มีหน่อไม้จีน มีไข่พะโล้
ซึ่งหากนับเนื่องในปฐพีแล้วไม่เปนรองใครใกล้ๆ สิบเอ็ดโมงก็หมด เหลือเเต่เต้าหู้พะโล้ที่คมคายไม่แพ้กันวางให้กินปลอบใจ
นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 หน้า 18 ฉบับที่ 3,889 วันที่ 21 - 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566